
ทำไมไม่ก้าวหน้าเสียที
เคยสงสัยไหมว่า ทำงานมาก็หลายปีแล้ว แต่ไม่เห็นแววว่าจะก้าวหน้าเลย รุ่นน้องที่เข้ามาทำงานทีหลังก็แซงหน้าขึ้นไปรับตำแหน่งใหม่กันหมด เหลือแต่เราคนเดียวที่ย่ำอยู่กับที่ ควรลาออกดีไหมนะ ถ้าคุณเคยคิดอย่างนี้ ลองพิจารณาว่าปัญหาของคุณเข้าข่ายกรณีไหน เพื่อที่จะได้รีบหาทางแก้ไขเสีย
คุณทำงานหนักเกินไป การที่คุณมีงานมากหรือทำงานหนักจนเกินไป ไม่ได้แปลว่าเจ้านายจะเห็นคุณเป็นคนขยันหรอกนะ แต่กลับจะเห็นว่าคุณเป็นคนทำงานไม่เป็น ช้า อืดอาด และดองงานไว้ต่างหาก

ถ้าเป็นอย่างนี้ลองเจรจาทำความตกลงกับหัวหน้าดู ชี้แจงว่า งานที่คุณได้รับมันเกินกว่าที่คุณจะรับผิดชอบได้ไหว ลองขอผู้ช่วยคนใหม่ หรือไม่อย่างนั้นก็แจกแจงให้หัวหน้าเห็นกันไปเลย ว่างานมันล้นมือคุณขนาดไหน
คุณรับผิดชอบในงาน แต่ไม่กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นที่จะพัฒนางาน เปลี่ยนทัศนคติของคุณที่ว่า นิ่งเสียตำลึงทอง เป็น นิ่งยิ่งเสียตำลึงทอง จะดีกว่านะ ถ้าคุณเป็นคนไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าพูด วิธีแก้ไขคือ พิมพ์เป็นรายงาน หรือข้อเสนอส่งให้เจ้านายเป็นลายลักษณ์อักษรให้เห็นเป็นชิ้นงานของคุณไปเลย
ได้รับค่าตอบแทนน้อยเมื่อเทียบกับงาน ปฏิเสธไม่ได้ว่าค่าตอบแทนเป็นปัจจัยสำคัญต่อผลงานของลูกจ้างเช่นกัน ค่าตอบแทนที่ไม่สมน้ำสมเนื้อต่อภาระงานที่ทำมีผลให้ประสิทธิภาพของงานด้อยลงตามไปด้วยเช่นกัน ทางออกสำหรับปัญหานี้คือ เจรจาขอขึ้นค่าจ้าง หรือลองหว่านใบสมัครตามที่ต่าง ๆ ดู
ขาดการเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่น การประสานงานกับหน่วยงานทั้งภายใน และภายนอกองค์กรก็เป็นสิ่งที่จำเป็น การที่งานในภาระหน้าที่ของคุณไม่ได้รับการตอบสนองที่ดีจากฝ่ายอื่น ๆ เป็นเหตุให้งานทั้งระบบดำเนินไปได้ไม่ราบรื่น แถมยังถูกหาว่าแก้ตัวเสียอีก ปัญหาอย่างนี้ต้องใช้ไหวพริบของตัวคุณเอง โดยหาจังหวะที่เหมาะสมในการติดต่อกับหน่วยงานอื่น เช่น ยื่นเรื่อง หรือนัดหมายกันตั้งแต่เนิ่น ๆ กำหนดเส้นตายของคุณและหาแผนสำรองไว้ใช้แก้ปัญหา และพยายามสร้างสัมพันธ์ที่ดีต่อหน่วยงานอื่นที่คุณต้องติดต่อในระยะยาวไว้ด้วย
รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ความคับข้องใจ น้อยใจ ถือเป็นสาเหตุสำคัญหนึ่งที่ส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึก และความสามัคคีของคนในองค์กร สถานการณ์นี้เป็นเหมือนอย่างที่เรียกกันว่า คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก นั่นแหละ ความไม่สบายใจนี้ส่วนมากมักเกิดจากปัญหาชิงดีชิงเด่น หรือความอิจฉาริษยากับเพื่อนร่วมงานมากกว่าจะเกิดระหว่างเจ้านายกับลูกน้อง งานนี้ต้องบอกว่า ถ้าไม่ใช้หลักอหิงสาก็ให้ร้องออกมาดัง ๆ เลยว่าทนไม่ไหวแล้ว ปรึกษาทนายหรือใช้บริการของศาลแรงงานจะดีกว่านะ
การมีวิถีในการทำงานต่างกัน หรือการที่องค์กรมีค่านิยมในการทำงานที่ไม่สอดคล้องกับหลักการของคุณ มองเผินอาจคิดว่าเรื่องอย่างนี้ไม่สำคัญ แต่หากคุณเป็นคนทำงานแบบประณีต ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาน แต่เจ้านายคุณกลับกลายเป็นคนสั่งงานตอนเช้า แล้วต้องได้ก่อนเที่ยง อย่างนี้แล้วคุณควรจะเป็นฝ่ายปรับตัวมากกว่านะ หรือคุณรู้ว่าองค์กรของคุณน่ะ มีผลกำไรเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด ไม่เลือกวิธีการ โลกจะเป็นบรรษัทภิบาล หรือธรรมาภิบาลไม่เคยรู้จัก ไม่สนใจ อย่างนี้ก็ทำใจก็แล้วกัน ทนไม่ไหวเข้าก็ต้องใช้ไม้ตายคือ หางานใหม่เสีย เพราะถ้าองค์กรไม่เปลี่ยน คุณนั่นแหละที่ต้องเปลี่ยนตัวเอง
ทางแก้ไขอาการไปไม่ถึงฝั่งสักทีของคุณ โปรดจงใช้การเจรจา และปรับตัวเองเพื่องานให้ได้เสียก่อน หากทนไม่ไหวจริง ๆ เห็นทีจะต้องบอกว่า เปลี่ยนงานใหม่เสียเถอะ

ที่มา : นิตยสาร ผู้หญิง รายปักษ์