ผู้สอบบัญชีภาษีอากร (Tax Auditor)
ด้วยเหตุผลที่ว่า ในประเทศไทยมีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตไม่เพียงพอที่จะให้บริการแก่ห้างหุ้นส่วนขนาดเล็ก ซึ่งได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล (ขนาดเล็ก) ที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีปีใดไม่ถึง 30 ล้านบาท และมีทรัพย์สินรวมในรอบระยะเวลาบัญชีปีใดไม่ถึง 30 ล้านบาท นั้น เป็นกิจการที่งบการเงินยังไม่มีนัยสำคัญหรือมีจำนวนเงินที่มากเพียงพอแก่การที่ต้องตรวจสอบและให้ความเห็นหรือรับรองว่า บัญชีได้จัดทำตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป กรมสรรพากรจึงอดรนทนไม่ได้ที่จะต้องจัดให้มีการตรวจสอบและรับรองบัญชีตามประมวลรัษฎากร
อาศัยอำนาจตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร อธิบดีกรมสรรพากร โดย อนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงได้ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี เรื่อง กำหนด ระเบียบเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี ลงวันที่ 12 มี.ค. 2544 กำหนดให้ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดเล็กดังกล่าว ต้องมีการตรวจสอบและรับรองบัญชีเพื่อประโยชน์แห่งการเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่สิ้นสุดในหรือหลังวันที่ 31 ธ.ค. 2545 เป็นต้นไป ซึ่งกระทำโดย ผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี เป็นผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ โดยให้ใช้บังคับทั่วราชอาณาจักร
1. ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (Certified Public Accountant: CPA) ตามกฎหมายเกี่ยวกับการสอบบัญชี เป็นผู้ได้รับอนุญาตจากอธิบดีให้เป็นผู้ตรวจสอบและรับรอง บัญชี สำหรับบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามประกาศประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี ลงวันที่ 19 มิ.ย. 2523
2. ผู้สอบบัญชีภาษีอากร (Tax Auditor: TA) ที่ขอขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมสรรพากร ให้เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีเฉพาะห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดให้งบการเงินได้รับการตรวจสอบและแสดงความเห็น โดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามกฎกระทรวงออกตามความในพ.ร.บ.การบัญชี พ.ศ. 2543
อย่างไรก็ตาม หากในรอบระยะเวลาบัญชีปีใดห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วเกินกว่า 5 ล้านบาท และหรือมีรายได้ถึง 30 ล้านบาท และหรือมีทรัพย์สินรวมถึง 30 ล้านบาท ต้องใช้ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบและให้ความเห็นในงบดุลด้งเข่น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วไป
----------------------------------------------------------------
หน้าที่ของผู้สอบบัญชีภาษีอากร
ตามที่อธิบดีกรมสรรพากร อาศัยอำนาจตามมาตรา 3 แห่งประมวลรัษฎากร โดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี เรื่อง กำหนด ระเบียบเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี ลงวันที่ 12 มีนาคม 2544 กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทุกขนาดกิจการ ต้องมีการตรวจสอบและรับรองบัญชีเพื่อประโยชน์แห่งการเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี ที่สิ้นสุดในหรือหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2545
1.ผู้สอบบัญชีภาษีอากร (TA) ที่ขอขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมสรรพากร ให้เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีเฉพาะห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เกิน 5,000,000 บาท และมีรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีปีใดไม่เกิน 30,000,000 บาท และมีทรัพย์สินรวมในรอบระยะเวลาบัญชีปีใดไม่เกิน 30,000,000 บาท หรือห้างหุ้นส่วนขนาดเล็ก
2.ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA) เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีสำหรับบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ทั้งที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ทุกขนาดกิจการ รวมทั้งกิจการร่วมค้า
หน้าที่สำคัญในการตรวจสอบและรับรองบัญชีที่สำคัญก็คือ ตรวจสอบและรับรองว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีการจัดทำบัญชีให้เป็นไปตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปหรือมาตรฐานการบัญชี หรือไม่ อันเป็นหลักการทั่วไปตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี
เนื่องเพราะ กรมสรรพากรมีแนวคิดพื้นฐานว่า หากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดจัดทำบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีแล้ว ก็ชอบที่จะเสียภาษีอากรให้ถูกต้องเช่นเดียวกัน
แต่ความจริงก็เป็นความจริง ทั่วโลกต่างรับรู้รับทราบว่า การจัดทำบัญชีตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปนั้น หาได้สะท้อนว่า กิจการนั้นเป็นกิจการที่ซื่อสัตย์ โปร่งใส ตรวจสอบได้
ในประเทศไทย การตรวจสอบและรับรองบัญชีว่าได้จัดทำให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี ก็ไม่เพียงพอที่การันตีว่า กิจการนั้นมีความสมัครใจในการเสียภาษีอากร ตามกฎหมายประมวลรัษฎากรจึงกำหนดให้กรมสรรพากรต้องมีเจ้าพนักงานสรรพากรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบทางภาษีอากร เพื่ออำนวยให้เกิดความเป็นธรรม แต่ดูเหมือนจะเป็นไม้เบื่อไม้เมาตลอดมา
จึงเกิดประเด็นว่า แล้วใครเล่าจะเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบทางภาษีอากรของกิจการก่อนที่เจ้าพนักงานสรรพากรจะเข้าทำการตรวจสอบ
----------------------------------------------------------------
หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้สอบบัญชีภาษีอากร
ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล รวมทั้งกิจการร่วมค้าต้องจัดให้มีการตรวจสอบและรับรองบัญชีเพื่อประโยชน์แห่งการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ซึ่งกระทำได้ก็แต่บุคคลที่อธิบดีกรมสรรพากรโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนด
สำหรับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และหรือมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท และหรือมีทรัพย์สินรวมไม่เกิน 30 ล้านบาท ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดให้งบการเงินได้รับการตรวจสอบและแสดงความเห็นโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีนั้น ให้ตรวจสอบและรับรองบัญชีเพื่อประโยชน์แห่งการเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรโดย ผู้สอบบัญชีภาษีอากร หรือ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต
สำหรับกิจการอื่นนอกจากห้างหุ้นส่วน ดังกล่าว ให้ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น
ในการปฏิบัติงานการตรวจสอบและรับรองบัญชี ทั้งผู้สอบบัญชีภาษีอากรและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
ในเรื่องมรรยาท การปฏิบัติงาน การรายงาน และบทลงโทษตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.98/2545 ดังนี้ มิฉะนั้นอธิบดีกรมสรรพากรอาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตได้
1. ต้องรักษามรรยาทในการตรวจสอบและรับรองบัญชีตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
2. ต้องสอดส่องใช้ความรู้ และความระมัดระวังในการตรวจสอบและรับรองบัญชีเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพโดยทั่วไปต้องปฏิบัติ
ในกรณีที่พบว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเจ้าของบัญชีได้มีการกระทำหรืองดเว้นการกระทำเอกสารประกอบการลงบัญชี และหรือลงบัญชีโดยที่เห็นว่าไม่ตรงกับความเป็นจริง อันอาจเป็นเหตุให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น มิต้องเสียภาษีหรือเสียภาษีน้อยกว่าที่ควรเสียอันเป็นสาระสำคัญ
ให้ผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีเปิดเผยข้อเท็จจริงที่พบในแบบแจ้งข้อความที่อธิบดีกำหนด
3. ทดสอบรายการในแบบแจ้งข้อความที่กรรมการหรือผู้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้จัด การของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแจ้งข้อความเกี่ยวกับกิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
นอกจากนี้ ผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชียังมีหน้าที่ต้องรักษามรรยาทในการปฏิบัติงานอีกด้วย.
-----------------------------------------------------------------
จรรยาบรรณของผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้กำหนดความหมายของ จรรยาบรรณ ว่าหมายถึง ประมวลความประพฤติ ที่ผู้ประกอบอาชีพการงานแต่ละอย่างกำหนดขึ้น เพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณชื่อเสียงและฐานะของสมาชิก อาจเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้
จรรยาบรรณจึงเป็นหลักความประพฤติเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้มีคุณธรรมและจริยธรรมของบุคคลในแต่ละกลุ่มวิชาชีพ ซึ่งเรียกว่า จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ (Professional code of ethics) เมื่อประพฤติแล้วจะช่วยรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณชื่อเสียงทั้งของวิชาชีพและฐานะของสมาชิก ทำให้ได้รับความเชื่อถือจากสังคมและความไว้วางใจจากผู้มีส่วนได้เสีย
ในทางภาษีอากรอธิบดีกรมสรรพากร (นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล-ในขณะนั้น) ได้ กำหนดกรอบจรรยาบรรณของผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี ไว้ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 123/2545
อันประกอบด้วย จรรยาบรรณต่อตนเอง จรรยาบรรณต่อผู้เสียภาษี จรรยาบรรณต่อผู้ร่วมอาชีพ จรรยาบรรณทั่วไป
จรรยาบรรณต่อตนเอง เป็นหลักในการปฏิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชี ซึ่งจำแนกเป็น ความเป็นอิสระ ความเที่ยงธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงาน โดยต้องปฏิบัติงานอย่างเต็มที่เต็มความสามารถ ปราศจากความลำเอียงที่จะส่งผลให้มีการละเว้นการเสียภาษีหรือเสียภาษีน้อยกว่าความเป็นจริง
จรรยาบรรณต่อผู้เสียภาษี อาทิ ไม่เปิดเผยความลับกิจการของผู้เสียภาษีหรือผู้อื่นที่เกี่ยวข้องโดยนำออกแจ้งแก่ผู้ใด หรือให้ทราบโดยวิธีใด อันเป็นเหตุให้กิจการนั้นได้รับความเสียหาย เว้นแต่การกระทำนั้นเป็นการกระทำตามหน้าที่ทางวิชาชีพหรือตามกฎหมาย หรือไม่ละทิ้งการปฏิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชีที่รับไว้แล้วโดยไม่มีเหตุอันสมควร
จรรยาบรรณต่อผู้ร่วมอาชีพ อาทิ ไม่แย่งงานจากผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีอื่น
จรรยาบรรณทั่วไป อาทิ ไม่กระทำการใด ๆ อันอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ แห่งวิชาชีพ ไม่โฆษณาด้วยประการใด ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าจะช่วยเหลือให้เสียภาษีน้อยกว่าความเป็นจริง ไม่ให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์ใด ๆ เพื่อเป็นการจูงใจให้บุคคลอื่นแนะนำหรือจัดหางานตรวจสอบ และรับรองบัญชีมาให้ตนทำ ไม่เรียกหรือรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์จากการแนะนำหรือการจัดหางาน ของตน.

การตรวจสอบและรับรองบัญชี

บทความโดย : สุเทพ พงษ์พิทักษ์
ที่มา : นสพ.เดลินิวส์ วันที่ 3,10,17,24 พฤศจิกายน 2551