บริษัท พัฒนกิจ บัญชี ภาษีและฝึกอบรม จำกัด
Pattanakit Accounting Tax & Training Co., Ltd.
59/275 ซอยสุวินทวงศ์ 44 ถนนสุวินทวงศ์ แขวงลำผักชี เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร 10530
โทรศัพท์ 094-6574441 , 099-4567715 , 092-4634120, 061-0382531
Website :https://www.pattanakit.net / Email : infoservice2126@gmail.com

ภ.ง.ด. 94 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี
ภ.ง.ด.94 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี
วันจันทร์ที่ 31 ส.ค. 2552 นี้ เป็นวันสุดท้ายของกำหนดเวลายื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีแรก (ภ.ง.ด.51) ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิ สำหรับบริษัท ฯลฯ ที่มีรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2552 หากลืมยื่นแบบล่ะก็ งานเข้าแน่ๆ นอกจากจะเสียค่าปรับและเงินเพิ่มแล้ว ยังเสียเวลาอีกด้วย และในช่วงนี้ยังเป็นกำหนดเวลาของการยื่นแบบภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดาครึ่งปีภาษี (ภ.ง.ด.94) สำหรับผู้มีเงินได้พึงประเมิน บางประเภท กำหนดเวลายื่นแบบเริ่มตั้งแต่เดือน ก.ค.ถึงเดือน ก.ย. 2552 พูดง่ายๆ ว่า กำหนดเวลายื่นแบบเริ่มต้นพร้อมกับบริษัท ฯลฯ แต่กำหนดเวลาสิ้นสุดของการยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีภาษีจะสิ้นสุดในเดือน ก.ย.ในปีนี้ วันสุดท้ายของการยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 จะตรงกับวันพุธที่ 30 ก.ย. 2552 การยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีภาษี (ภ.ง.ด.94) นั้น มีใครบ้างที่มีหน้าที่ยื่นแบบเสียภาษี ต้องมีเงินได้ประเภทใด การหัก ค่าใช้จ่ายของเงินที่หามาได้หักได้มากน้อยเท่าใด ค่าลดหย่อนที่นำ มาใช้ต้องเป็นอย่างไร การคำนวณภาษีมีวิธีใดบ้าง การยกเว้นภาษีมีกรณีใด จะต้องยื่นแบบเสียภาษีที่ใด แบ่งชำระภาษีได้หรือไม่ หาก ไม่ยื่นแบบภายในกำหนดเวลามีโทษใดบ้าง และประเด็นที่มักผิดพลาดในการยื่นแบบเสียภาษีมีอะไรบ้าง จึงขอสรุปโดยย่อ ดังนี้ ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประมวลรัษฎากรได้แบ่งผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาออกเป็น 4 หน่วยภาษี ได้แก่ บุคคลทั่วไป ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ มิใช่นิติบุคคล ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี และกองมรดกที่ยัง มิได้แบ่ง ปกติจะเกี่ยวข้องกับบุคคลทั่วไปซึ่งเป็นเราๆ ท่านๆ ที่มี ลมหายใจอยู่นี่แหละ ไม่ว่าจะอายุเท่าใด สัญชาติใดก็ตาม หากมีเงินได้พึงประเมินตามประเภทและถึงเกณฑ์ตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องยื่นแบบเสียภาษีไม่ว่าจะมีภาษีต้องชำระหรือไม่ก็ตาม ที่เยอะขึ้นมาหน่อยก็เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่ นิติบุคคล ซึ่งถือเป็นหน่วยภาษีอีกรูปแบบหนึ่ง สำหรับผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษีและกองมรดกที่ยังมิได้แบ่งนั้นมีจำนวนไม่มากนัก ประเภทเงินได้พึงประเมิน ประมวลรัษฎากรได้แบ่งเงินได้ออกเป็น 8 ประเภท ตามมาตรา 40 (1)-(8) แต่กฎหมายกำหนด ให้ผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5)–(8) ต้องนำเงินได้ พึงประเมินมายื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรกให้นำเงินได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นในช่วงเดือน ม.ค.ถึงเดือน มิ.ย. มายื่นเสียภาษีด้วยแบบ ภ.ง.ด.94 ภายในเดือนก.ย.ของปีนั้น และ เมื่อสิ้นปีก็ให้นำเงินได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือน ม.ค.ถึงเดือน ธ.ค. มายื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษีด้วยแบบ ภ.ง.ด.90 ภายในเดือน มี.ค.ปีถัดไปอีกครั้งหนึ่ง ประเภทเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ เงินได้จากค่าเช่าทรัพย์สินไม่ว่าจะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์, เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) เป็นเงินได้จากวิชาชีพกฎหมาย บัญชี วิศวกรรม แพทย์ สถาปัตยกรรม และประณีตศิลปกรรม, เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (7) เป็นเงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาจัดหาสัมภาระ และเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (8) เป็นเงินได้จากการขายสินค้า การพาณิชยกรรม การขนส่ง การเกษตรกรรม และอื่นๆ หรือเป็นเงินได้พึงประเมินที่ ไม่เข้าลักษณะตามมาตรา 40 (1)-(7) แห่งประมวลรัษฎากร ท่านคงทราบแล้วว่าใครบ้างที่กฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่ เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5)-(8) แห่งประมวลรัษฎากรมีอะไรบ้าง ต่อไปค่อยมาว่ากัน เกี่ยวกับการคิดคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีภาษีว่า คิดอย่างไร การหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนเป็นเช่นไร เรามาดูเรื่อง ภ.ง.ด.94 ต่อ ครับ ครั้งก่อนได้กล่าวถึงผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาว่ามีใครบ้าง และประเภทเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5)(8) แห่งประมวลรัษฎากรมีอะไรบ้าง วันนี้มาต่อกันในเรื่องของวิธีการคิดคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) ว่ามีวิธีการคิดอย่างไร
วิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีมีวิธีการคิดคำนวณ 2 วิธี ดังนี้ วิธีที่ 1 คำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิ ตามมาตรา 48(1) แห่งประมวลรัษฎากร ให้ผู้เสียภาษีนำเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่เดือน ม.ค. ถึงเดือน มิ.ย. หักออกด้วยค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนเหลือเท่าใดเป็นเงินได้สุทธิ แล้วให้นำเงินได้สุทธิไปคำนวณภาษีตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะได้จำนวนภาษีต้องชำระ ทั้งนี้ เงินได้สุทธิ 1.5 แสนบาทแรก จะได้รับยกเว้นภาษี การคำนวณภาษีวิธีนี้จะมีภาษีต้องชำระก็ต่อเมื่อมีเงินได้สุทธิเกินกว่า 1.5 แสนบาทขึ้นไป การเสียภาษีจะเริ่มในอัตราภาษี 10% สำหรับเงินได้สุทธิที่ เกินกว่า 1.5 แสนบาท แต่ไม่เกิน 5 แสนบาท เสีย 20% สำหรับเงินได้สุทธิที่เกินกว่า 5 แสนบาท แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท เสียในอัตรา 30% สำหรับเงินได้สุทธิที่เกินกว่า 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 4 ล้านบาท และเสียภาษีในอัตรา 37% สำหรับเงินได้สุทธิที่เกินกว่า 4 ล้านบาทขึ้นไป วิธีที่ 2 คำนวณภาษีจากเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 48(2) แห่งประมวลรัษฎากร ให้ผู้เสียภาษีที่มีเงินได้พึงประเมินเกินกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไป นำเงินได้พึงประเมินไปคำนวณภาษีในอัตรา 0.50% จะได้จำนวนภาษีที่ต้องชำระตามวิธีนี้ หากมีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 1 ล้านบาท ก็ไม่ต้องคำนวณวิธีนี้ แต่ยังคงต้องคำนวณภาษีวิธีที่ 1 ซึ่งอาจจะมีภาษีต้องชำระหรือไม่ก็ได้ กฎหมายกำหนดให้ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2)-(8) แห่งประมวลรัษฎากร หรือมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) และยังมีเงินได้ตามมาตรา 40(2)-(8) อีก ต้องคำนวณภาษีเงินได้ทั้งวิธีที่ 1 และ 2 หากมีเงินได้พึงประเมินประเภทเงินเดือนค่าจ้างตามมาตรา 40(1) อย่างเดียว ให้คำนวณภาษีวิธีที่ 1 วิธีเดียวเท่านั้น กรณีเงินได้พึงประเมินที่ต้องคำนวณภาษีตามวิธีที่ 1 และวิธีที่ 2 ผู้เสียภาษี จะต้องเปรียบเทียบจำนวนภาษีที่ต้องชำระดูก่อน วิธีใดมีจำนวนภาษีต้องชำระมากกว่าก็ให้เสียภาษีตามวิธีนั้น การหักค่าใช้จ่าย เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5)-(8) แห่งประมวลรัษฎากร กฎหมายให้สิทธิผู้เสียภาษีเลือกหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละที่กฎหมายกำหนด หรือเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริงโดยนำการหักรายจ่ายตามมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี ที่บังคับใช้กับบริษัทมาอนุโลมใช้ สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) บางรายการที่กฎหมายไม่ได้ระบุให้เลือกหักค่าใช้จ่ายเหมาได้ จะต้องหักค่าใช้จ่ายตามจริงเท่านั้น การหักค่าใช้จ่ายเหมาของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5)-(8) แห่งประมวลรัษฎากร กฎหมายได้กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรฉบับที่ 11 ซึ่งได้กำหนดอัตราหักเป็นการเหมาไว้แตกต่างกันหลายอัตราสำหรับเงินได้แต่ละประเภท ในการยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี ผู้เสียภาษีจะเลือกหักค่าใช้จ่ายเหมา หรือเลือกหักค่าใช้จ่ายจริงแตกต่างกันในแต่ละปีภาษีได้ ไม่มีกฎหมายบังคับว่าใช้อย่างไรแล้วต้องใช้อย่างนั้นตลอดไป ขึ้นอยู่กับผู้เสียภาษีจะเลือกใช้วิธีใด เช่น ประกอบกิจการ ซื้อมาขายไป ปีที่ผ่านมาเคยหักค่าใช้จ่ายเหมา 80% ของเงินได้ พึงประเมิน แต่ปีภาษีนี้มีหลักฐานค่าใช้จ่ายในกิจการสูงถึง 90% ก็สามารถเลือกที่จะหักค่าใช้จ่ายจริงได้ เรื่องเกี่ยวกับค่าลดหย่อนในการคิดคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ประมวลรัษฎากรได้แบ่งค่าลดหย่อนออกเป็นหลายประเภท จำนวนเงินที่ให้หักก็มากน้อยแตกต่างกัน การนำค่าลดหย่อนมาคิดคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี กฎหมายกำหนดให้นำมา หักลดหย่อนได้เพียงกึ่งหนึ่งเท่านั้น สรุปได้ดังนี้ ค่าลดหย่อนส่วนบุคคล ผู้มีเงินได้หักได้ 1.5 หมื่นบาท คู่สมรส ที่ไม่มีเงินได้หักได้ 1.5 หมื่นบาท บุตรหักได้คนละ 7,500 บาท แต่จะหักบุตรได้ไม่เกิน 3 คน กรณีที่ผู้เสียภาษีเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่ นิติบุคคล จะหักลดหย่อนได้เพียง 3 หมื่นบาท กองมรดกที่ยังมิได้แบ่งจะหักลดหย่อนได้ 1.5 หมื่นบาท สำหรับผู้ที่ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษีให้หักลดหย่อนได้เสมือนผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ ค่าเบี้ยประกันชีวิต ที่ได้จ่ายไปจริงในช่วงเดือน ม.ค.ถึงเดือนมิ.ย. ผู้มีเงินได้และคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้จะหักลดหย่อนได้เท่าที่จ่ายจริงแต่ ไม่เกินคนละ 5,000 บาท ส่วนค่าเบี้ยประกันชีวิตที่เกินกว่า 1 หมื่นบาท แต่ไม่เกิน 9 หมื่นบาท เป็นเรื่องของการยกเว้นภาษีของผู้มีเงินได้เท่านั้น ไม่รวมถึงคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ สรุปได้ว่า เฉพาะตัวของ ผู้มีเงินได้สามารถหักลดหย่อนและยกเว้นภาษีจากค่าเบี้ยประกันชีวิตได้ไม่เกิน 9.5 หมื่นบาท ในการยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ครึ่งปี ค่าลดหย่อนเพื่อการศึกษาบุตร การยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ครึ่งปี ผู้มีเงินได้ที่มีคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ จะหักลดหย่อนเพื่อการศึกษาบุตร ได้คนละ 1,000 บาท และนำบุตรมาหักได้ 3 คน กรณีต่างฝ่ายต่างมีเงินได้จะหักลดหย่อนเพื่อการศึกษาบุตรได้เพียงคนละ 500 บาท ต่อบุตร 1 คนเท่านั้น ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ที่ผู้มีเงินได้จ่ายให้แก่ธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น บริษัทประกันชีวิต สหกรณ์หรือนายจ้างสำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้าง เป็นประกันการกู้ยืม หักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงในช่วงเดือน ม.ค.ถึงเดือนมิ.ย. แต่ไม่เกิน 5,000 บาท ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมส่วนที่เกินกว่า 1 หมื่นบาท แต่ไม่เกิน 9 หมื่นบาท เป็นเรื่องของการยกเว้นภาษีของผู้มีเงินได้ สรุปได้ว่า ผู้มีเงินได้จะหักลดหย่อนและยกเว้นภาษีจากดอกเบี้ยเงินกู้ยืมรวมแล้วไม่เกิน 9.5 หมื่นบาท ในการยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ครึ่งปี เงินสมทบกองทุนประกันสังคม ผู้มีเงินได้ที่จ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมหรือคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้แต่ได้จ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคม สามารถหักลดหย่อนได้เท่าที่จ่ายจริงในช่วงเดือน ม.ค. ถึงเดือน มิ.ย.โดยแต่ละคนจะหักได้ไม่เกินคนละ 4,500 บาท ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา หักลดหย่อนได้ทั้งบิดามารดาของผู้มีเงินได้และบิดามารดาของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ โดยสามารถหักลดหย่อนได้คนละ 1.5 หมื่นบาท รวมแล้วหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 6 หมื่นบาท ในการยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ครึ่งปี ทั้งนี้ บิดามารดาต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป บิดาหรือมารดาต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินเกินกว่า 3 หมื่นบาทขึ้นไปในปีภาษีนั้น และต้องมีหลักฐานการอุปการะเลี้ยงดูจาก บิดามารดา เงินบริจาค ผู้มีเงินได้สามารถนำมาหักลดหย่อนได้เพียงครึ่งหนึ่งของเงินที่บริจาคจริงในช่วงครึ่งปีแรก และต้องไม่เกิน 10% ของ เงินได้สุทธิ ซึ่งคำนวณจากเงินได้พึงประเมินที่ได้หักค่าใช้จ่ายและ ค่าลดหย่อนอื่นๆ ออกแล้ว นั่นเป็นค่าลดหย่อนที่สามารถนำมาหักในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี แต่หากท่านดูรายการในแบบ ภ.ง.ด. 94 แล้ว จะพบรายการที่ยกเว้นภาษีอีกหลายรายการ มีอะไรบ้าง เงื่อนไขการใช้คำนวณภาษีเป็นอย่างไร สัปดาห์หน้าค่อยมาว่ากันต่อ สวัสดีครับ
บทความโดย : สมชาย ชูเกตุ ที่มา : โพสต์ทูเดย์ วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม 2552 / วันศุกร์ที่ 4 และ 11 กันยายน 2552 |
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() |