บริษัท พัฒนกิจ บัญชี ภาษีและฝึกอบรม จำกัด
Pattanakit Accounting Tax & Training Co., Ltd.
59/275 ซอยสุวินทวงศ์ 44 ถนนสุวินทวงศ์ แขวงลำผักชี เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร 10530
โทรศัพท์ 094-6574441 , 099-4567715 , 092-4634120, 061-0382531
Website :https://www.pattanakit.net / Email : infoservice2126@gmail.com

คาถาป้องกันสรรพากร ห้ามขอคืนภาษี
คาถาป้องกันสรรพากร ห้ามขอคืนภาษี
นักปราชญ์ผู้หนึ่งเคยกล่าวไว้ว่าสิ่งที่คนเราหนีไม่พ้นคือ ความตายและภาษี แต่บรรดาเจ้าของกิจการมีความเชื่อว่าถ้าไม่ถูกสรรพากรตรวจสอบก็จะไม่ต้องเสียภาษีเกินกว่าจำนวนที่ต้องการจะเสีย และพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับสรรพากรโดยมีคาถาป้องกันสรรพากรที่ท่องก่อนนอนทุกคืน คือ ห้ามขอคืนภาษี ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่าเมื่อใดก็ตามที่มีการขอคืนภาษี กิจการจะต้องถูกตรวจสอบจากกรมสรรพากรให้แน่ใจว่าไม่มีภาระภาษีอื่นๆ ค้างอยู่ จึงจะคืนเงินให้ หรือถ้าตรวจสอบแล้วพบว่ายังชำระภาษีไม่ครบถ้วนก็จะถูกเรียกเก็บเพื่อนำไปหักกลบกับจำนวนที่ขอคืน บ่อยครั้งที่พบว่าหลังจากหักกลบเรียบร้อยแล้ว กลับกลายเป็นว่า กิจการที่ไปขอคืนภาษีต้องเสียภาษีเพิ่มจากการตรวจสอบพบความผิดมากกว่าภาษีที่ขอคืนอีกหลายเท่า ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่เจ้าของกิจการจะสอนลูกสอนหลานต่อๆ กันมาว่า การขอคืนภาษีก็คือการเชิญสรรพากรมาตรวจสอบเพื่อเก็บภาษีเพิ่มจากกิจการนั่นเอง ที่เปิดประเด็นดังกล่าวขึ้นมาเพราะอยากจะบอกว่าความเชื่อดังกล่าว ไม่เป็นจริงแล้วเพราะเมื่อเร็วๆ นี้ ท่านอธิบดีกรมสรรพากรคนปัจจุบันได้ออกมากล่าวว่า ขณะนี้ทางกรมฯได้ตรวจสอบจากงบการเงินที่กิจการต่างๆได้ยื่นไว้ พบว่ามีกิจการกว่าหกพันรายที่มีการจ่ายภาษีเกินแต่ไม่ยอมขอคืน เพราะสงสัยว่าจะมีสิ่งใดซ่อนเร้นอยู่ในบัญชีจึงกลัวถูกตรวจสอบทำให้ไม่กล้าขอคืน กรมฯจึงมีนโยบายที่จะเรียกกิจการเหล่านี้มาตรวจสอบเพื่อคืนภาษีให้ การที่กิจการจะมีการจ่ายภาษีเกินนั้นเกิดขึ้นได้หลายกรณี เช่น กิจการนั้นอยู่ในธุรกิจบริการซึ่งต้องถูกหัก ณ.ที่จ่าย จากลูกค้า พอถึงสิ้นปียื่นงบฯต่อกรมสรรพากรว่าขาดทุน ไม่มีภาษีต้องจ่าย ภาษีที่ถูกหัก ณ.ที่จ่ายไว้ตลอดปีจึงต้องแสดงเป็นภาษีที่จ่ายเกิน หรือกรณีกิจการ BOI ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ถึงแม้ยื่นงบสิ้นปีมีกำไรแต่ก็ไม่ต้องเสียภาษีถ้ากิจการมีภาษีถูกหัก ณ.ที่จ่ายไว้ในระหว่างปี ก็จะต้องแสดงเป็นภาษีที่จ่ายเกินเช่นเดียวกัน จากนโยบายดังกล่าวของกรมสรรพากร จะเห็นได้ว่า คาถาป้องกันสรรพากรบทเก่าใช้ไม่ได้ผลแล้ว กิจการไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่จะถูกตรวจสอบด้วยการท่องคาถาบทใหม่ว่า ทำระบบบัญชีให้โปร่งใส เสียภาษีถูกต้องแต่ประหยัดด้วยการวางแผนภาษี ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์กับตนเองสมัยที่ทำงานให้บริษัท BOI แห่งหนึ่งซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติ ที่มีระบบบัญชีที่โปร่งใสและมีการเสียภาษีที่ถูกต้องครบถ้วนแต่ประหยัด ด้วยการวางแผนภาษี เราได้พบว่าบริษัทฯในเครือแห่งหนึ่งซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ฯ มีภาษีถูกหัก ณ.ที่จ่ายไว้ ตลอดปีประมาณ หนึ่งล้านบาท ซึ่งต้องแสดงเป็นภาษีที่จ่ายเกินใน แบบฟอร์มภงด. 50 ที่ยื่นต่อสรรพากรประจำปีนั้น หลังจากได้ปรึกษาหารือกันว่าเราจะขอคืนเพราะเงินจำนวนหนึ่งล้านบาทไม่ใช่จำนวนน้อยๆ และเราก็มั่นใจว่าเรามีความพร้อมที่จะถูกตรวจสอบไม่ว่าจะเป็นด้านความครบถ้วนของเอกสารหรือความถูกต้องของการเสียภาษี แต่เพื่อความมั่นใจเราจึงสอบถามไปยังบริษัทผู้สอบบัญชีของเราซึ่งเป็นหนึ่งใน Big five ในขณะนี้ ว่ามีความเห็นอย่างไรกับการตัดสินใจของเรา คำตอบที่ได้รับก็คือ ให้ลองทบทวนดูใหม่เพราะในประเทศนี้ไม่มีใครเขากล้าขอคืนภาษีกันหรอก เราก็มานั่งคุยกันใหม่กับเจ้านายแล้วก็ยังได้ข้อสรุปเหมือนเดิมว่าเราจะขอคืนภาษี จากนั้นผู้เขียนก็ไปพบเจ้าหน้าที่สรรพากร (ซึ่งเขตที่เราอยู่นั้นเป็นต่างจังหวัดไม่ใช่กรุงเทพฯ) เพื่อขอคำแนะนำถึงขั้นตอนและวิธีปฏิบัติในการขอคืนภาษี ซึ่งท่านก็ได้อธิบายเป็นอย่างดี ก่อนจะลากลับท่านก็ได้ถามผู้เขียนมาประโยคหนึ่งซึ่งยังจำได้ดีจนทุกวันนี้ว่า คุณแน่ใจหรือ ไม่มีใครเขากล้าขอคืนภาษีกันหรอก เมื่อเล่าให้เจ้านายซึ่งเป็นชาวต่างชาติฟัง เขาก็ประหลาดใจมากเลย กับคำตอบที่เหมือนกันจากหลายๆ แหล่ง แต่เราก็มาสรุปกันว่าสมมุติฐานดังกล่าวคงมาจากการที่ กิจการส่วนใหญ่ในประเทศไทยมีจุดอ่อนในเรื่องระบบบัญชีและขาดความโปร่งใสในการเสียภาษี จึงทำให้เกิดเป็นวัฒนธรรมประจำใจของทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเจ้าของกิจการเอง ผู้ตรวจสอบบัญชี หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่สรรพากร ว่าไม่ควรขอคืนภาษี สรุปว่าในที่สุดเราก็ยื่นขอคืนภาษีเพราะมีความมั่นใจกับความพร้อมของระบบบัญชีของเรา จำได้ว่าใช้เวลากว่าปีกว่าเจ้าหน้าที่จะมาตรวจสอบและหลังจากตรวจสอบเราได้เงินคืนมาเก้าแสนกว่าบาทจากยอดขอคืนหนึ่งล้านบาทซึ่งถือว่าเกินคุ้มเพราะนอกจากเราจะได้เงินคืนเรายังได้ผู้ทรงคุณวุฒิจากกรมสรรพากรมา Internal Audit ระบบบัญชีของเรา เพื่อให้รูว่าสิ่งที่เราทำไปถูกต้องหรือไม่ โดยไม่เสียค่าบริการแม้แต่บาทเดียวซ้ำยังแถมเงินกลับมาเสียอีก นี่คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าถ้ากิจการมีการวางแผนภาษีอย่างดีเพื่อให้เสียภาษีอย่างถูกต้องแต่ประหยัด และเตรียมข้อมูลทางบัญชีให้พร้อม เราก็จะเป็นกิจการหนึ่งที่สามารถอาจหาญไปขอคืนภาษีได้อย่างมั่นใจว่าจะได้ภาษีคืน เพราะตามนโยบายใหม่ของกรมฯทำให้คาถาเดิมๆ นั้นใช้ไม่ได้ผลเสียแล้ว เราไม่มีทางหลีกเลี่ยงเสียแล้วนอกจากหันมาเผชิญหน้าด้วยการทำตัวให้พร้อมอยู่ตลอดเวลา ส่วนจะทำอย่างไรนั้น โปรดติดตามตอนต่อไปในสัปดาห์หน้า บทความโดย : ศิริรัตน์ โชติเวชการ ที่มา : หนังสือพิมพ์ Business Thai [8-4-2002] |
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() |