บริษัท พัฒนกิจ บัญชี ภาษีและฝึกอบรม จำกัด
Pattanakit Accounting Tax & Training Co., Ltd.
59/275 ซอยสุวินทวงศ์ 44 ถนนสุวินทวงศ์ แขวงลำผักชี เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร 10530
โทรศัพท์ 094-6574441 , 099-4567715 , 092-4634120, 061-0382531
Website :https://www.pattanakit.net / Email : infoservice2126@gmail.com

ศิลปะของการอยู่ด้วยกัน
ศิลปะของการอยู่ด้วยกัน
ในการอยู่ร่วมกันของคนเรา ความขัดแย้งมากมายหลายประการอาจเริ่มต้นจาก บุคลิกภาพไม่พึงประสงค์ ในตัวคนเราทุกคนต่างก็มีด้านที่น่ารักและไม่น่ารัก น่าคบและไม่น่าคบ น่าอยู่ใกล้และน่าหนีให้ไกล น่าประทับใจและน่ารังเกียจ การอยู่กับคนอื่น เรามีหน้าที่ ลดความน่ารังเกียจ และเพิ่มความน่าคบ เพิ่มแรงดึงดูดมากกว่าเพิ่มความกดดัน เพื่อให้คนตั้งแต่สองคนขึ้นไปได้สานประโยชน์และสานสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน นำไปสู่การร่วมแรงร่วมใจสร้างสรรค์สิ่งที่ดีๆ ให้เกิดขึ้นได้อีกมากมายหลายประการ แต่หากเริ่มต้นด้วยความขัดแย้งกันเสียแล้ว ก็ไม่นำไปสู่อะไรที่สร้างสรรค์เลย นอกจากความขัดแย้งที่มากยิ่งขึ้น ว่าแต่ บุคลิกภาพที่ไม่พึงประสงค์ นั้นเป็นอย่างไร? แฮรี สแต็ค ซัลลิแวน นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้อธิบายบุคลิกภาพที่ไม่พึงประสงค์ พร้อมทั้งระบุสาเหตุที่ก่อให้เกิดลักษณะของบุคลิกภาพที่เป็นปัญหาไว้ 6 ประเภทคือ 1.ประเภทหมกมุ่นอยู่กับตนเอง บุคคลประเภทนี้มักจะท้อแท้ ผิดหวังง่าย มีความเจ็บแค้นในใจ และคิดว่าตนถูกเข้าใจผิดเสมอ สำหรับสาเหตุแห่งบุคลิกภาพประเภทหมกมุ่นอยู่กับตนเองนี้ เป็นเพราะว่าบุคคลประเภทนี้ ผิดหวังในสัมพันธภาพระหว่างตนเองกับบุคคลอื่นมาตั้งแต่เยาว์วัยและถูกกระทำซ้ำซ้อนมาจนฝังใจจำ 2.ประเภทไม่สุงสิงกับใคร บุคคลประเภทนี้มักจะมีความรู้สึกว่าทำบุญกับใครไม่ขึ้น มักจะน้อยใจ สาเหตุแห่งบุคลิกภาพประเภทนี้ อาจจะเป็นเพราะไม่ได้รับความรักหรือไม่มีใครรักในวัยเด็ก ผลจึงสืบเนื่องมาจนถึงวัยอื่นๆ ต่อๆ มา 3.ประเภทต้องพึ่งพาคนอื่น บุคคลประเภทนี้มักจะไม่มีความคิดเป็นของตนเอง คอยปฏิบัติตามคำแนะนำของคนอื่น ต้องยึดหรือพึ่งพาคนอื่นเป็นหลัก สาเหตุแห่งบุคลิกภาพประเภทนี้ อาจเป็นผลจากการเลี้ยงดูของบิดามารดาที่แสดงอำนาจเหนือเด็กตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงวัยเด็กและวัยเยาว์ 4.ประเภทไม่เป็นมิตรกับใคร บุคคลประเภทนี้ไม่ประสงค์จะคบหาสมาคมกับใคร อารมณ์มักจะขุ่นมัว หงุดหงิด สาเหตุแห่งบุคลิกภาพประเภทนี้ มักจะเป็นเพราะบิดามารดาเคี่ยวเข็ญและเอาใจใส่ดูแลบุตรธิดา เพื่อหวังจะให้ได้ดีมากเกินไป อีกทั้งบิดามารดามักจะไม่พอใจ และไม่สนใจเกี่ยวกับผลการกระทำหรือผลงานใดๆ ของบุตรธิดาของตน 5.ประเภทชอบคัดค้าน บุคคลประเภทนี้ มักจะเถียง ชอบคัดค้าน สาเหตุแห่งบุคลิกภาพประเภทนี้ เป็นเพราะชอบเรียกร้องความสนใจเมื่อครั้งยังอยู่ในวัยเด็ก และเมื่อเจริญเติบโตขึ้น ก็ยังคงใช้วิธีการเดิมและมักจะใช้วิธีคัดค้าน เมื่อรู้สึกว่าความสุข ความปลอดภัยของตนนั้นกำลังถูกคุกคาม แต่ความรู้ในเรื่องนี้ ก็ไม่ช่วยแก้ไขอะไร จริงไหมคะ หากรู้แล้วเฉยๆ ไม่นำไปสู่แรงบันดาลใจที่จะแก้ไขบุคลิกติดลบของตัวเอง หรือของคนอื่นด้วยความปรารถนาดี ความรู้เรื่องนี้สำหรับดิฉันแล้ว ถือว่ามีคุณค่าในการสร้างความเข้าใจว่า คนเรานั้นต่างเบ้าหลอม ต่างที่มา และผลที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ก็เกิดจากเหตุที่เป็นมาตั้งแต่ครั้งเก่าก่อน ฉะนั้น แทนที่จะด่วนถือสาหาความและต่อยอดความขัดแย้งให้บานปลายมากไปกว่าเก่า จำเป็นที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะต้องหยุด เพื่อลดการกระทบกระทั่ง และค่อยๆ คิดหาหนทาง คลี่คลายความขัดแย้งที่มีนั้น ในชีวิตของคนเรานี้ มีความจริงหรือสัจธรรมแห่งชีวิตอยู่ 6 ประการ เพื่อให้เราเข้าใจตนเองและผู้อื่น รวมทั้งมีเรี่ยวแรงที่จะทำงานด้วยกัน คบหากัน หรืออยู่ร่วมกันได้โดยไม่ท้อถอย ทั้ง 6 ประการดังกล่าวได้แก่ 1.มนุษย์เติบโตมาจากภูมิหลังที่ต่างกัน จึงทำให้มนุษย์ไม่เหมือนกัน เราจะคาดคั้นบีบบังคับให้ทุกคนคิดอย่างเดียวกัน พูดทำนองเดียวกัน หรือแสดงออกมาเป็นพิมพ์เดียวกันคงไม่ได้ 2.ไม่มีใครที่ดีที่สุดหรือเลวที่สุดแต่เพียงอย่างเดียว ทุกคนมีทั้งดีและเลว ขึ้นอยู่กับว่าเรารู้จักเขาดีเพียงพอหรือไม่ แล้วเราพอที่จะให้อภัยหรือชื่นชมผลกระทำของเขาได้หรือเปล่า 3.มนุษย์ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ ถ้ามีความตั้งใจที่จะเรียนรู้วิธีเปลี่ยนแปลง ดังนั้นจงอย่าประเมินผู้อื่นต่ำ อย่าดูถูกเหยียบย่ำผู้อื่น แต่จงชี้แนะวิธีทำงานที่ดีกว่าเพื่อให้เขาค้นพบการเปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้น 4.มนุษย์จะทำได้หากได้รับโอกาส และจะทำได้ดียิ่งขึ้นหากมีกำลังใจได้รับคำชมและคำชี้แนะ จึงแทนที่จะเล่นงานหรือชิงชัง ก็เปลี่ยนเป็นเมตตา ชี้แนะ ให้โอกาส ด้วยความอดทนและมีความหวังต่อกัน 5.คุณค่าของมนุษย์อยู่ที่การประเมินจากผู้อื่น เขาจะถูกประเมินอยู่ตลอดเวลา เขาจะเป็นคนดีเมื่อมีเสียงชื่นชมมากกว่าเสียงสาปแช่ง และสุดท้ายเมื่อเขาจากโลกไป โดยเสียงที่ประเมินครั้งสุดท้ายจะเป็นการประเมินผลงานรวมตลอดชีวิตของบุคคลนั้น ทุกๆ วันจึงควรดำเนินชีวิตอย่างมีสติ และฝักใฝ่ในทางดีงาม 6.มนุษย์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดต้องมีทั้งความดี ความเก่ง และโอกาส จะสำเร็จหรือล้มเหลวล้วนเป็นฝีมือของเหล่ามนุษย์ด้วยกันทั้งสิ้น ทั้งหมดที่เล่ามานี้ ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นอย่างชัดๆ ว่า โดยพื้นฐานแล้วคนเราต่างกันมาก ฉะนั้นจะให้คิด พูดทำ แสดงออก วางตัว เหมือนๆ กันไปเสียทั้งหมดก็คงไม่ได้ แต่จะต้องช่วยกันวางมาตรฐานของการคิด พูด ทำ และแสดงออก สังคมมนุษย์จึงเกิดมีวัฒนธรรม ธรรมเนียม ประเพณี และมารยาทขึ้นมาไงคะ พอมีตัวบทกฎเกณฑ์เหล่านี้แล้ว คนที่ไม่ทำตามย่อมถูกประณามโดยกฎเกณฑ์นั้นๆ เป็นเครื่องวัด มิใช่ประณามเอาตามอำเภอใจของใครคนใดคนหนึ่ง พูดง่ายๆ ว่า ศิลปะของการอยู่ด้วยกันให้ผาสุกทุกระดับนั้น จะต้องคำนึงถึงกฎ กติกา มารยาท เพื่อที่คนเราซึ่งต่างที่มา ผิดแผกแตกต่างกันทางความคิด และถูกหล่อหลอมมาอย่างถูกๆ และผิดๆ ต่างกันไปนั้น ได้มีเบ้าหลอมเบ้าเดียวกัน เพื่อให้ทุกคนเท่าเทียมและเข้าใจกันได้ง่ายขึ้น ไม่ถือเอากติกาหรือเงื่อนไขของใครคนใดคนหนึ่งเป็นใหญ่ บ้าน...ที่ใครสักคนวางตนเป็นใหญ่ แล้วใช้กฎระเบียบตามอำเภอใจ โดยที่คนอื่นไม่ได้รับรู้หรือมีส่วนร่วม บ้านนั้นก็ขาดความสุข มีแต่ความขัดแย้งกับความทุกข์
ที่ทำงานใดก็ตาม ที่มีใครบางคน เป็นใหญ่ แล้วกำหนดให้คนอื่นพูด คิด ทำ หรือเป็นอย่างที่ตัวเองอยากจะให้เป็น อยู่ด้วยกันได้ไม่นานก็คงต้องลาออกไป บ้านเมืองก็เหมือนกันค่ะ ไม่รับฟังกัน ไม่เจรจากัน ต่างก็ถือแต่เงื่อนไขของตัวเอง ย่อมนำไปสู่ความขัดแย้งที่ไม่มีจุดจบ หรือจบก็คงจบแบบไม่สวย โปรดยอมรับและเคารพ ความต่าง แล้วช่วยกันหาทางเพิ่ม ความเหมือน ที่เกิดจากการยอมรับและความยินยอมพร้อมใจจะดีกว่าค่ะ ทำเช่นนี้ได้ ไม่ว่าในสังคมเล็กหรือสังคมใหญ่ ก็จะมีแต่ความราบรื่นและรื่นรมย์ บทความโดย : อ.ประณม ถาวรเวช สถาบันพัฒนาบุคลิกภาพจอห์นโรเบิร์ตเพาเวอร์ ที่มา : โพสต์ทูเดย์ วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551 |
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() |