ReadyPlanet.com
dot
คลังข้อมูลนักบัญชี
dot
bulletมุมบัญชี
bulletสภาวิชาชีพบัญชี
bulletกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
bulletธนาคารแห่งประเทศไทย
dot
ภาษี (Tax)
dot
bulletกรมสรรพากร
bulletสถานที่ตั้ง/เบอร์โทร สรรพากร
bulletประมวลรัษฎากร
bulletหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย
bulletDownload File บัญชี - ภาษี
dot
รวม Link เอนกประสงค์
dot
bulletอัตราแลกเปลี่ยนธนาคารต่างๆ
bulletอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์
bulletธนาคารพาณิชย์ต่างๆ
bulletหน่วยบริการภาษีใน กทม.
bulletตรวจผลสลากกินแบ่งรัฐบาล
bulletพจนานุกรมไทย
bulletDictionary อังกฤษ > ไทย
bulletเบอร์โทรศัพท์ - พกไว้คู่กาย
bulletรวมเบอร์โทรเรียก แท็กซี่
bulletชมคลิปวีดีโอ เมืองไทยในอดีต
dot
ค้นหาบทความในเว็บไซต์

dot
dot
บริการของเรา (Service)
dot


รับทำบัญชี



Thai Brand [ 1-10 ]

 

                   Thai Brand [ 1-10 ]

ธนาธร...ต้นแบบส้มติดแบรนด์
ปุ้มปุ้ย-ปลายิ้ม
มิตรผล ทุกเกล็ดคือคุณภาพ
ลูกผู้ชายตัวจริง...กระทิงแดง
คาราบาวแดง...นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่
Double A เมื่อกระดาษสร้างแบรนด์
แบล็คแคนยอน กาแฟไทยสไตล์คาวบอย
ซีอิ๊วขาว ตราเด็กสมบูรณ์
M150 ใจเกินร้อย
อากิโกะ แบรนด์ไทยสไตล์ญี่ปุ่น

 

ธนาธร...ต้นแบบส้มติดแบรนด์

      

หากเป็นคนซื้อผลไม้ทั่วๆ ไป การเห็น "แอปเปิ้ลสติกเกอร์" วางขายอยู่ในตลาดเมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว อย่างมากก็คงนึกถึงแค่คุณภาพ รสชาติ ต้นกำเนิดที่อาจจะแตกต่างจากแอปเปิ้ลอื่นๆ เพียงเท่านั้น แต่สำหรับบัณฑูร จิระวัฒนากูล เจ้าของบริษัทเชียงใหม่ธนาธร นั่นกลับเป็นแรงบันดาลใจครั้งยิ่งใหญ่ในการพลิกโฉมหน้าแวดวงธุรกิจค้าส้มในเมืองไทยที่ไม่มีวันกลับไปเหมือนเดิมอีกต่อไป !

ด้วยประสบการณ์ในการทำสวนส้มมาตั้งแต่ปี 2519 รวมทั้งเป็นผู้นำส้มสายพันธุ์ใหม่จากสิงคโปร์มาทดลองปลูก กระทั่งได้ผลผลิตและรสชาติดีจนกระทั่งเป็นที่มาของชื่อ "ส้มสายน้ำผึ้ง" ในปัจจุบัน คุณบัณฑูร ยังเป็นผู้ประกอบการสวนส้มเจ้าแรกสุดที่ริเริ่มการแวกซ์ส้มให้เงางาม ล่อตาล่อใจผู้ซื้อ ซึ่งได้คอนเซ็ปต์สำคัญมาจากแอปเปิ้ลนำเข้าจากต่างประเทศ ตามมาด้วยการติดสติกเกอร์และติดแบรนด์ "ธนาธร" เพื่อสร้างความแตกต่างจากส้มของสวนอื่นๆ อย่างเป็นเรื่องเป็นราวในปี 2535

รสชาติส้มสายน้ำผึ้งที่สร้างความโดดเด่นและแตกต่าง การแวกซ์ ประกอบกับการติดสติกเกอร์ "ธนาธร" ยังอาศัยประสบการณ์ที่ได้เดินทางไปดูงานต่างประเทศ กลับมาพัฒนาแพ็กเกจจิ้งบรรจุส้มเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่มากขึ้น

ส้มธนาธรเกรดเอบรรจุในกล่องสวยงาม จึงสามารถขายได้ราคาสูงกว่าส้มตามท้องตลาดทั่วไปถึง 30-40% ด้วยความที่ขายได้ราคาดีดังกล่าว จึงเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการสวนส้มอื่นๆ ตบเท้าตามรอย "ธนาธร" กันเป็นทิวแถว พร้อมๆ กับเกิดแบรนด์ของบรรดาส้มสวนต่างๆ

หากถามถึงแบรนด์ของส้มที่อยู่ในใจผู้บริโภคแล้ว เชื่อแน่ได้ว่า "ธนาธร" ยังคงเป็นชื่อที่ผู้บริโภคส้มระดับเกรดเอต่างนึกถึงและถามหามากที่สุด แม้ในยามที่มีส้มผ่านการแวกซ์ ติดสติกเกอร์เกลื่อนตลาด


--------------------------------------------------------------


ปุ้มปุ้ย-ปลายิ้ม  

     

"ปุ้มปุ้ย-ปลายิ้ม" ปลากระป๋องที่อยู่คู่สังคมไทยมากว่า 25 ปี และติด 1 ใน 10 แบรนด์ไทยของหนังสือซูเปอร์แบรนด์เอเชีย ถือกำเนิดขึ้นจากแนวคิดของ สุรินทร์ โตทับเที่ยง ประธานกรรมการบริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) ชาว จ.ตรัง ที่ดึงข้อได้เปรียบตามหลัก Logistics คือการนำปลาสดๆ จากแหล่งที่จับได้เข้าสู่โรงงานในพื้นที่เพื่อผลิตเป็นอาหารสำเร็จรูป

ปุ้มปุ้ย ยังเป็นผู้นำด้านการแตกไลน์รสชาติในตลาดปลากระป๋อง หลังบุกเบิกตลาดด้วย "ปลาในซอสมะเขือเทศ" เพียงรสชาติเดียวในปี 2520 ต่อมาในปี 2525 ปุ้มปุ้ยก็แนะนำสินค้าใหม่คือ "ปลาราดพริก" ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคพอสมควร แตกต่างจากการสร้างความแปลกใหม่ด้วยการออก "ปลาซาร์ดีนในน้ำมะขาม" ในปี 2543 อย่างสิ้นเชิง ที่เริ่มแรกดูเหมือนจะไปได้ดี แต่สุดท้ายปุ้มปุ้ยก็ยอมพับเสื่อเลิกผลิตรสชาติดังกล่าว

ปี 2531 ปุ้มปุ้ยเริ่มหันไปเล่นตลาดอื่นคือการเปิดตัวสินค้าใหม่ที่ไม่ใช้วัตถุดิบจากปลา คือการเปิดตัว "หอยลายกระป๋อง" ตามมาด้วยเปิดตัว "แกงเขียวหวานปลาซาร์ดีนทอด" ในปี 2546 ด้วยการชูความเป็นผู้นำของการบุกเบิกรสชาติใหม่ๆ รวมทั้งชูจุดเด่นในฐานะอาหารที่ผลิตโดยคนไทย ย่อมจะเข้าใจรสชาติที่ถูกปากคนไทยมากกว่าแบรนด์คู่แข่งจากต่างชาติมากกว่า

ความเคลื่อนไหวล่าสุดเมื่อปี 2547 ที่ผ่านมาสดๆ ร้อนๆ ปุ้มปุ้ยหันมาทำการตลาดอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น โดยหันไปทำการตลาดแบบ Below the Line ภายใต้แนวคิดการสร้างประสบการณ์ร่วมหรือ CRM (Customer Experience Management) เพื่อสร้างแบรนด์ให้ดูทันสมัยขึ้น สร้าง Brand Loyalty ในระยะยาว หวังเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ นำเสนอจุดแข็งคือคุณภาพ และความหลากหลายของรสชาติ

ปัจจุบันปุ้มปุ้ย มีนโยบายออกผลิตภัณฑ์ใหม่ปีละประมาณ 2 ชนิด แบ่งเป็นกลุ่มอาหาร 1 ชนิด และกลุ่มสแน็ก 1 ชนิด ไปพร้อมๆ กับเล็งขยายฐานไปยังกลุ่มอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบัน"ปลายิ้ม" ยังครองความเป็นผู้นำในตลาดอาหารกระป๋องปรุงรสสูงถึง 95% แต่ "ปุ้มปุ้ย" ยังคงต้องทำงานหนักในส่วนตลาดปลาซาร์ดีนราดซอส เพราะยังเป็นรองคู่แข่ง "สามแม่ครัว" และ "โรซ่า" ด้วยส่วนแบ่งการตลาดเพียง 10%


--------------------------------------------------------------
มิตรผล ทุกเกล็ดคือคุณภาพ

      

จากสินค้า Commodity ชั่ง ตวง วัด ธรรมดา "มิตรผล" คือผู้นำระดับแถวหน้าที่พัฒนาให้น้ำตาลกลายเป็นสินค้าที่มี Value Added รวมทั้งเป็นผู้นำในการสร้าง Brand Awareness ให้น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ กลายเป็นน้ำตาลระดับพรีเมียม ที่แตกต่างจากน้ำตาลทรายขาวธรรมดาที่ผู้บริโภคนิยมมากกว่าอย่างชัดเจน

เส้นทางการทำตลาดมิตรผลเริ่มจากแนวคิดที่แตกต่าง อันสืบเนื่องมาจากข้อจำกัดของโควตาการจัดจำหน่ายน้ำตาลในประเทศ หรือ "โควตา ก." ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดการขาดแคลนน้ำตาลภายในประเทศ แต่เนื่องจากเป็นบริษัทใหญ่ การจำกัดปริมาณการขายตามโควตาดังกล่าว ทำให้มีน้ำตาลเหลือในคลังจำนวนมาก กระทั่งกลายเป็นแรงกดดันให้โรงงานน้ำตาลแข่งขันกันเองด้วยการถล่มลดราคาเพื่อระบายสินค้าในโควตา ก.ออกไปให้ได้ในจำนวนมากที่สุด

แต่ผู้บริหารมิตรผลกลับเปลี่ยนเกมการเล่น แทนที่จะมุ่งลดราคาแข่งกับโรงงานอื่น กลับตัดสินใจหันมาเจาะตลาดน้ำตาลคุณภาพและมาตรฐานสูง เริ่มจากทุ่มงบโฆษณาผ่านทุกสื่อ นำเสนอหนังโฆษณาเพื่อสร้าง Awareness น้ำตาลคุณภาพต่อผู้บริโภค ด้วยการสื่อให้เห็นถึงความพิถีพิถันของขั้นตอนการผลิต เริ่มตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบชั้นดีจากไร่อ้อย จนถึงกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานจนออกมาเป็นน้ำตาลคุณภาพ ตามมาด้วยการส่งสินค้าที่มีความหลากหลายออกสู่ตลาด โดยเน้นย้ำความแตกต่างว่า "น้ำตาลมิตรผล ทุกเกล็ดคือคุณภาพ" พร้อมการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์น้ำตาลจากการขายแบบถุงชั่งขายกันเป็นกิโล เปลี่ยนเป็นแบบซองยาว และเพิ่มเซ็กเม้นต์ตลาดน้ำตาลให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลกรวด, น้ำตาลทรายแดง, น้ำตาลกลิ่นมะพร้าวน้ำหอม,น้ำตาลสมุนไพรชาใบหม่อน, น้ำตาลแร่ธาตุ, น้ำตาลสีสันอัญมณี เป็นต้น

ปัจจุบันมิตรผลคือผู้นำในตลาดน้ำตาล ด้วยส่วนแบ่งในตลาดน้ำตาลพรีเมียมถึง 80-90% และครองส่วนแบ่งการตลาดในตลาดผู้บริโภค Retail Packing ประมาณ 60-70%


--------------------------------------------------------------

ลูกผู้ชายตัวจริง...กระทิงแดง

    

กระทิงแดงนั้นถือกำเนิดขึ้นในปี 2524 ภายใต้การบริหารของ เฉลียว อยู่วิทยา ในนาม หจก.ที.ซี. ฟาร์มาซูคอล ซึ่งเห็นช่องว่างที่ห่างกันมากระหว่าง ลิโพวิตัน-ดี สินค้าจากญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้นำตลาดในขณะนั้น กับ ป๊อปปิ้นดี สินค้าของไทย

สิ่งที่ทำให้ กระทิงแดง เครื่องดื่มชูกำลัง ขนาด 150 ซีซี ที่ใช้เครื่องหมายการค้ารูปกระทิงแดงคู่ และสโลแกน "กระทิงแดง...ซู่ซ่า" เบียดยี่ห้ออื่นๆ ขึ้นมาได้ คือ รสชาติที่แตกต่างจากยี่ห้ออื่นที่ส่วนใหญ่รสชาติคล้ายยา ประกอบสโลแกนติดปากและสื่อความหมายได้ชัดเจน

ต่อมาในปี 2531 กระทิงแดง ได้ร่วมทุนกับ มร.ดีทริช มาเดอชิทช์ ในสัดส่วน 51:49 ภายใต้ชื่อ "เรดบูล" ซึ่งขยายธุรกิจออกไปกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ทำให้ชื่อ "เรดบูล" เป็นที่รู้จักในต่างประเทศอย่างกว้างขวางทั้งในยุโรป เอเชีย สหรัฐอเมริกา ฯลฯ

แต่สิ่งที่กระทิงแดงหลงลืมคือการทำตลาดภายในประเทศ ซึ่งกว่าจะรู้ตัวก็เสียแชมป์ให้กับ M-150 ไปเรียบร้อยแล้ว กระทิงแดงเพิ่งกลับมาทำตลาดอย่างจริงจังด้วยการทุ่มงบการตลาดสูงถึง 500 ล้านบาท เมื่อปี 2545 ที่ผ่านมา โดยหวัง Refresh Brand ครั้งใหญ่ ลดอายุของกลุ่มเป้าหมายให้ต่ำลงเป็นคนรุ่นใหม่อายุไม่ถึง 40 ปี ผ่านแนวคิดหลัก "ลูกผู้ชายตัวจริง...กระทิงแดง" เพื่อเปลี่ยนภาพกลุ่มเป้าหมายเดิมที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนใช้แรงงานที่มักจะถูกมองในแง่ลบให้กลายเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ชอบช่วยเหลือสังคม ตามภาพในความเข้าใจของผู้บริโภค ที่เห็นว่ากระทิงแดงเป็นแบรนด์ที่ช่วยเหลือสังคมมาโดยตลอด

รวมทั้งจัด Event ระดับ Talk of the town "คนกล้า ท้ามฤตยู" ผ่านกิจกรรมการแสดงน่าหวาดเสียว เร้าใจ ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

ควบคู่ไปกับภาพยนตร์โฆษณาสร้างกระแสให้คนในสังคมหันมาทำความดีในเรื่องใกล้ตัวที่เคยมองข้าม

ล่าสุดกระทิงแดงใช้นักแสดงที่มีชื่อเสียง พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง และเต๋า สมชาย เป็นพรีเซ็นเตอร์ในหนังโฆษณา ควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรม "มอเตอร์ เอ็กซ์" เพื่อให้เกิดการสร้าง Brand อย่างต่อเนื่องกับกลุ่มเป้าหมาย และกระตุ้นยอดขายในต่างจังหวัดต่อจากกิจกรรม "คนกล้า ท้ามฤตยู" ในปีที่ผานมา

เป้าหมายของกระทิงแดง คือ การกลับมาครองตำแหน่งแชมป์ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศให้ได้ภายใน 3 ปีนี้


--------------------------------------------------------------

คาราบาวแดง...นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่

      

แม้จะเป็นเครื่องดื่มชูกำลังน้องใหม่ที่เข้ามาชิงตลาดมูลค่ากว่า 14,000 ล้านบาท แต่โพรไฟล์ของหุ้นส่วนบริษัท คาราบาวตะวันแดง จำกัด ภายใต้การจับมือของสองผู้ถือหุ้นหลักคือแอ๊ด คาราบาว และเสถียร เศรษฐสิทธิ์ ผู้บริหารโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง ย่อมไม่ธรรมดา

ลำพังชื่อเสียงของ "แอ๊ด คาราบาว" ที่มีการสร้างแบรนด์ "คาราบาว" ต่อเนื่องมายาวนานกว่า 20 ปี ก็ช่วยให้การสร้างแบรนด์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ไม่ยาก

สิ่งที่คาราบาวแดง นำมาเป็น Core concept คือการวางภาพสินค้า "นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่" รวมทั้งดึงจุดเด่นของ แอ๊ด คาราบาว ด้วยการใช้ Music Marketing ในหนังโฆษณาเป็นหัวหอกในการรุกตลาด เช่นเดียวกับที่เบียร์ช้างเคยประสบความสำเร็จในการใช้แอ๊ด คาราบาวเป็นพรีเซ็นเตอร์มาแล้ว

หลังทุ่มงบประมาณทางการตลาดในช่วงแรกสูงถึง 200 ล้านบาท นอกจากรสชาติแตกต่างจากคู่แข่ง, มีพันธมิตรสายส่งที่เข้มแข็งอย่าง "เสริมสุข" ที่มีสายส่งเป๊ปซี่ที่กระจายสินค้าได้ทั่วประเทศ, การสร้างแบรนด์ที่อาศัยชื่อเสียงของตัวแอ๊ด คาราวบาวและผลงานเพลง

หลังแนะนำคาราวบาวแดงออกสู่ตลาด วงดนตรีคาราบาว ก็ออกทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่อง ด้วยพลังสามประสานดังกล่าว เพียงปีเศษหลังเข้ามาทำตลาด คาราบาวแดงก็แจ้งเกิดในตลาดด้วยการกวาดยอดขายประมาณ 2,000 ล้านบาท มีส่วนแบ่งตลาด 25% รองจากเจ้าตลาดคือ M-150 ที่มีส่วนแบ่งการตลาด 40% ทิ้งกระทิงแดงที่เคยเป็นเจ้าตลาดให้หล่นไปอยู่อันดับ 3

การสื่อสารการตลาด คาราบาวแดงแบ่งงบสำหรับการทำกิจกรรม Above the line 70% และ Below the line 40%

ปี 2548 คาราบาวเตรียมรุกหนักทุ่มงบ 300 ล้านบาท โดยเน้นไปที่ทำกิจกรรมการตลาดตามพื้นที่ขายในต่างจังหวัดมากขึ้น แทนที่จะทุ่มงบในการโฆษณาผ่านสื่ออย่างที่ผ่านมา และตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งตลาดจาก 25% เป็น 30% จากมูลค่าตลาดรวม 14,000 ล้านบาท

คาราบาวแดง ยังเล็งขยายตลาดต่างประเทศโดยยังคงชูคอนเซ็ปต์ "นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่" โดยขณะนี้ได้ชิมลางตลาดในสหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย กัมพูชา ลาว สิงคโปร์ เวียดนาม และยุโรป ซึ่งตลาดที่น่าจะไปได้ดีคือตลาดในสหรัฐอเมริกา แต่ต้องมีการปรับสูตรเป็นอัดคาร์บอเนต (อัดแก๊ส) เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายคนอเมริกันที่นิยมเครื่องดื่มผสมกับเหล้า

ปี 2548 คาราบาวแดงตั้งเป้าว่าจะมียอดขายในต่างประเทศเพิ่มขึ้นประมาณ 400-500 ล้านบาท จากยอดเดิมที่มีอยู่ประมาณ 200 ล้านบาท


-------------------------------------------------------------

Double A เมื่อกระดาษสร้างแบรนด์

        

หากพูดถึงกระดาษเอ 4 ที่อยู่ในใจผู้ใช้กระดาษในปัจจุบัน เชื่อได้ว่านาทีนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก "ดั๊บเบิ้ล เอ" ภายใต้การบริหารงานของบริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร จำกัด หนึ่งในสองโรงงานผลิตกระดาษยักษ์ใหญ่ในเมืองไทยที่ก่อตั้งมากว่า 10 ปี รวมทั้งเป็นผู้ริเริ่มการสร้างแบรนด์ให้สินค้ากระดาษเป็นรายแรกและยังคงเป็นรายเดียวในปัจจุบัน

ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน สิ่งที่ดั๊บเบิ้ล เอ ยึดเป็นคัมภีร์ในการสร้างแบรนด์ตลอดมาคือการวิจัยถึงพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นหลักว่าต้องการสินค้า หรือบริการอย่างไร

การเปิดตัวของกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2543 ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมกระดาษด้วยการยิงหนังโฆษณาเพื่อสร้าง Brand Awareness เป็นหัวหอกเจาะเข้าไปทำความรู้จักกับผู้บริโภค โดยเน้นย้ำให้ผู้บริโภคเห็นถึงความสำคัญของการใช้กระดาษที่มีคุณภาพว่าจะช่วยลดต้นทุนในสำนักงานได้อย่างไร

หลังเปิดตัวได้เพียงปีเดียวดั๊บเบิ้ล เอ ก็สามารถเข้าไปอยู่ในใจของกลุ่มลูกค้าสูงถึง 90%

การทำการตลาดก้าวต่อๆ มาของดั๊บเบิ้ล เอ จึงมุ่งให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในสองกลุ่มคือกลุ่มออฟฟิศ และกลุ่มนักเรียนนักศึกษาเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการเปิด Double A copy center ที่มีอยู่ประมาณ 1,000 สาขาทั่วประเทศ, การจัดประกวด Double A design contest, การจำหน่ายหนังสือจากพันธมิตรทางธุรกิจในมุมหนังสือ Double A books corner ผ่านทาง Double A copy center, 1759 Double A delivery, 1759 Double A Print express, Double A Stationary, และ Double A Copy Point

การรุกตลาดในต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย ไต้หวัน สิงคโปร์ เกาหลี ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ ดั๊บเบิ้ล เอ ยังคงใช้สูตรสำเร็จในประเทศไทยไปปรับใช้กับลูกค้าในประเทศอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่มักจะมีพฤติกรรมและปัญหาจากการใช้กระดาษถ่ายเอกสารไม่แตกต่างกัน

หลังการสร้างแบรนด์อย่างจริงจัง ดั๊บเบิ้ล เอ สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคในเมืองไทยให้หันมาใช้กระดาษ 80 แกรมมากกว่า กระดาษ 70 แกรมได้ในสัดส่วน 60-40

ปัจจุบันดั๊บเบิ้ล เอ เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้ใช้กระดาษในเมืองไทยถึง 99% รวมทั้งตั้งเป้าเป็น Global Brand ในอนาคต


-------------------------------------------------------------

แบล็คแคนยอน กาแฟไทยสไตล์คาวบอย

     

  จากจุดเริ่มต้นเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว แบล็คแคนยอนเป็นเพียงร้านกาแฟเล็กๆ ที่มีสไตล์การตกแต่งสไตล์คันทรี อวลไปด้วยกลิ่นอายของคาวบอยตะวันตก ตามความชื่นชอบส่วนตัวของเจ้าของกิจการคือคุณประวิทย์ จิตนราพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) แต่วันนี้ชื่อของแบล็คแคนยอน ไม่เพียงแต่ครองใจผู้บริโภคในไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นที่รู้จักในฐานะผู้บุกเบิกแฟรนไชส์กาแฟไทยในต่างประเทศ

หลังใช้คาวบอยสูงวัยเป็นโลโก้ เพื่อสื่อถึงความเป็นผู้เชี่ยวชาญและมากด้วยประสบการณ์มานานกว่า 5-6 ปี ช่วงปลายปี 2536 ร้านแบล็คแคนยอนก็เปลี่ยนสถานภาพเป็น บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมกับเปลี่ยนโลโก้ใหม่ให้เป็นคาวบอยหนุ่ม เพื่อเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น

ปลายปี 2545 แบล็คแคนยอนเริ่มนโยบายขยายสาขาสู่ต่างประเทศด้วยระบบแฟรนไชส์ หลังการขยายสาขาในห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าในต่างประเทศเริ่มอิ่มตัว ซึ่งการทำตลาดในต่างประเทศนั้น แบล็คแคนยอนอาศัยเกาะกระแสไปกับนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก โดยจัดโปรโมชั่นคู่ระหว่างอาหารไทยและกาแฟเย็นเป็นจุดขายที่แตกต่างจากการร้านกาแฟอื่นๆ

ปัจจุบันแบล็คแคนยอนมีสาขาในต่างประเทศ 6 แห่ง และเตรียมเปิดอีก 3 แห่งภายในปี 2548

ปี 2547 แบล็คแคนยอนปรับตัวครั้งใหญ่ด้วยการทุ่มงบ 60 ล้านบาทเพื่อปรับภาพลักษณ์ใหม่ทั้งหมดให้มีความทันสมัยมากขึ้น เช่น การลงทุนในรูปแบบแฟรนไชส์, การสร้างบรรยากาศในร้านให้สว่างขึ้นกว่าเดิม การนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการ, ปรับเปลี่ยนรายการอาหารและเครื่องดื่ม, เปลี่ยนรูปแบบดีไซน์ของภาชนะ ฯลฯ เพื่อสร้างความแตกต่างที่เหนือกว่าคู่แข่งในตลาดกาแฟ รวมทั้งตอกย้ำแบรนด์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ล่าสุดแบล็คแคนยอนเตรียมทุ่บงบ 40-50 ล้านบาท ขยายสาขาเพิ่มอีก 12-15 สาขา จากเดิมที่มีอยู่กว่า 120 สาขา โดยเน้นการขยายช่องทางในปั๊มน้ำมันเป็นหลัก และทุ่มงบ 15 ล้านบาทเพื่อลงทุนนำเทคโนโลยีไอทีมาใช้ในร้าน เช่น ระบบ Table call system ที่ลูกค้าสามารถเรียกได้จากการกดปุ่มบนโต๊ะ และการติดระบบกล้องเพื่อควบคุมกิจกรรมต่างๆ ในร้าน ซึ่งจะทยอยติดให้ครบทุกสาขาภายใน 2 ปี

สิ่งที่แบล็คแคนยอนให้ความสำคัญมาโดยตลอด คือช่องทางการจำหน่าย เป้าหมายต่อไปของแบล็คแคนยอน จึงไม่ใช่แค่สยายปีกในประเทศต่อไป แต่ตั้งเป้าเปิดขายแฟรนไชส์ในตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกา ในอีก 5 ปีข้างหน้า หลังบุกตลาดในเอเชียจนครบทุกประเทศ


-------------------------------------------------------------

ซีอิ๊วขาว ตราเด็กสมบูรณ์

      

รูปเด็กชายพ่วงพี แก้มแดงเรื่อ อุ้มขวดซอส บนฉลากที่ติดอยู่ข้างขวดผลิตภัณฑ์ในเครือ บริษัท หยั่น หว่อ หยุ่น จำกัด นับเป็นหนึ่งในแบรนด์ของเครื่องปรุงรสที่แม่บ้านส่วนใหญ่รู้จักมักคุ้น และมักมีสินค้าติดครัวไว้อยู่เสมอ

จากจุดเริ่มต้นอุตสาหกรรมผลิตซีอิ๊วภายในครอบครัวของตระกูล "ตั้งสมบัติวิสิทธิ์" เมื่อปี 2490 ซึ่งแรกเริ่มใช้แบรนด์ "ฮับเย็ก" ที่หมายถึงการผนึกกำลัง หรือร่วมกันทำมาหากิน อันเป็นจุดแข็งของคนจีนโพ้นทะเลทั่วโลก แต่ภายหลังนายถ่ง แซ่ตั้ง บิดาของ วิเชียร ตั้งสมบัติวิสิทธิ์ ประธานผู้ก่อตั้งบริษัท หยั่น หว่อ หยุ่น จำกัด แยกตัวออกจากญาติพี่น้องมาทำธุรกิจส่วนตัว จึงตัดสินใจสร้างยี่ห้อใหม่เป็น หยั่น หว่อ หยุ่น จำกัด ซึ่งหมายถึง ครอบครัวยิ่งใหญ่ใฝ่คุณธรรม

ในช่วงแรก Core Product ของหยั่น หว่อ หยุ่น คือ การหมักเต้าเจี้ยวตามธรรมชาติ และเมื่อบิดาเสียชีวิตลงเมื่อปี 2544 วิเชียรซึ่งเข้ามารับสืบทอดกิจการอย่างเต็มตัวได้ใช้วิธีการแนะนำสินค้าด้วยตัวเอง คือ การขี่จักรยานยนต์บรรทุกขวดซีอิ๊วตะลอนขายไปตามย่านร้านอาหาร และตามย่านที่อยู่อาศัยของคนจีน เช่น เยาวราชและบางรัก ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์รวมทั้งสร้างความแตกต่างในผลิตภัณฑ์

การแนะนำซีอิ๊วขาวที่มีคุณสมบัติพิเศษคือมีกลิ่นหอมกว่าซีอิ๊วดำ รวมทั้งสร้างเครื่องหมายการค้า "ตราเด็กสมบูรณ์" เพื่อลบจุดอ่อนของชื่อภาษาจีนที่จดจำยากจึงได้เริ่มดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

กระทั่งปีพ.ศ. 2525 วิเชียร เริ่มดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ก่อตั้งบริษัท หยั่น หว่อ หยุ่น จำกัด พร้อมกับการขยายโรงงานเพิ่มเติมจากโรงงานแห่งแรกบนถนนสีลม ที่เขตยานนาวา และ จ.สมุทรสาคร

ปีพ.ศ. 2528 "หยั่น หว่อ หยุ่น" เปลี่ยนการพัฒนาระบบจากระบบครอบครัวมาเป็นระบบการบริหาร รวมทั้งเป็นปีที่วิเชียร เริ่มบุกการสร้างแคมเปญโฆษณาผ่านสื่อในโรงภาพยนตร์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว เพื่อสร้าง Brand Awareness ให้ผู้บริโภค เผยแพร่ตามโรงภาพยนตร์ในเขตกรุงเทพฯ เช่น โอเดี้ยน, วอร์เนอร์, สิริรามา, เฉลิมกรุง, สยาม และสกาลา เป็นต้น เพื่อสร้างการรับรู้ในสินค้า เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายในเขตกรุงเทพฯ เป็นหลัก ตามมาด้วยบุกเบิกตลาดต่างจังหวัดด้วยตัวเอง รวมทั้งเร่งพัฒนาระบบพนักงานขายต่างจังหวัด และเร่งทุ่มงบประมาณในการโฆษณาผ่านทีวีมากยิ่งขึ้น

ปีพ.ศ. 2529 ผลิตภัณฑ์ตราเด็กสมบูรณ์ก็สามารถส่งออกได้เป็นครั้งแรก และปัจจุบันส่งออกไปยัง 53 ประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น จีน เป็นต้น

กลยุทธ์ที่ตราเด็กสมบูรณ์ยึดมั่นมาตลอดคือการตอกย้ำเรื่องคุณภาพของสินค้า ในขณะเดียวกันก็มี Fighting Brand ออกมาสกัดคู่แข่งที่เล่นเรื่องราคา ในเซ็กเม้นต์อื่นๆ อาทิ ตราเด็กคู่ ตราโอลิมปิก ตราเด็กขี่มังกร ตราเด็กขี่กิเลนและเด็กขี่หงส์ รวมทั้งการทำ Below the Line อย่างต่อเนื่อง ที่เห็นได้ชัดคือการเป็นผู้สนับสนุนในเทศกาลกินเจ ที่บรรดาธงเหลืองมีตราเด็กสมบูรณ์อยู่ตรงกลางจะโบกสะบัดเป็นทิวแถวอยู่ทุกปี

ล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ตราเด็กสมบูรณ์ออกผลิตภัณฑ์ใหม่คือ ซอสหอยนางรมสูตรเข้มข้น ภายใต้คอนเซ็ปต์ "รสชาติใหม่...ไม่จำเจ" เพื่อเสนอทางเลือกให้กับผู้บริโภค รวมทั้งทุ่มงบกว่า 80 ล้านบาทในการทำการตลาดและส่งเสริมการขายเต็มรูปแบบ โดยจะเน้นการทำ Below the Line เช่น การจัดบูธชงชิมตามชุมชนต่างๆ มากขึ้นเป็น 30%

การฉวยโอกาสบุกตลาดก่อนแบรนด์อื่นๆ และทำการตลาดอย่างต่อเนื่องมากว่า 50 ปี ทำให้ตราเด็กสมบูรณ์ครองความเป็นผู้นำในตลาดซีอิ๊วขาวและเต้าเจี้ยวสูงถึง 70%

--------------------------------------------------------------

M150 ใจเกินร้อย

     

M 150 กำเนิดขึ้นในปี 2528 ภายใต้ปีกการบริหารของบริษัท โอสถสภา เต็กเฮงหยู จำกัด ที่ได้ค้นหารสชาติที่ผู้บริโภคต้องการเครื่องดื่มไทยที่มีรสชาติเข้มข้นมากกว่าลิโพวิตัน-ดี และเพื่อท้าชิงความเป็นเจ้าตลาดกับกระทิงแดงของค่ายทีซีฟาร์ มาชูติคอล

การตลาดของ M150 ในยุคแรก เริ่มด้วยการรุกตลาดอย่างรุนแรง ด้วยการใช้โฆษณาและการส่งเสริมการขายควบคู่ไปทั่วประเทศ โดยมุ่งเจาะกลุ่มผู้ชายที่ใช้แรงงาน ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร, กรรมกร, คนขับรถ ฯลฯ เป็นหลัก

นอกจากนี้ ยังใช้ Celebrity ที่เป็นขวัญใจของผู้ใช้แรงงาน เช่น นักมวยมืออาชีพชื่อดังอย่าง เขาทราย กาแล็คซี่ สามารถ พยัคฆ์อรุณ เพื่อสื่อถึงความแข็งแรงและการเป็นฮีโร่ ไปพร้อมๆ กับการทำ Event Marketing เช่น การสนับสนุนมวยชิงแชมป์โลก, การสนับสนุนมวยไทย มาใช้ในการทำการตลาดอย่างจริงจัง ควบคู่ไปกับการสร้าง Brand Visibility ผ่าน Event เพื่อตอกย้ำการจดจำแบรนด์ และเดินหน้าเจาะกลุ่ม Mass Target อย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ จนกระทั่งสามารถสร้างส่วนแบ่งการตลาดได้ 4% ได้ในปีแรก

หลังกลยุทธ์ประสบความสำเร็จในการเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้แรงงานอีสานที่มีการกระจายตัวออกไปทำงานทั่วประเทศ และการสร้าง Loyalty ต่อสินค้า ส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาด M150 เพิ่มขึ้นเป็น 50% จึงได้มีการปรับกลยุทธ์มาใช้ Multi Brand Strategy เพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภคทั้งตลาดบนและตลาดล่าง ด้วยการแนะนำ "ฉลาม" เพื่อชนกับคู่แข่งในตลาดล่าง ในลักษณะของในลักษณะของ Fighting Brand

คอนเซ็ปต์ที่เป็นที่จดจำในกลุ่มผู้บริโภคคือ "พลังเอ็ม...พลังใจเกินร้อย" ที่ใช้ Celebrity ที่เป็นนักมวยสากลโอลิมปิก เช่น สมรักษ์ คำสิงห์, วิจารณ์ พลฤทธิ์ เป็นต้น และสุดท้ายคือ "หนุ่มเอ็ม" ตรงใจกลุ่มเป้าหมายและประสบความสำเร็จมาโดยตลอด

การทำ Sport Marketing ด้วยการเป็นผู้สนับสนุนกีฬาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันชกมวย การถ่ายทอดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก รวมทั้งการทำ Localize Marketing เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าระดับรากหญ้าผ่านคอนเสิร์ตศิลปินลูกทุ่ง, กิจกรรมกีฬา และการฉายหนัง รวมทั้งการทำแคมเปญเปิดฝาชิงโชคอันลือลั่น

ปัจจุบัน กลยุทธ์หลักที่ M 150 ใช้มาตลอดคือ Music Marketing ด้วยการนำ นักร้องขวัญใจวัยรุ่นค่ายแกรมมี่ เช่น เสก โลโซ, มอส ปฏิภาณ, โต ซิลลี่ฟูล, ไบรโอนี่, ลานนา คัมมินส์, แด๊ก บิ๊กแอซ, เป็นตัวแทนของ Brand ในการปรับภาพลักษณ์ของสินค้าจากลุ่มผู้ใช้แรงงาน เป็นกลุ่มวัยรุ่น คนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน M150 ยังครองตำแหน่งผู้นำในตลาดเครื่องดื่มชูกำลังด้วยส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 40% จากมูลค่าตลาดรวม 14,000 ล้านบาท


--------------------------------------------------------------

อากิโกะ แบรนด์ไทยสไตล์ญี่ปุ่น

           

ชื่อแบรนด์ญี่ปุ่นจ๋าอย่าง "อากิโกะ" (aki-ko) กับโลโก้เด็กหญิงหน้าบึ้งบนซองขนม เห็นรูปลักษณ์เผินๆ อาจนึกว่าเป็นสินค้าอิมพอร์ต แต่แท้ที่จริงแล้วกลับเป็นแบรนด์สายเลือดไทยแท้ๆ

แม้จะถือกำเนิดในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 แต่พี่น้อง "ตระกูลพัวพัฒนขจร" ในนามกลุ่มฟรุ๊ตเน็ท ซึ่งทำธุรกิจด้านอาหารจัดจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกให้แบรนด์ดังๆ ในยุโรป อเมริกา และเอเชีย มานานกว่า 20 ปี กลับมองเห็นช่องทางที่จะสร้างธุรกิจใหม่จากความถนัดที่มีอยู่

การสร้างแบรนด์ของอากิโกะ มีเส้นทางอย่างชัดเจนโดยเริ่มจากฐานผลวิจัยผู้บริโภควัยรุ่นที่มีความนิยมในภาพลักษณ์ญี่ปุ่น จึงเป็นที่มาของโลโก้เด็กหญิงหน้าบึ้ง เพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้บริโภค บวกกับชื่ออากิโกะ ในภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่าสนุกสนาน ร่าเริง มุ่งจับกลุ่มผู้บริโภควัยรุ่นผู้หญิงอายุ 17-25 ปีเป็นหลัก

นอกจากนี้ยังมีแบรนด์แวดล้อมเพื่อสร้างเรื่องราวให้แบรนด์หลักอย่างอากิโกะ แยกจับกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันคือ อากิโกะ จับกลุ่มเป้าหมาย เด็กผู้หญิง, กิว สุนัขเพื่อนซี้ จับกลุ่มเป้าหมาย เด็กผู้ชาย, อาม่า จับกลุ่มเป้าหมายผู้ใหญ่ที่มีอายุเกิน 30 รักครอบครัว ชอบซื้อขนมมาฝากเด็กๆ และ ซีม่า เพื่อนอาม่า จับกลุ่มเป้าหมายผู้ใหญ่ที่ชอบทานขนม มีความทันสมัยอยู่ในตัว

ขณะที่การแตกไลน์สินค้า อากิโกะ ยังคงยึดพฤติกรรมของลูกค้าวัยรุ่นผู้หญิงเป็นหลัก และให้ความสำคัญกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้โดนใจกลุ่มเป้าหมาย โดยออกแบบแยกเป็นซองเล็กๆ พองๆ (Pillow Pack) ซึ่งเป็นวิธีการขายที่เรียกว่า Pick&Mix ตามพฤติกรรมคนไทยที่ชอบรับประทานขนมจุกจิกอย่างละเล็กละน้อย

รวมทั้งใช้ Music Marketing มีเพลงประจำร้าน

แม้จะไม่ใช้งบโฆษณาเลย อาศัยเพียงกลยุทธ์การบอกต่อแบบปากต่อปาก (Words of mouth communication) และการกระจายแหล่งจัดจำหน่ายที่ครอบคลุม ก็ทำให้แบรนด์อากิโกะเข้าไปนั่งอยู่ในใจผู้บริโภค พร้อมกับการก้าวเข้าสู่ธุรกิจแฟรนไชส์ และส่งออกภายใต้แบรนด์อากิโกะ

อากิโกะยังมีแผนขยายไปทำสินค้าพรีเมียม เช่น กระเป๋า เสื้อ พวงกุญแจ และมีแนวคิดออกหนังสือการ์ตูนและการ์ตูนแอนิเมชั่นมาเขย่าวงการเพิ่มเติมด้วย


--------------------------------------------------------------

ที่มา : http://www.brandage.com  วันที่: 6 กรกฎาคม 2548

ข้อมูลจาก  http://www.manfocus.com      



หน้า 1/1
1
[Go to top]