บริษัท พัฒนกิจ บัญชี ภาษีและฝึกอบรม จำกัด
Pattanakit Accounting Tax & Training Co., Ltd.
59/275 ซอยสุวินทวงศ์ 44 ถนนสุวินทวงศ์ แขวงลำผักชี เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร 10530
โทรศัพท์ 0-2019-4656 , 0-2023-7182 , 084-1568284, 092-4634120, 098-2529544, Fax 0-2019-4659
Website :https://www.pattanakit.net / Email : pat@pattanakit.net

เงินซื้อความสุขได้จริงหรือ
เงินซื้อความสุขได้จริงหรือ
ช่วงนี้ท่านผู้อ่านมีความสุขดีไหมครับ เชื่อว่าหลายท่านอาจจะถามผมกลับมานะครับว่า ถามคำถามนี้ในช่วงนี้ได้อย่างไร ในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองก็ดูจะวุ่นวาย เงินเฟ้อก็สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากกว่าสองเท่า นํ้ามันก็ใกล้สองลิตรร้อย ฯลฯ แล้วเราจะหาความสุขได้จากไหน ถ้าผมจะบอกว่าความสุขเกิดจากเงิน เชื่อว่าท่านผู้อ่านหลาย ๆ ท่านก็อาจจะสาปส่งผมอยู่ในใจตอนนี้ก็ได้นะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลายท่านอาจจะเถียงว่าเงินซื้อความสุขไม่ได้ สิ่งที่จะนำเสนอในสัปดาห์นี้ เป็นเรื่องของการหาความสุขด้วยเงินครับ แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องของการใช้เงินในการซื้อหรือการแสวงหาความสุขนะครับ แต่เป็นการให้เงินเพื่อทำให้เกิดความสุขครับ จริงอยู่นะครับว่าตามหลักพระพุทธศาสนา เรามีคำสอนในเรื่องของการเมตตา การให้ทาน และคนไทยเราเองก็มีความใจบุญ ทำบุญเนื่องในโอกาสต่าง ๆ อยู่แล้ว แต่คราวนี้ผมไปพบเจองานวิจัยของอาจารย์จาก Harvard และ British Columbia ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science เรื่อง Spending Money on Others Promotes Happiness ซึ่งถ้าแปลชื่อเป็นภาษาไทยง่าย ๆ ก็คือ การใช้เงินเพื่อผู้อื่นทำให้เรามีสุข งานวิจัยนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากข้อสงสัยที่ว่า ในปัจจุบันคนจำนวนมากต่างพยายามหาหนทางทุกทางเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินเงินทองที่มากขึ้น ไม่ว่าจะโดยสุจริตหรือทุจริต เนื่องจากเรามีความเชื่อหรือคิดสมมติฐานว่า การมีเงินมากขึ้น จะทำให้เรามีความสุขเพิ่มมากขึ้น แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งท่านผู้อ่านลองสังเกตบ้างไหมครับว่า จริง ๆ แล้วการมีเงินไม่ได้ทำให้เรามีความสุข แต่การได้ใช้เงินต่างหากเหล่าที่ทำให้เรามีความสุข ผมรู้จักสุภาพสตรีหลายท่านที่ดูเหมือนว่าจะมีความสุขกับการได้ใช้เงิน (โดยเฉพาะเงินของผู้อื่น) เหมือนกับว่าการทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินทองที่มากขึ้นนั้น ไม่ได้ทำให้เรามีความสุขหรอก แต่ถ้าเราใช้เงินที่เราหามาได้นั้นอย่างถูกต้องและเหมาะสมต่างหากที่เป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข สิ่งที่นักวิจัยทีมนี้เขาทำก็คือ ลองไปสำรวจและสังเกตพฤติกรรมในการใช้จ่ายโบนัสที่ได้รับจากบริษัท ว่าพฤติกรรมในการใช้จ่ายเงินประเภทไหนที่นำความสุขในระยะยาวมาให้กับเจ้าของเงินดังกล่าว ผลการวิจัยที่พบนั้นน่าสนใจครับ นั้นคือพบความจริงว่า เงินสามารถซื้อความสุขได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราใช้เงินในการซื้อของหรือใช้จ่ายไปเพื่อผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของขวัญให้ผู้อื่น การทำบุญหรือการบริจาค และความสุขที่เกิดขึ้นจากการให้ผู้อื่นนั้นช่างมากมายกว่าการใช้เงินในการซื้อของให้ตนเองครับ สิ่งที่น่าสนใจอีกประการก็คือ มูลค่าหรือจำนวนเงินที่ใช้ไปไม่ได้ส่งผลต่อความสุขเท่าไร แต่สิ่งที่ส่งผล คือ สัดส่วนหรือระดับของการใช้เงินครับ จากการศึกษาเดียวกันพบว่า มูลค่าหรือจำนวนโบนัสที่พนักงานได้รับ ไม่ได้ส่งผลต่อความสุขในระยะยาวของพนักงานเลย ซึ่งก็เป็นผลการศึกษาที่น่าสนใจนะครับ เนื่องจากเชื่อว่าทุก ๆ คนก็อยากที่จะได้รับโบนัสจำนวนมาก (ผมเคยมีลูกทีมที่ส่งอีเมลประกาศโบนัสของบริษัทต่าง ๆ ที่ให้กันมากกว่าหกเดือนมาให้เลยครับ-เหมือนจะบอกใบ้) แต่สิ่งที่พบกลับกลายเป็นว่า การได้รับโบนัสก้อนใหญ่หรือเล็กนั้น กลับไม่ได้ส่งผลต่อความสุขในระยะยาวเลย จริงอยู่ว่าการได้รับโบนัสที่มากนั้น อาจจะทำให้เรารู้สึกดีใจหรือมีความสุขได้ในช่วงระยะเวลาอันสั้น แต่ระยะยาวแล้วขนาดของโบนัสกลับไม่ได้ส่งผลต่อความสุขเท่าที่ควร จากงานวิจัยข้างต้น ความสุขนั้นเกิดขึ้นจากการใช้เงินที่ได้รับมานั้นให้กับหรือเพื่อผู้อื่น มากกว่าการใช้เงินเพื่อผู้อื่นที่มีจำนวนไม่มากเพียงห้าเหรียญสหรัฐ หรือเพียงร้อยกว่าบาท ก็ส่งผลให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้นได้แล้ว ดังนั้นการที่คนเราจะมีความสุขได้นั้น ไม่จำเป็นต้องมีเงินถุงเงินถังแล้วบริจาคเงินปีละมากมาย การใช้เงินเพียงแค่ร้อยกว่าบาทเพื่อผู้อื่น (ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของให้ผู้อื่น การบริจาค หรือทำบุญ) ก็ทำให้เรามีความสุขได้แล้วครับ แสดงให้เห็นว่าไม่ว่ารวยหรือจน ถ้าเพียงเรารู้จักที่จะใช้เงินเพื่อผู้อื่นบ้าง ความสุขก็ย่อมจะเกิดแล้ว ดังนั้นท่านที่ทำงานอย่างหนัก (ไม่ว่าสุจริตหรือทุจริต) เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินเงินทองนั้น จริง ๆ แล้วท่านอาจจะไม่ได้มีความสุขที่แท้จริงหรอกครับ แต่ความสุขดังกล่าวนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อท่านได้ใช้เงินที่ท่านแสวงหามานั้นเพื่อผู้อื่นบ้าง ซึ่งจริง ๆ แล้วผลจากงานวิจัยชิ้นนี้ ก็สอดคล้องกับหลักพระพุทธศาสตร์หลาย ๆ ประการนะครับ ดังนั้นท่านผู้อ่านอย่ามัวแต่แสวงหาเงินมาอย่างเดียวนะครับ ความสุขที่แท้จริงนั้นอาจจะอยู่ที่การได้ใช้เงินที่หามานั้นเพื่อผู้อื่นเสียบ้าง ก่อนจบท่านผู้อ่านอย่าลืมนะครับว่า ข้อมูลข้างต้นเป็นผลจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งเท่านั้น และบทความนี้ก็ชื่อ มองมุมใหม่ อยู่แล้วนะครับ เราอย่าไปยึดติดหรือติดอยู่ในกับดักของการคิดแบบเดิม ๆ นะครับ บทความโดย : รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ (คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 15 ก.ค. 2551 |
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() |