บริษัท พัฒนกิจ บัญชี ภาษีและฝึกอบรม จำกัด
Pattanakit Accounting Tax & Training Co., Ltd.
59/275 ซอยสุวินทวงศ์ 44 ถนนสุวินทวงศ์ แขวงลำผักชี เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร 10530
โทรศัพท์ 094-6574441 , 099-4567715 , 092-4634120, 061-0382531
Website :https://www.pattanakit.net / Email : infoservice2126@gmail.com

กรมสรรพากร กำหนดแนวทาง "การกำกับดูแลโดยใกล้ชิด" เป็นรายผู้ประกอบการ
กรมสรรพากร กำหนดแนวทาง "การกำกับดูแลโดยใกล้ชิด" เป็นรายผู้ประกอบการ
ในปัจจุบันกรมสรรพากร ได้กำหนดแนวทาง "การกำกับดูแลโดยใกล้ชิด" เป็นรายผู้ประกอบการ และให้เป็นปัจจุบันตามแนวปรัชญา ทั่วถึงเป็นธรรมเสมอหน้า และเหมาะสมตามสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งยังจัดเก็บภาษีได้อย่างถูกต้องครบถ้วนให้เป็นปัจจุบันโดยไม่ก่อให้เกิดหนี้ภาษีอากรค้าง จึงขอนำมาเป็นประเด็นปุจฉา - วิสัชนา ดังนี้ ปุจฉา การกำกับดูแล หมายความว่าอย่างไร วิสัชนา การกำกับดูแล หมายถึง การติดตามการชำระภาษี และการบริหารงานจัดเก็บภาษีผู้ประกอบการ ซึ่งถูกจัดเป็นกลุ่มประเภทกิจการให้มีความเหมาะสมกับทีมกำกับดูแลให้ชำระภาษีถูกต้องเป็นปัจจุบัน การพิจารณาการคืนภาษี การตรวจสอบภาษี รวมทั้งการให้บริการด้านภาษีอากร การกำกับดูแลโดยใกล้ชิด หมายความว่า ทีมกำกับดูแลที่กรมสรรพากรจัดอัตรากำลังใหม่ โดยในแต่ละทีม มีอัตรากำลังเจ้าหน้าที่รวม 10 คน โดยจะได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลผู้ประกอบการแยกตามประเภทกิจการ ทั่วราชอาณาจักร ในการกำกับดูแลกรมสรรพากรกำหนดให้ดำเนินการในลักษณะที่เสมือนหนึ่งเป็นเจ้าของกิจการ กล่าวคือ กรมสรรพากรต้องรู้ว่าผู้ประกอบการรายนั้นๆ ประกอบธุรกิจอะไร มีสภาพข้อเท็จจริงในการประกอบธุรกิจอย่างไร มีภาษีประเภทใดที่ต้องเสียบ้าง การกำกับดูแลเป็นรายตัวผู้ประกอบการ หมายความว่า ในการกำกับดูแลการเสียภาษีอากรนั้น แต่ละทีมกำกับดูแลจะทำการกำกับดูแลผู้ประกอบการให้ได้ครบทั้ง 100% ของจำนวนผู้เสียภาษีที่มีอยู่ในแต่ละทีมกำกับดูแล และในแต่ละรายต้องกำกับดูแลทุกประเภทภาษีอากร หรือ 100% ของภาษีอากรที่ต้องชำระ การกำกับดูแลเป็นปัจจุบัน หมายความว่า ในการกำกับดูแลการเสียภาษีอากรนั้น แต่ละทีมกำกับดูแลจะทำการกำกับดูแลการเสียภาษีอากรของผู้ประกอบการแต่ละราย ในส่วนที่เป็นภาษีอากรที่ต้องเสียในปัจจุบันเท่านั้น โดยไม่ดำเนินการกำกับดูแลการเสียภาษีอากรในอดีต เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร เช่น การกำกับดูแลการชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนภาษีปัจจุบัน โดยเปรียบเทียบกับเดือนภาษีก่อน และของเดือนภาษีเดียวกันในปีก่อนว่ามีสภาพเป็นอย่างไร หรือการกำกับดูแลการชำระภาษีเงินได้ของปีปัจจุบันว่า สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการหรือไม่ ปุจฉา เจ้าหน้าที่ผู้กำกับดูแลมีหน้าที่อย่างไร วิสัชนา ทีมกำกับดูแลประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ระดับ 7 เป็นหัวหน้าทีมงาน ในกรณีจำเป็นอาจใช้เจ้าหน้าที่ระดับ 6 เป็นหัวหน้าทีมงาน และมีหน้าที่บริหารจัดเก็บภาษีอากรผู้ประกอบการที่ได้รับมอบหมาย และในแต่ละทีมงานแบ่งเป็นทีมงานย่อย 3 ทีม มีอัตรากำลังทีมงานย่อยรวมทีมละ 3 คน เพื่อกำกับดูแลข้อมูลการชำระภาษีของผู้ประกอบการที่ได้รับมอบหมาย ในการกำกับดูแล เจ้าหน้าที่ผู้กำกับดูแลมีหน้าที่ต่างๆ ดังนี้ 1. ให้บริการคำแนะนำด้านภาษีอากรแก่ผู้ประกอบการรายที่ได้รับมอบหมาย 2. ดูแลการชำระภาษีของผู้ประกอบการก่อนและหลังพ้นกำหนดวันยื่นแบบแสดงรายการทุกประเภทภาษี 3. วิเคราะห์ข้อมูลการยื่นเสียภาษีอากรทุกประเภทภาษี 4. ออกตรวจสภาพกิจการของผู้ประกอบการ 5. พิจารณาการขอคืนภาษีของผู้ประกอบการ รวมถึงการพิจารณาความเหมาะสมในการคืนภาษี 6. ตรวจสอบภาษีอากรทุกประเภทภาษี ปุจฉา การตรวจสภาพกิจการ คืออะไร วิสัชนา การตรวจสภาพกิจการ เป็นงานหลักของการกำกับดูแลที่จะให้เจ้าหน้าที่ผู้กำกับดูแลทราบว่าผู้ประกอบการมีสถานประกอบการอยู่ ณ ที่ใด และมีสภาพกิจการเหมาะสมกับการยื่นเสียภาษีหรือไม่ โดยมุ่งเน้นประเด็นสภาพข้อเท็จจริงของกำลังการผลิต การจ้างแรงงาน สินค้าและวัตถุดิบคงเหลือและข้อมูลบ่งชี้ที่จะนำไปคำนวณหารายรับของกิจการได้ โดยให้ความสำคัญกับประเภทกิจการเป็นลำดับแรก คือ ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการรายใหญ่ และให้จัดลำดับการตรวจสภาพกิจการของผู้ประกอบการที่เหลือ ดังนี้ ประเภทกิจการที่มีความเสี่ยงสูงในการชำระภาษีดังนี้ ผู้ผลิต ผู้ให้บริการ กิจการซื้อมา - ขายไป ผู้ประกอบการอื่น นิติบุคคลตั้งใหม่ กิจการที่มีข้อมูลเสียภาษีผิดปกติ เช่น จากการกำกับดูแล จากการขอคืนภาษี ฯลฯ ประเภทกิจการที่มีศักยภาพในการชำระภาษี และอื่นๆ เพื่อให้การบริหารการจัดเก็บภาษีตามแนวทางใหม่บรรลุตามเป้าหมาย กรมสรรพากรได้กำหนดแนวทางปฏิบัติไว้โดยละเอียดในทุกขั้นตอน โดยออกตรวจสภาพกิจการทุกรายตามลำดับความสำคัญ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เห็นสภาพอาคาร โรงงาน สำนักงาน เครื่องจักร สินค้าคงเหลือ วัตถุดิบคงเหลือ ปริมาณคนงาน ทรัพย์สินอื่นๆ และสภาพของการประกอบกิจการ ให้แน่ใจว่าในการยื่นแบบแสดงรายการฯ และการชำระภาษีของผู้ประกอบกิจการ ถูกต้องตามข้อเท็จจริงในปัจจุบัน และเมื่อได้ตรวจสภาพกิจการแล้ว จะไม่ดำเนินการตรวจสภาพกิจการซ้ำในปีงบประมาณเดียวกัน เว้นแต่มีเหตุอันเชื่อได้ว่าสภาพกิจการเปลี่ยนแปลงไป ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 13 พฤษภาคม 2552 |
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() |