
ภ.ง.ด.50 ปีนี้มีอะไรใหม่ (2)
2.พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 458) พ.ศ. 2549
เป็นกรณีการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ผู้สนับสนุนการกีฬาตามโครงการตามยุทธศาสตร์ 4 ปีสร้างกีฬาชาติแก่กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 ดังนี้
(1) สำหรับบุคคลธรรมดา ให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนต่างๆ แล้วเป็นจำนวน 1.5 เท่าของรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการกีฬาตามโครงการตามยุทธศาสตร์ 4 ปี สร้างกีฬาชาติ (พ.ศ. 2548 2551) แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเงินได้พึงประเมิน หลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนดังกล่าว ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ถึง พ.ศ. 2551
(2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน-นิติบุคคล ให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่ากับจำนวนเงินหรือมูลค่าของทรัพย์สินเป็นจำนวน 1.5 เท่าของรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการกีฬาตามโครงการตามยุทธศาสตร์ 4 ปี สร้างกีฬาชาติ (พ.ศ. 2548 2551) แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ถึง พ.ศ. 2551
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด ค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการกีฬาในกรณีนี้ ต้องเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อ
-จัดหาอุปกรณ์กีฬาสำหรับการฝึกซ้อมหรือการแข่งขันกีฬา
-ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนานักกีฬาและบุคลากรด้านกีฬา
นอกจากนี้ยังได้มีการยกเว้นภาษีเงินได้ และภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้แก่บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน หรือการขายสินค้าหรือการให้บริการอันเนื่องมาจากการดำเนินการสนับสนุนการกีฬาตามโครงการตามยุทธศาสตร์ 4 ปี สร้างกีฬาชาติ (พ.ศ. 2548 2551) โดย ผู้โอนต้องไม่นำมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินหรือสินค้าซึ่งได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่ายหรือรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
สำหรับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 458) นี้อธิบดีกรมสรรพากรได้กำหนดไว้ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรลงวันที่ 3 สิงหาคม 2549 สรุปได้ดังนี้
1.ต้องเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการจัดหาอุปกรณ์กีฬาซึ่งไม่เป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการของผู้สนับสนุนการกีฬานั้น และต้องไม่ผ่านการใช้งานมาแล้ว สำหรับการฝึกซ้อมหรือการแข่งขันกีฬา หรือเพื่อการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนานักกีฬาและบุคลากรด้านกีฬา
2.ผู้สนับสนุนการกีฬาจะต้องไม่นำ ค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการกีฬาที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นี้ ไปใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคให้แก่กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 428) หรือไม่นำไปหักเป็นรายจ่ายเพื่อการกีฬาตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากรอีก กล่าวคือจะนำไปใช้สิทธิยกเว้นหลายกรณีไม่ได้
3.ต้องไม่นำต้นทุนของทรัพย์สินหรือสินค้าซึ่งได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่ายหรือรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ ของบุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน-นิติบุคคล
4.ผู้ได้รับยกเว้นภาษีต้องมีหลักฐานจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการกีฬาจริง
3.พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 460) พ.ศ. 2549
เป็นกรณีการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการขายทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรที่ใช้ในการประกอบกิจการเพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่ทดแทน ดังนี้
-กรณีบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนหรือการต่อเดิม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจำนวนร้อยละ 25 ของเงินได้ที่ได้จ่ายไป ทั้งนี้ มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักของกิจการ และจัดทำเป็นโครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป และต้องจ่ายเงินเพื่อการลงทุนนั้นภายใน 5 รอบระยะเวลาบัญชีนับแต่รอบระยะเวลา บัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2549 และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรได้ประกาศกำหนดไว้ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 156) ซึ่งสรุปได้ดังนี้
1.ต้องเป็นเงินได้ที่ได้จ่ายซึ่งเป็นมูลค่าของโครงการที่ได้จัดทำเป็นโครงการที่มีมูลค่า ตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป โดยมูลค่าของโครงการนั้น ได้แก่ มูลค่าของทรัพย์สินดังต่อไปนี้
(1) เครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องตกแต่ง และเฟอร์นิเจอร์ บรรดาที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจหลักของกิจการ
(2) โปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือซื้อลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ มาใช้ในธุรกิจหลักของกิจการของบริษัท
(3) ยานพาหนะที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยานพาหนะนั้นๆ ในราชอาณาจักรที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจหลักของกิจการ แต่ไม่รวมถึงรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตที่มิใช่ได้มาเพื่อนำออกให้เช่า ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของกิจการ มูลค่าของทรัพย์สินนี้ ให้หมายถึงมูลค่าของต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินถึงวันที่ทรัพย์สินนั้นใช้การได้ตามประสงค์
2.ทรัพย์สินซึ่งมูลค่าของทรัพย์สินนั้ รวมเป็นมูลค่าของโครงการ ต้องเป็นไปตาม หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) ต้องไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน
(2) ต้องสามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินได้ และต้องได้ทรัพย์สินนั้นมาและอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้การได้ตามประสงค์ภายใน 5 รอบระยะเวลาบัญชีนับแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2549 เป็นต้นไป
(3) ต้องหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินนั้นเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี นับแต่วันที่ทรัพย์สินอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้การได้ตามประสงค์
(4) ต้องอยู่ในราชอาณาจักร แต่ไม่รวมถึงกรณีทรัพย์สินประเภทยานพาหนะต้องเป็นทรัพย์สินที่ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยานพาหนะนั้นๆ ในราชอาณาจักร
(5) ต้องไม่นำไปใช้ในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งก่อให้เกิดรายได้ที่ได้ รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
(6) ต้องไม่นำไปใช้ในกิจการ ซึ่งก่อให้เกิดรายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกา ที่ออกตามความในประมวล-รัษฎากร ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
(7) ต้องไม่ใช่ทรัพย์สินในกรณีดังต่อไปนี้ ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้น
(ก) ทรัพย์สินอันเกิดจากรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 297) พ.ศ. 2539
(ข) เรือลำใหม่ที่ซื้อทดแทนเรือลำเก่าซึ่งใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมกิจการพาณิชยนาวีตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 299) พ.ศ. 2539
(ค) อุปกรณ์ประหยัดพลังงานที่ซื้อทดแทนอุปกรณ์เดิมซึ่งใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ตามมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานตามพระราช-กฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 436) พ.ศ. 2548
(ง) ทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรที่ใช้ในการประกอบกิจการที่ซื้อทดแทนเครื่องจักรเก่าที่ใช้ในการประกอบกิจการซึ่งใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรการขายเครื่องจักรเก่าเพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่ทดแทนตามพระราช-กฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 460) พ.ศ. 2549
3.การใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายในกรณีนี้ ให้บริษัทมีสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวนร้อยละ 25 ของเงินได้ที่ได้จ่ายซึ่งเป็นมูลค่าของโครงการ และเป็นเงินได้ที่จ่ายไปจริง โดยบริษัทได้จ่ายเงินได้ดังกล่าวไปในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้มีสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และต้องมีหลักฐานการจ่ายเงินที่ได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
-กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วไป ให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการขายทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรที่ใช้ในการประกอบกิจการเพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่ทดแทน ทั้งนี้ มีเงื่อนไขว่าบริษัทจะต้องไม่นำมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือของเครื่องจักรที่ขายมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ทั้งนี้ เฉพาะการขายที่ได้กระทำในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2549 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2553 และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรได้ประกาศกำหนดไว้ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 157) ซึ่งสรุปได้ดังนี้
1.เครื่องจักรที่ขายต้องมีหลักฐานการ ได้มา ไม่ว่าจะเป็นใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษี ใบส่งสินค้า ใบแจ้งหนี้ สัญญาซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน บัญชีทรัพย์สิน หรือเอกสารอื่นใดในทำนองเดียวกัน และเครื่องจักรใหม่ที่ซื้อทดแทนต้องเป็นประเภทเดียวกันกับเครื่องจักรที่ที่ขาย โดยจะต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตหรือการให้บริการที่ดีขึ้น หรือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตหรือการให้บริการของกิจการ และเครื่องจักรใหม่ที่ซื้อมาทดแทนนั้นต้องไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน
2.จะต้องซื้อเครื่องจักรใหม่ทดแทนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ขายเครื่องจักรเดิม หรือในกรณีซื้อเครื่องจักรใหม่ก่อนก็จะต้องขายเครื่องจักรเดิมภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้ซื้อเครื่องจักรใหม่
3.เครื่องจักรเดิมที่ขายเพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่ทดแทน ต้องไม่ใช่เครื่องจักรในกรณีดังต่อไปนี้
(ก) เครื่องจักรที่ใช้ในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
(ข) เครื่องจักรที่ใช้ในกิจการซึ่งก่อให้เกิดรายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติ-บุคคลตามพระราชกฤษฎีกา ที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
(ค) เครื่องจักรที่เกิดจากรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 297) พ.ศ. 2539
(ง) เครื่องจักรซึ่งเป็นอุปกรณ์ประหยัดพลังงานที่ซื้อทดแทนอุปกรณ์เดิมซึ่งใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 436) พ.ศ. 2548
4.พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 462) พ.ศ. 2549
เป็นกรณีการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดในกรณีที่ลูกหนี้ได้รับความเสียหายจากธรณีพิบัติภัย สึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 และได้ลงทะเบียนกับศูนย์หรือหน่วยงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยของทางราชการ รวมทั้งผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ ในท้องที่จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดระนอง และจังหวัดสตูล ดังนี้
1.ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ลูกหนี้ที่ประสบธรณีพิบัติภัยของสถาบันการเงิน สำหรับเงินได้ ที่ได้รับจากการปลดหนี้ของสถาบันการเงิน อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ซึ่งดำเนินการตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้าง หนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
2.ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่ลูกหนี้ที่ประสบธรณีพิบัติภัยของสถาบันการเงิน และสถาบันการเงิน สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้าหรือการให้บริการและการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินซึ่งดำเนินการตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
3.ยกเว้นภาษีเงินได้ ให้แก่ลูกหนี้ที่ประสบธรณีพิบัติภัยของเจ้าหนี้อื่น สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการปลดหนี้ของเจ้าหนี้อื่น อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ซึ่งดำเนินการโดยนำหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดมาใช้โดยอนุโลม
4.ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่ลูกหนี้ที่ประสบธรณีพิบัติภัยของเจ้าหนี้อื่น และเจ้าหนี้อื่น สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้าหรือการให้บริการ และการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของเจ้าหนี้อื่นซึ่งดำเนินการโดยนำหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดมาใช้โดยอนุโลม
5.ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่ลูกหนี้ที่ประสบธรณี พิบัติภัยของสถาบันการเงิน สำหรับเงินได้หรือรายรับที่ได้รับจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ซึ่ง ลูกหนี้ดังกล่าวนำมาจำนองเป็นประกันหนี้ต่อสถาบันการเงิน ให้แก่ผู้อื่นซึ่งมิใช่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน และการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว โดยเงินได้นั้นต้องนำไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินซึ่งดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระอยู่กับสถาบันการเงินหรือมีภาระผูกพันตามสัญญาประกันหนี้กับสถาบันการเงิน ทั้งนี้การยกเว้นภาษีข้างต้นจำกัดเฉพาะการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้าหรือการให้บริการ และการกระทำตราสารที่ได้กระทำในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2548 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2549
สิทธิประโยชน์ด้านอัตราภาษี
1.พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 454) พ.ศ. 2549
เป็นกรณีการลดอัตราภาษีเงินได้ และยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังนี้
-ลดอัตราภาษีเงินได้ คงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ ให้แก่ธนาคารพาณิชย์สำหรับเงินได้จากการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศเพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
-ยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นดอกเบี้ยเงินฝากหรือดอกเบี้ยเงิน กู้ยืมที่ได้รับจากธนาคารพาณิชย์ เฉพาะการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศเพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศ ให้แก่
(1) บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย และมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ
(2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย
(3) ธนาคารต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงธนาคารต่างประเทศที่มีสาขาหรือสำนักงานผู้แทนในประเทศไทย
-ยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้ดังต่อไปนี้
(1) เงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากเงินกำไร หรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรที่ธนาคารพาณิชย์จำหน่ายออกไปจากประเทศไทย ตามมาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ เฉพาะที่ได้จากการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศเพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศ
(2) ค่าธรรมเนียมที่ธนาคารพาณิชย์ได้รับจากการเป็นผู้จัดการในการจัดหาเงินกู้ ในลักษณะการร่วมให้กู้ โดยเงินกู้ดังกล่าวได้ จากการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศเพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศ รวมถึงค่าธรรมเนียมอื่นที่เกี่ยวกับการร่วมให้กู้นั้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
-ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับรายรับจากการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศเพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศ ให้แก่ธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่เป็นรายรับตามมาตรา 91/5 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
-ยกเว้นอากรแสตมป์ ให้แก่ธนาคารพาณิชย์ เฉพาะกรณีที่ธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ที่ต้องเสียอากรแสตมป์จากการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศเพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศ
เนื่องจากเดิมได้มีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรแก่ผู้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจ ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 16 กันยายน 2535 แต่ปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจ ได้เปลี่ยนแปลงไป จึงได้มีการปรับปรุงการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรแก่ผู้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจใหม่ โดยยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษี ตามประกาศกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 16 กันยายน 2535 เสีย แต่ยังคงให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรแก่ธนาคารพาณิชย์ซึ่งกู้ยืมเงินตราจาก ต่างประเทศมาให้กู้ยืมในต่างประเทศ และปรับปรุงการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ธนาคารพาณิชย์สำหรับเงินได้จากการรับฝากหรือการ กู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศเพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศ รวมทั้งปรับปรุงการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้แก่บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทยและมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย ต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรแก่บุคคลดังกล่าวสำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นดอกเบี้ยเงินฝาก หรือดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ได้รับจากธนาคารพาณิชย์เฉพาะการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศเพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศ
ซึ่งในเรื่องนี้ กรมสรรพากรได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการลดอัตราภาษีเงินได้ของธนาคารพาณิชย์ สำหรับเงินได้จากการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศเพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศ ไว้ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 154) สรุปได้ดังนี้
(1) กรณีธนาคารพาณิชย์มีทั้งรายได้จากกิจการที่ได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้และรายได้จากกิจการที่ต้องเสียภาษีในอัตราปกติ ให้ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของรายได้แต่ละกิจการแยกต่างหากจากกัน
(2) กรณีธนาคารพาณิชย์มีทั้งรายได้จากกิจการที่ได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้และรายได้จากกิจการที่ต้องเสียภาษีในอัตราปกติ หากรายจ่ายใดไม่สามารถแยกกันได้โดยชัดแจ้งว่าเป็นรายจ่ายของกิจการใด ให้ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวเฉลี่ยรายจ่ายตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
(2.1) การคำนวณรายจ่าย เช่น รายจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าก่อสร้างอาคาร เป็นต้น ให้ธนาคารพาณิชย์เฉลี่ยรายจ่ายนั้นตามส่วน ของรายได้จากกิจการที่ได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้และรายได้จากกิจการที่ต้องเสียภาษีในอัตราปกติ
(2.2) กรณีที่ธนาคารพาณิชย์เห็นว่า การคำนวณรายจ่ายโดยวิธีอื่นจะถูกต้องตามความเป็นจริงมากกว่า หรือมีความเหมาะสม มากกว่าการคำนวณตามหลักเกณฑ์ข้อ (2.1) ธนาคารพาณิชย์อาจขออนุมัติเพื่อนำหลักเกณฑ์อื่นนั้นมาใช้แทนได้ โดยทำเป็นหนังสือแสดงเหตุผลของการขอเปลี่ยนแปลงยื่นต่ออธิบดี และเมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีแล้ว ให้ถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่อธิบดีกำหนดเป็นต้นไป
(3) ให้ธนาคารพาณิชย์ยื่นรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล พร้อมทั้งบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน ภายใน 150 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ตามแบบที่อธิบดีกำหนด และยื่นรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน-นิติบุคคลภายใน 2 เดือนนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลา 6 เดือนนับแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชี ตามแบบที่อธิบดีกำหนด
(4) กรณีธนาคารพาณิชย์มีทั้งรายได้จากกิจการที่ได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้และรายได้จากกิจการที่ต้องเสียภาษีในอัตราปกติ ให้ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และให้ใช้เลขประจำตัวผู้เสียอากรเดียวกัน โดยให้แยกกระดาษทำการซึ่งแสดงรายละเอียดการคำนวณกำไรขาดทุนระหว่างรายได้จากกิจการที่ได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้และรายได้จากกิจการที่ต้องเสียภาษีในอัตราปกติออกต่างหากจากกัน
นอกจากนี้กรมสรรพากรยังได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ของธนาคารพาณิชย์ สำหรับค่าธรรมเนียมที่ธนาคารพาณิชย์ได้รับจาก การเป็นผู้จัดการในการจัดหาเงินกู้ในลักษณะการร่วมให้กู้ไว้ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 155) สรุปได้ว่า
(1) เงินกู้ในลักษณะการร่วมให้กู้ต้องเป็นเงินตราต่างประเทศหรือเงินบาทอันมีแหล่งที่มาจากต่างประเทศ และต้องเป็นการร่วมให้กู้เพื่อนำไปให้กู้ยืมในต่างประเทศ
(2) ในการจัดหาเงินกู้ในลักษณะการร่วมให้กู้หากมีผู้จัดการรายเดียว ผู้นั้นต้องประกอบกิจการการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศเพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศ และหากมีผู้จัดการหลายรายผู้จัดการเหล่านั้นต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศเพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศ
(3) การดำเนินการด้านธุรการเพื่อนำไปสู่การตกลงทำสัญญาร่วมให้กู้ ตลอดจนการจัดทำสัญญาร่วมให้กู้ต้องกระทำในประเทศไทย
(4) ค่าธรรมเนียมที่ได้รับจากการเป็น ผู้จัดการในการจัดหาเงินกู้ในลักษณะการร่วม ให้กู้ต้องมีเอกสารหลักฐานที่ใช้ประกอบการลงบัญชีที่พิสูจน์ได้
บทสรุป
สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่กรมสรรพากรได้กำหนดเพื่อให้ประโยชน์แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรที่ได้กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ นอกเหนือไปจากนี้แล้ว ยังคงมีสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามประมวลรัษฎากรอีกเป็นจำนวนมาก ที่จะให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับประโยชน์ในด้านภาระภาษี และหากกิจการได้ศึกษาทำความเข้าใจและเสียภาษีได้อย่างถูกต้อง ก็จะยิ่งทำให้กิจการมีกำไรหลังจากการชำระภาษีจำนวนมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากิจการให้ก้าวหน้ารวมทั้งสร้างความมั่นคงให้แก่ระบบเศรษฐกิจ โดยรวมได้ในที่สุด
กลับไป หน้าแรก ภ.ง.ด.50 ปีนี้มีอะไรใหม่(1) คลิกที่นี่

บทความโดย : มงคล ขนาดนิด ที่มา : สรรพากรสาสน์ ฉบับเดือน มีนาคม 2550