บริษัท พัฒนกิจ บัญชี ภาษีและฝึกอบรม จำกัด
Pattanakit Accounting Tax & Training Co., Ltd.
59/275 ซอยสุวินทวงศ์ 44 ถนนสุวินทวงศ์ แขวงลำผักชี เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร 10530
โทรศัพท์ 0-2019-4656 , 0-2023-7182 , 084-1568284, 092-4634120, 098-2529544, Fax 0-2019-4659
Website :https://www.pattanakit.net / Email : pat@pattanakit.net
หมัดน็อคเจ้าหนี้นอกระบบ
ยังคงจำเรื่องราวของคุณปริวุฒิ บุตรดี ประธานกลุ่มพิทักษ์ธรรม ที่ได้ออกมาเปิดเผยกลโกงของเจ้าหนี้นอกระบบที่บังคับให้ผู้กู้เขียนสัญญาเงินกู้มากกว่าเงินที่ได้รับจริง 8-10 เท่าตัว
ประสบการณ์ของคุณปริวุฒินั้น ได้ไปขอกู้เงินกับผู้ปล่อยกู้เป็นจำนวน 30,000 บาท แต่ถูกบังคับให้เขียนสัญญากู้สูงถึง 240,000 บาท ใครไม่เคยเจอสภาพนี้ก็ต้องด่าว่าโง่ ไปลงชื่อรับได้อย่างไร แต่ถ้าไม่เขียนก็ไม่ให้กู้ซ้ำผู้ให้กู้ก็รับปากดิบดีว่าจะไม่มีปัญหาอะไร คนเมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องยอมทำทุกอย่าง โดนหักค่าดอกเบี้ยล่วงหน้าและค่าจัดการเอกสารไป 4 พันบาท สรุปว่าได้รับเงินจริง ๆ แค่ 26,000 บาท ต่อมาคุณปริวุฒิมีปัญหาขัดสนด้านการเงินไม่สามารถส่งเงินค่างวดได้ จึงถูกเจ้าหนี้ฟ้องศาลในมูลค่าหนี้ 240,000 บาทเต็ม ๆ
เป็นเล่ห์เพทุบายของเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบที่ใช้กระบวนการของศาลฟอกสัญญาที่ผิดให้เป็นถูกมีการกระทำลักษณะนี้กับลูกหนี้อย่างกว้างขวาง ใครที่กลัวถูกฟ้องก็จำยอมชดใช้หนี้ที่สูงกว่าความเป็นจริง ใครที่ฮึดสู้สุดท้ายก็แพ้ในกระบวนวิธีพิจารณาคดีของศาลต้องถูกปรับ ถูกอายัดเงินเดือน กันเป็นแถว ๆ จนคุณปริวุฒิและสมาชิกในกลุ่มพิทักษ์ธรรมที่เกิดจากการรวมตัวของข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจที่เป็นลูกหนี้กับเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบออกมากระชากหน้ากากเปิดโปงข้อมูลพฤติกรรมฉ้อฉลของเจ้าหนี้อย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่การจับกุมเจ้าหนี้นอกระบบที่มีพฤติกรรมฉ้อโกงไปแล้วหลายราย ส่วนศาลเองก็เริ่มฟังข้อเท็จจริงจากฝ่ายลูกหนี้และมีความรัดกุมในการพิจารณาคดีการทวงหนี้ในลักษณะนี้มากขึ้น อย่างไรก็ดีก็ยังมีประชาชนที่ถูกโกงถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าหนี้ใจคดอยู่เป็นจำนวนมากในปัจจุบัน มาตรการจัดการหนี้นอกระบบของรัฐบาล เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเปิดเผยว่า มหาดไทยได้แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบในพื้นที่แต่ละจังหวัด เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการกู้ยืมเงินนอกระบบจากนายทุนเงินกู้ในพื้นที่ตามการร้องเรียนของประชาชน เพื่อเป็นแนวทางดำเนินการกับนายทุนเงินกู้ผิดกฎหมาย หรือเอารัดเอาเปรียบลูกหนี้ โดยใช้มาตรการด้านการปกครองเจรจาประนีประนอมระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ รวมถึงมาตรการด้านกฎหมาย ที่ผ่านมาการทำงานในพื้นที่หลายจังหวัดเป็นไปด้วยดี เช่น จ.อุดรธานี เจ้าหนี้ลดหนี้มากกว่าครึ่งหนึ่ง จ.ลพบุรี อยู่ระหว่างการดำเนินการของตำรวจ จ.นนทบุรี ได้ดำเนินข้อหาคิดดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนดกับนายทุนที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชนและลูกหนี้ จ.สกลนคร เจ้าหน้าที่กำลังรวบรวมพยานหลักฐานเอาผิดนายทุน ที่เข้าข่ายผู้มีอิทธิพล ความจริงแล้วปัญหากลโกงหนี้นอกระบบนี้ไม่ใช่มีแต่เพียงกระทรวงมหาดไทยเท่านั้นที่กำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาอยู่ รัฐบาลมีการตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาหนี้นอกระบบระดับชาติขึ้นมา ประกอบด้วยกำลังจากหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กรมสรรพากร เป็นต้น ทำงานร่วมกันแบบบูรณาการโดยพยายามหามาตรการทางกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันมาใช้แก้ปัญหาและจัดการกับแก๊งเงินกู้นอกระบบ โดยมีเป้าหมายกวาดล้างให้ปัญหาหนี้นอกระบบหมดไปภายใน 3 ปี อัยการดำริ เฉลิมวงศ์ อัยการผู้เชี่ยวชาญ จากสำนักคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานแก้ปัญหาหนี้นอกระบบระดับชาติ ได้เปิดเผยว่า มาตรการที่ภาครัฐนำมาใช้จัดการกับเจ้าหนี้นอกระบบอยู่ในปัจจุบันก็จะมีทั้งไม้นวม ไม้แข็ง เริ่มจากไม้นวมก็คือ การเรียกเจ้าหนี้นอกระบบที่ถูกร้องเรียนมาเจรจา อย่างเช่น กรณีที่ฟ้องลูกหนี้ 240,000 บาท เจ้าหนี้ต้องรู้อยู่แก่ใจว่าจริง ๆ แล้วลูกหนี้กู้เงินไปเท่าไร จะยอมตัดลดหนี้ให้ลูกหนี้หรือไม่ โดยจะชี้แจงให้ฟังว่า ประมวลรัษฎากร ม. 91/2(5) ได้บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดประกอบธุรกิจเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ เช่น ให้กู้ยืมเงิน มีรายได้จากดอกเบี้ย ต้องปฏิบัติดังนี้ ขอจดทะเบียนธุรกิจเฉพาะ ถ้าไม่จดทะเบียนถือว่าผิด นอกจากมาตรการทางภาษีแล้ว ก็ยังมีกฎหมายเกี่ยวกับความผิดที่เรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และความผิดฐานกรรโชกทรัพย์และฟอกเงิน ซึ่งจะนำไปสู่การยึดทรัพย์สินของนายทุนเงินกู้นอกระบบดอกเบี้ยโหดต่อไป สิ่งที่รัฐบาลทำเพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบนี้ต้องบอกก่อนว่า ไม่ได้เป็นการส่งเสริมให้ลูกหนี้เบี้ยวหนี้ หรือเป็น วาระชักดาบแห่งชาติ น่าจะเรียกว่าเป็นการ จัดระเบียบเจ้าหนี้ มากกว่า เพราะเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของสังคม เป็นหนี้ลูกหนี้ก็ต้องใช้หนี้ตามยอดที่กู้มาจริง จากข้อมูลที่มีการร้องเรียนเข้ามา รวม ๆ แล้วลูกหนี้กู้เงินหนี้นอกระบบไปจริง ๆ ประมาณ 40 ล้านบาท แต่ปรากฎว่าหนี้ตามเอกสารมีสูงถึง 140 ล้านบาท ส่วนที่เกินมา 100 ล้านบาทนั้นมันเป็นการทำนาบนหลังคน โดยใช้กระบวนการยุติธรรมฟอกให้เป็นเงินที่ถูกต้องตามกฎหมาย อัยการดำริ กล่าว
ไม่มีเงินใช้คืน .มีสิทธิติดคุก ท่านอัยการดำริ เฉลิมวงศ์ ได้กล่าวถึงการกู้เงินด่วนนอกระบบที่ประชาชนต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคือ เงินด่วนประเภทที่ติดโฆษณาตามเสาไฟฟ้า ตู้โทรศัพท์ ว่ากู้ปุ๊บ ได้เงินปั๊บ หากผู้ที่จะกู้มีบัตรผ่อนสินค้าของบริษัทต่าง ๆ วิธีการของเงินกู้นอกระบบลักษณะนี้ คือ หลังจากที่ลูกหนี้ที่เดือดร้อนต้องการใช้เงินสดด่วน ได้ติดต่อไปตามโทรศัพท์ที่โฆษณาไว้ในใบปลิว ก็จะมีการนัดหมายให้ไปพบเพื่อทำการกู้ยืมเงิน ซึ่งโดยมากสถานที่นัดพบมักจะเป็นร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือขายโทรศัพท์มือถือตามห้างสรรพสินค้า
เพราะหลังจากที่ทำสัญญาเช่าซื้อเรียบร้อยแล้ว ผู้ที่พาลูกหนี้มาก็จะมอบเงินสดให้ลูกหนี้ 20,000 บาท หักไว้ 10,000 บาท เป็นค่าดำเนินการและดอกเบี้ยล่วงหน้า 10 เดือน (มีข้อสันนิษฐานว่าเงินสดที่จ่ายให้กับลูกหนี้นี้มาจากร้านที่เป็นเจ้าของสินค้าหรือไม่ เพื่อที่จะไปขอรับเงินจำนวนเต็ม ๆ จากบริษัทบัตรเงินผ่อนในภายหลัง ส่วนสินค้าก็ยังอยู่กับร้านเหมือนเดิม ถ้าเป็นความจริงก็หมายความว่า ร้านแทบไม่ลงทุนอะไรเลย แต่มียอดขายสินค้าเกิดขึ้นในขณะที่ตัวสินค้าก็ยังอยู่กับร้านเหมือนเดิม) ส่วนลูกหนี้ก็มีหน้าที่ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อกับบริษัท A ทุกเดือน ถ้าผ่อนครบก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าลูกหนี้เกิดเงินช็อต ขาดส่งค่าเช่าซื้อสัก 2-3 งวด บริษัท A ก็จะเริ่มทวงเงิน และยึดสินค้าคืน ถึงตรงนี้ลูกหนี้ก็อาจจะงงว่าเคยได้รับสินค้าอะไรจากบริษัท A เพราะสินค้าหน้าตาเป็นยังไงก็ไม่เคยเห็น เห็นแต่สัญญาเช่าซื้ออย่างเดียว แล้วจะเอาสินค้าที่ไหนไปคืนบริษัท ตรงนี้แหละที่ ลูกหนี้มีโอกาสที่จะต้องติดคุก เพราะการเช่าซื้อ ตามหลักกฎหมาย ตราบใดที่ผู้เช่าซื้อยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ก็ยังเป็นของผู้ให้เช่าซื้อ ส่วนผู้เช่าซื้อเป็นได้แค่ผู้ครอบครองและมีสิทธิใช้สอยทรัพย์เท่านั้น ดังนั้น หาก ลูกหนี้ไม่มีสินค้าไปคืน บริษัท A เขาก็จะแจ้งความดำเนินคดีอาญาในข้อหายักยอกทรัพย์ได้ เรื่องนี้จึงเป็นนิติกรรมอำพราง เพราะเจตนาจริง ๆ คือสัญญากู้เงิน แต่ถูกอำพรางด้วยสัญญาเช่าซื้อสินค้า ที่ฝ่ายผู้ให้กู้ได้รับดอกเบี้ยสูงถึง 50 % ในช่วงเวลา 10 เดือน ซึ่งการกระทำเช่นนี้เจ้าหนี้จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 ซึ่งทางคณะกรรมการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบระดับชาติ ก็กำลังติดตามจัดการกับเจ้าหนี้นอกระบบกลุ่มอยู่เช่นกัน ใครที่ประสบกับปัญหาในลักษณะดังกล่าว สามารถร้องเรียน ให้ข้อมูลและขอความช่วยเหลือได้ที่ ศูนย์ดำรงธรรมในจังหวัดต่าง ๆ หรือ สายด่วน โทร. 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือทางไปรษณีย์ จ่าหน้าซอง ส่ง "ศูนย์ดำรงธรรม" กรุงเทพมหานคร ตู้ ป.ณ.1 ปณฝ.มหาดไทย กรุงเทพ ฯ 10206 หากต้องการปรึกษาเกี่ยวกับคดีหนี้นอกระบบ ติดต่อ Call Center 1157 ทุกวันจันทร์ ศุกร์ ไม่มีพักเที่ยง นอกจากนี้เว็บไซต์ของ สำนักคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน สำนักงานอัยการสูงสุด http://www.lawaid.ago.go.th ยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งสำหรับประชาชนที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแง่มุมทางกฎหมายและการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ หรือ มีปัญหาเรื่องหนี้ในระบบ ติดต่อชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคคลได้ค่ะ
link : บทความ "วิธีรับมือเมื่อถูกทวงหนี้โหด"
ที่มา : มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค http://www.consumerthai.org |
สาระน่ารู้ (หน้า 2 ) |
หน้า 1/1 1 | [Go to top] |