
ออมเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอแก่การเกษียณ
คนในวัยหนุ่มสาวส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ได้คิดถึงชีวิตภายหลังเกษียณ เพราะดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวอยู่มาก แต่เชื่อว่าคนที่มีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไปแล้วคงจะเริ่มคิดแล้วว่า จะใช้ชีวิตอย่างไรภายหลังเกษียณจากการทำงาน และเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งก็คือ จะมีเงินใช้ในชีวิตบั้นปลายอย่างไรและจำนวนเท่าไร ?
คำตอบก็คงจะขึ้นอยู่กับแบบแผนชีวิตที่ต้องการ ซึ่งแตกต่างกันไปของแต่ละบุคคล บางคนอาจจะชอบการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายและสมถะกับครอบครัว แต่บางคนอาจจะยังชอบที่จะออกสังคมในการออกไปพบปะสังสรรค์ และมีงานอดิเรกที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น การเดินทางท่องเที่ยวหาความสุข การเล่นกอล์ฟ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม โดยเฉลี่ยแล้วจากการสำรวจพบว่าค่าใช้จ่ายที่จะทำให้อยู่ได้โดยไม่เดือดร้อนน่าจะอยู่ที่ประมาณ 70% ของรายได้ก่อนการเกษียณ
การจะคำนวณหาจำนวนเงินที่จะเพียงพอแก่การเกษียณของแต่ละบุคคล ก็อาจจะทำได้ด้วยตนเอง ด้วยการลองประเมิน ค่าใช้จ่ายที่คิดว่าจำเป็นออกมารายเดือน และ แปลงให้เป็นเงินรายปี และลองให้สมมุติฐานว่าท่านจะมีอายุขัยเท่าไร และคำนวณจำนวนเงินที่จะต้องออมหรือหาไว้ก่อนการเกษียณเป็นตัวเลขประมาณการเบื้องต้นได้

สมมุติท่านเกิดในครอบครัวที่มีอายุยืนยาวพอประมาณ 80 ปี และเป็นคนที่ดูแลสุขภาพได้ดีพอสมควร ไม่เป็นโรคร้ายที่ต้องใช้เงินรักษาพยาบาลมาก หรือท่านได้ทำประกันชีวิตและสุขภาพไว้แล้ว ก็สามารถลองประมาณหรือตั้งเป้าดูว่าท่านยังต้องการเงินไว้ใช้จ่ายอีกสักเท่าไหร่
ตัวอย่างในการประมาณค่าใช้จ่าย เช่น ค่าอาหาร ค่าสาธารณูปโภคที่จำเป็น เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ รวมประมาณ 20,000 บาทต่อเดือน และในแต่ละปีท่านชอบท่องเที่ยวด้วย ต้องไปเที่ยวกับญาติมิตรประมาณปีละครั้งในงบประมาณสัก 60,000 บาท เพียงเท่านี้ท่านก็จะมีค่าใช้จ่ายต่อปีที่ 300,000 บาท
จากนั้นก็คำนวณหามูลค่าสินทรัพย์สุทธิที่ปลอดหนี้ที่มีอยู่ทั้งหมด หากท่านได้มีทรัพย์สินเงินทองที่ให้ดอกผลสุทธิ 5% อยู่จำนวน 6 ล้านบาท ก็ถือว่าท่านมีเงินเพียงพอแก่การเกษียณ โดยใช้แต่ดอกผลแล้วยัง
มีเงินต้นเผื่อเหตุฉุกเฉินหรือเจ็บป่วยร้ายแรงที่ไม่คาดคิด หรืออาจเหลือไว้เป็นมรดกแก่ลูกหลานได้ ซึ่งในกรณีนี้ประมาณการ ตัวเลขเป้าหมายเงินออม ณ วันเกษียณของท่านจึงอยู่ที่ประมาณ 6 ล้านบาท
ตัวเลขที่เห็นอาจดูมากจนน่าตกใจ แต่นั่นหมายถึงอิสรภาพทางการเงินที่ทุกคนใฝ่ฝัน เป็นเพียงแค่ตัวอย่างวิธีการที่เสนอให้กับคนทั่วไปที่ยังไม่มีทรัพย์สินหรือเงินออมเพื่อการเกษียณเท่านั้น
สำหรับข้าราชการนั้น นับว่ารัฐได้สร้างระบบการให้ความมั่นคงในยามเกษียณไว้รองรับไว้พอสมควร ข้าราชการยังมีเงินบำนาญ และสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลต่าง ๆ และในส่วนของสมาชิก กบข.ยังจะได้รับเงินส่วนที่ออมอยู่กับ กบข. ด้วย ดังนั้นตัวเลขเป้าหมายเงินออม ณ วันเกษียณ จึงอาจไม่ต้องสูงเท่าในตัวอย่างข้างต้น
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเป้าหมายที่พึงทำให้ได้ ก็ยังอาจสูงได้หากท่านมีค่าใช้จ่ายมากกว่า ตัวอย่างเช่น ท่านอาจมีภาระต้องเลี้ยงดูคนในครอบครัวด้วย หรือในอนาคตค่าใช้จ่ายอาจสูงขึ้นข้าวของแพงขึ้นเป็นต้น การรีบเก็บเงินสะสมให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ และยิ่งเร็วเท่าไหร่ก็จะยิ่งสุขสบายในอนาคตมากขึ้นค่ะ แต่ถ้าบางท่านที่มีสินทรัพย์อยู่แล้วเช่น บ้านที่อยู่อาศัย ความต้องการเงินออมสำหรับการเกษียณก็จะลดลง
สำหรับคนที่ยังมีเงินไม่เพียงพอก็ขออย่าท้อใจนะคะ ก็ต้องเริ่มจากการวางแผนหารายได้ ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และมีการนำออมที่มีอยู่ไปลงทุนให้งอกเงยเสียตั้งแต่วันนี้ค่ะ.

วางแผนเพื่อการเกษียณ
ชายชรา กับ ลังเหล็ก
เงินกับความสุข

ที่มา : คอลัมภ์เข็มทิศลงทุน นสพ.เดลินิวส์ วันเสาร์ ที่ 24 ตุลาคม 2552