บริษัท พัฒนกิจ บัญชี ภาษีและฝึกอบรม จำกัด
Pattanakit Accounting Tax & Training Co., Ltd.
59/275 ซอยสุวินทวงศ์ 44 ถนนสุวินทวงศ์ แขวงลำผักชี เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร 10530
โทรศัพท์ 094-6574441 , 099-4567715 , 092-4634120, 061-0382531
Website :https://www.pattanakit.net / Email : infoservice2126@gmail.com

ความสุขจากการไม่มี
ความสุขจากการไม่มี
วันนี้ ขอชวนคุณผู้อ่านทุกท่านลองสำรวจข้าวของ และทรัพย์สินต่างๆ ที่ท่านมีอยู่ในความครอบครอง ลองมองไปรอบๆ ตัวเองดูนะคะว่า ในบ้านของเรา ที่โต๊ะทำงานของเรา หรือในรถของเรามีข้าวของอะไรอยู่บ้าง ทีวี ตู้เย็น วิดีโอ ซีดี ดีวีดี พัดลม โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ เครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน เครื่องปรับอากาศ เครื่องฟอกอากาศ ตู้ โต๊ะ เตียง รวมไปถึงเสบียงอาหาร สบู่ แชมพู ยาสีฟัน เสื้อผ้า เครื่องประดับ ของตกแต่ง จิปาถะ ก็คงต้องยอมรับแต่โดยดีว่าเรามีข้าวของเครื่องใช้เยอะแยะมากมายเหลือเกิน สารพัดสารพัน จนลิสต์กันไม่หวาดไม่ไหว ทีนี้ ลองสำรวจเพิ่มอีกนิดนะคะว่า แล้วเรามีโทรทัศน์กี่เครื่อง มีโทรศัพท์กี่รุ่น มีเสื้อผ้ากี่ชุด มีนาฬิกากี่เรือน มีรองเท้ากี่คู่ มีชุดรับแขกกี่ชุด มีรถยนต์กี่คัน เพียงพอต่อการใช้งานหรือไม่? แปลกแต่จริง ทั้งที่เราก็มีข้าวของ มีเครื่องใช้ไม้สอยมากมาย เรากลับรู้สึกว่ายังมีข้าวของไม่เคยพอ ทั้งที่หากพิจารณาตามการใช้งานจริง เราน่าจะมีข้าวของเกินความจำเป็นกันแทบทุกบ้าน ทำไมเรายังอยากซื้อโน่น ซื้อนี่ อยากได้โน่น ได้นี่อยู่ตลอดเวลา เพราะเรายังไม่มี? เพราะเรายังมีไม่พอ? หรือเพราะเรารู้สึกว่าไม่พอกันแน่? อย่างเราซื้อนาฬิกาเรือนที่สี่ เรือนที่ห้า เพราะเรายังไม่มีนาฬิกาก็คงจะไม่ใช่ ทั้งที่เรามีนาฬิกาแล้ว แต่เราก็ยังอยากมีนาฬิกาอีก เพราะนาฬิกาเรือนใหม่สวย ทันสมัยกว่าเรือนเดิมที่มีอยู่ เพราะนาฬิกาลดราคา เพราะได้ของแถม หรือจะเพราะเหตุใดก็แล้วแต่ การซื้อนาฬิกาเรือนที่สี่ก็ต้องถือว่าเกินความจำเป็นอยู่ดี ทั้งที่เราก็มีข้าวของมากมาย แต่ทำไมเรายังไม่มีความสุขสักที คงเป็นเพราะคนส่วนใหญ่มีความสุขจาก การได้มา มากกว่า การได้มี ลองนึกถึงตอนที่ได้ข้าวของมาใหม่ๆ เราก็มีความสุข สดชื่นดี พอเวลาผ่านไปไม่นาน เราก็มักจะเบื่อ ความสุข ความตื่นเต้นจากการได้มาก็เริ่มลดลง และหมดไปในที่สุด ทั้งที่ของชิ้นนั้นก็ยังอยู่กับเรา คงเป็นเพราะวัตถุสิ่งของทุกชนิดต่างอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ ที่ล้วนต้องเก่า ต้องเสื่อมสภาพไปตามการใช้งาน หรือตามกาลเวลา คงจะดีไม่น้อยหากเราสามารถสร้างความสุขจาก การได้มี มากกว่า การได้มา การตั้งใจสำรวจข้าวของที่เรามีอยู่อย่างมีสติ จะช่วยให้เรารู้ว่าเรา มี อะไรแล้วบ้าง ส่วนที่ยัง ไม่มี เราจำเป็น ต้องมี หรือไม่? ถ้าสิ่งที่ มี อยู่เพียงพอแล้ว เราก็น่าจะมี ความสุขจากการมี ได้ไม่ยาก และยังเป็นความสุขที่ยาวนานกว่า ความสุขจากการได้มา อยู่มากโข ไม่ต้องวิ่งหาของใหม่ๆ เพื่อให้เกิดการ ได้มา บ่อยๆ แถมพอหาของใหม่มาไม่ได้ก็ทุกข์ ยิ่งในยุคข้าวของแพงๆ แบบนี้ โอกาสที่จะ หาไม่ได้ ยิ่งมากขึ้น แม้ว่า ความสุขจากการได้มี จะเป็นความสุขที่ยาวนานกว่า ความสุขจากการได้มา แต่ก็ยังเป็นความสุขที่ต้องยังอาศัยวัตถุหรือปัจจัยภายนอกที่อยู่เหนือการควบคุมของเรา พอข้าวของหมดไป หายไป หรือเสื่อมสภาพไป ความสุขจากการได้มี ก็คงจะลดน้อยถอยลงไปด้วย ดังนั้น ใครต้องการมีความสุขมากขึ้น และยาวนานมากขึ้น คงต้องลองสร้าง ความสุขจากการแบ่งปัน หรือ ความสุขจากการให้ ดูเพราะผู้ให้หรือผู้แบ่งปันย่อมสุขใจกว่าผู้รับ ความสุขแบบนี้สร้างได้โดยไม่ต้องใช้เงิน ใช้ทองมากมาย เราสามารถ ให้ หรือ แบ่งปัน ได้หลากหลายวิธี ใครไม่มีสตางค์มากมายก็ช่วยแบ่งปันความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ แรงกาย แรงใจได้ เพราะผู้ด้อยโอกาส ผู้ขาดแคลนยังมีอีกมากในสังคมไทย เป็นที่ทราบกันดีว่า ความสุข ความปีติจากการให้ย่อมจะอยู่ยงคงกระพันกว่าความสุขจากการได้ และการมีมากมายหลายเท่าตัวนัก หากมองพัฒนาการในการสร้างความสุขให้กับตัวเราเอง จะเห็นได้ชัดเจนว่า เราสามารถเปรียบเทียบความยั่งยืนของความสุขได้โดยเรียงลำดับจาก ความสุขจากการได้ ความสุขจากการมี และความสุขจากการให้ แต่หากพิจารณาให้ลึกซึ้งแล้วจะพบว่า ความสุขที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ยังคงต้องพึ่งพิง อิงอาศัยปัจจัยจากภายนอกทั้งสิ้น กระทั่งการสร้างความสุขจากการให้ ก็ยังต้องอาศัยผู้รับเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้ การให้ สำเร็จลุล่วง ไปด้วยดี ความสุขที่เกิดขึ้นเหล่านี้จึงมีความไม่แน่นอน มีความผันผวนสูง หากปัจจัยเกื้อหนุนความสุขหมดไป ความสุขก็จะหมดไปด้วย เราจึงไม่สามารถมีความสุขที่เต็มเปี่ยมอยู่ในใจได้ตลอดเวลา เคล็ดลับง่ายๆ ที่จะสร้างความสุขได้อย่างยั่งยืน จึงต้องจัดการจิตใจให้เป็นอิสระจากวัตถุ จากบุคคล จากการชื่นชม การสรรเสริญยินดี หรือต้องรู้จักปล่อยวาง และต้องสร้างความสุขให้เกิดขึ้นเองจากภายใน จากความเป็นตัวเรา จากคุณค่าของตัวเองให้ได้ เราจะได้ไม่ต้องพึ่งพิงหรืออาศัยปัจจัยภายนอกใดๆ มาเป็นหัวเชื้อในการสร้างความสุข เราจะมีความสุขได้จากความเป็นอิสระจากวัตถุสิ่งของ จากบุคคลอื่น จากสังคม จากทุกสิ่งทุกอย่าง หรือเป็น ความสุขจากการไม่มี นั่นเอง ส่วนวัตถุสิ่งของก็ถือเป็นของแถม ของกำนัลเพื่อเพิ่มสีสันให้ชีวิตในบางโอกาสเท่านั้น ไม่มี ไม่เป็นไร ใครที่สามารถมีความสุขได้จากการไม่ได้ ไม่มี ก็ไม่ทุกข์ ต้องถือเป็นสุดยอดเพราะสามารถมองทะลุ วัตถุนิยมได้อย่างเฉียบขาดจริงๆ ความสุขจากการไม่มี แบบนี้จึงจะเป็นความสุขที่สมบูรณ์แบบตามหลักพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง บทความโดย : อัจฉรา โยมสินธ์ atchara.y@bu.ac.th ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 13 กรกฎาคม 2551 |
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() |