
การมีเงินออม
การที่คนเราจะมีชีวิตที่สุขสบายนั้นจะต้องมีการวางแผนชีวิต ซึ่งในวันนี้คงขออนุญาตคัดลอกบทความส่วนหนึ่งจากหนังสือเรื่องรู้จักใช้ เข้าใจเงิน ของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเขียนโดย ดร.วรากร สามโกเศศ มาฝากไว้เป็นข้อคิดเพื่อสาธารณประโยชน์ด้วยนะคะ ซึ่งบทความดังกล่าว เขียนโดย ดร.วรากร และ The Richest Man in Babylon ซึ่งเขียนโดย G.S. Clason เมื่อ 80 ปีก่อน เป็นหนังสือที่มียอดขายมากกว่า 1.5 ล้านเล่ม หนังสือเล่มนี้สอนเรื่องการสร้างความร่ำรวยด้วยการออมและการลงทุนที่ชาญฉลาดในรูปแบบของนิทาน สถานที่คือ เมืองบาบิโลนของอาณาจักรเมโสโปเตเมีย แหล่งวัฒนธรรมเก่าแก่ของโลกเมื่อประมาณ 5,000 ปีมาแล้ว

เรื่องก็มีอยู่ว่าสองหนุ่มช่างซ่อมล้อรถและนักดนตรีของเมืองนี้มีภรรยาและลูกที่ต้องเลี้ยงดู ทำให้เขาทั้งสองต้องดิ้นรนทำงานหาเงินเพื่อให้ชีวิตอยู่รอด ทั้ง 2 หารือกันว่าทำอย่างไรจึงจะรวยจึงพากันไปถามอาร์กอดคนรวยที่สุดในบาบิโลน
ทั้งคู่ถามอาร์กอดว่า เขามีโชคอย่างไรจึงร่ำรวยเช่นนี้ได้ อาร์กอดตอบว่าการคิดว่าโชคดีคือ ตัวการสำคัญที่ทำให้คนร่ำรวยนั้นผิดถนัด เหตุที่ทั้งสองยากจน เพราะไม่รู้กฎเกี่ยวกับการสร้างความมั่งคั่ง ตัวเขาได้เรียนรู้ความลับของการเป็นคนรวยจากคนให้กู้เงินที่ว่า ส่วนหนึ่งของเงินที่หามาได้ต้องเก็บไว้ให้มันเป็นของเรา
ทั้งสองจึงถามอาร์กอดว่า ก็เงินที่เราหามาได้มันไม่ใช่ของเราทั้งหมดหรอกหรือ อาร์กอดตอบว่าไม่ใช่ เพราะเมื่อมีรายได้ ค่าใช้จ่ายเพื่อการครองชีพและหาความสุขก็จะกินมันไปหมด ตัวเราจะกลายเป็นทาสของงาน มีชีวิตและความสุขบ้างไปวัน ๆ เท่านั้น ถ้าจะให้รายได้บางส่วนเป็นของเราเองอย่างแท้จริงแล้ว ต้องกันส่วนหนึ่งออกมาต่างหากโดยไม่นำไปใช้จ่าย เงินที่กันออกไปนี้ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของรายได้
เงินที่กันไว้นี้เมื่อสะสมหลายปีเข้าก็จะ เป็นก้อนใหญ่และสร้างรายได้ให้เราได้ (เช่น เอาไปให้คนกู้หรือปลูกบ้านเช่า)โดยเราไม่ต้องทำงาน เมื่อเริ่มต้นอาจมีไม่มาก แต่นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญ ที่สำคัญต้องยึดกฎที่ว่า ต้องจ่ายเงินให้ตัวเราเองก่อนเสมอ กล่าวคือ ทำให้ส่วนหนึ่งของรายได้มาเป็นของเรา ทั้งนี้ไม่ว่าจะหามาได้มากหรือน้อยเพียงใด
สิ่งที่อาร์กอดพูดถึงนี้ก็คือ เงินออม นั่นเอง ถ้าคนทำงานปล่อยให้เงินที่หามาได้ถูกใช้จ่ายไปตามยถากรรมแล้วก็ถือว่าเขาไม่ได้เป็นเจ้าของเงินที่หามาได้เลย เพราะเขาไม่ได้จ่ายเงินเป็นรางวัลให้ตัวเองและเก็บไว้เป็นของเขาเอง เงินออมเป็นรางวัลที่ผู้ทำงานต้องกันไว้ให้ตนเองเสมอ ปัจจุบันอัตราที่ควรกันไว้นี้เข้มข้นกว่าสมัยบาบิโลน อาร์กอดสมัยใหม่แนะนำว่าให้กันเงินได้อย่างต่ำร้อยละ 15 ของรายได้ก่อนหักภาษี
การจะมีเงินออมจึงเป็นสิ่งที่ต้องมีวินัย ในการควบคุมใจตนเองในเรื่องของการใช้จ่ายว่า จะยอมสละการใช้จ่ายในปัจจุบันในช่วงที่มีเรี่ยวแรงทำงานเอาเงินนั้นไว้ใช้เมื่อยามแก่เฒ่าที่ไม่มีรายได้ได้อย่างไร เพราะในสังคมปัจจุบันนี้การจะหวังการพึ่งพากันของสมาชิกในครอบครัวเช่นดังในอดีต ก็เป็นไปได้ยาก เพราะโครงสร้างครอบครัวเองก็เปลี่ยนเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น

เงินกับความสุข
ตั้งสติ เก็บสตางค์
ยังไม่จน..อยุ่อย่างจน..จะไม่จน
เก็บเงินทำได้..แถมง่ายนิดเดียว
8 นิสัยช่วยให้เป็นเศรษฐีเงินล้าน
ทำบัญชีรับจ่ายช่วยให้ครอบครัวเป็นสุข

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับ วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม 2552