
สรรพากรเล็งอุดช่องโหว่เลี่ยงเสียภาษี แพทยสภาแฉหมอจ่ายภาษีไม่ถูกต้อง
กรมสรรพากรลดเป้าการจัดเก็บรายได้เดือน ส.ค.2551 เป็นติดลบ 1.9 หมื่น ลบ. จากเดิมคาดว่าเป็นบวก หลังผู้เสียภาษีแห่เลื่อนไปจ่ายเดือน ก.ย.2551 มากกว่า 80% ตั้งเป้าปี 2551 จัดเก็บรายได้เกินเป้า 5 หมื่นล้าน พร้อมยอมรับกฎหมายภาษีสรรพากรล้าหลัง เตรียมอุดช่องโหว่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีธุรกิจข้ามชาติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ด้านแพทยสภาห่วงหมอถูกสรรพากรเช็กบิลย้อนหลัง เหตุไม่รู้กฎหมาย แนะหมอเปิดกิจการใหม่ให้จดทะเบียนกิจการเป็นนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วน
นายศานิต ร่างน้อย อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรได้ปรับลดคาดการณ์การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลกลางปีในเดือนสิงหาคม 2551 น่าจะติดลบ 19,000 ล้านบาท จากเดิมคาดว่าจะจัดเก็บรายได้เกินเป้า เนื่องจากภาษีเงินได้ 2551 ของภาษีเงินได้นิติบุคคลกลางปีที่ยื่นส่งเดือนสิงหาคม มีผู้เสียภาษีเงินได้เลื่อนการนำส่งภาษีไปในเดือนกันยายนมากกว่า 80%
ทั้งนี้ คาดว่าในปีงบประมาณ 2551 จะจัดเก็บรายได้เกินเป้าประมาณ 50,000 ล้านบาท จากเป้าที่ตั้งไว้ 1.2 ล้านล้านบาท
ส่วนรายงานการศึกษาวิจัย “โครงการศึกษาและพัฒนาประมวลรัษฎากร” จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นยอมรับว่า กฎหมายภาษีสรรพากรล้าสมัยเกือบ 70 ปี จึงต้องมีการแก้ไขปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยสิ่งที่ต้องแก้ไขมีทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีธุรกิจข้ามชาติ
นายธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยกฎหมายและการพัฒนา คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ทางจุฬาฯ ได้ศึกษาภาษีสรรพากรมากว่า 1 ปีแล้ว ซึ่งที่เสนอการแก้ไขมีถึง 16 ด้าน เช่น การเสนอปรับเปลี่ยนระบบการหักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม สะดวกแก่บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล
โดยเสนอให้จัดเก็บอัตราเดียวเพื่อหลีกเลี่ยงเอกชนบางแห่งแยกสัญญาหวังลดภาระการจ่ายภาษี การกำหนดให้หญิงที่มีสามีควรแยกการจ่ายภาษี การรวมกลุ่มของคณะบุคคลในการทำธุรกิจเสนอให้แยกรายได้ให้แต่ละบุคคลเพื่อเสียภาษี การเพิ่มข้อบัญญัติป้องกันการหลีกเลี่ยงการเสียภาษี
เพราะปัจจุบันจะใช้กฎหมายแพ่งในการป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี แต่ไม่สามารถครอบคลุมได้ทั้งหมด การเสียภาษีซ้อนของเอกชนไทยที่ไปทำธุรกิจในต่างประเทศ โดยจะมีการจัดรูปแบบภาษีให้เกิดความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กฎหมายภาษีสรรพากรมีการใช้มานาน ภาคเอกชนส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะมีการปรับปรุงแก้ไขเพื่อความถูกต้องและเป็นธรรม เพื่อให้ผู้ที่เสียภาษีเต็มใจเสียภาษี และสามารถดึงผู้ที่ไม่เคยเสียภาษีเข้าสู่ระบบมากขึ้น
นายปรีชา พานิชวงศ์ ประธานมูลนิธิสนับสนุนการพัฒนาวิชาการทางนิติศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะที่ปรึกษาศาลปกครองสูงสุด กล่าวว่า ได้ทำงานอยู่ที่ศาลมากกว่า 30 ปี แม้จะเป็นผู้พิพากษาก็ยังทำความเข้าใจยากในการใช้กฎหมายรัษฎากร ดังนั้น เมื่อจะบังคับให้ประชาชนจ่ายภาษีก็ควรปรับปรุงให้กฎหมายอ่านและเข้าใจง่ายต่อการปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความชัดเจนแก่ประชาชน และลดปัญหาข้อโต้แย้งทางกฎหมายในปัจจุบัน
นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภาด้านกฎหมาย กล่าวว่า ขณะนี้แพทย์จำนวนมากยังเสียภาษีไม่ถูกต้อง โดยส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งใจจะหลบเลี่ยงภาษี หรือปกปิดรายได้ที่แท้จริง แต่เนื่องจากไม่รู้และไม่เข้าใจการจัดเก็บภาษีลักษณะการประกอบอาชีพของตนว่าเข้าข่ายเสียภาษีตามมาตราใดกันแน่ เพราะมีความเกี่ยวข้องในหลายมาตราของบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ.2541
ดังนั้น เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาที่ต้องเร่งทำความเข้าใจ เพราะหากเสียภาษีไม่ถูกช่องทางก็มีความเสี่ยงสูงที่กรมสรรพากรจะเรียกเก็บภาษีย้อนหลังได้ รวมถึงจะต้องเสียค่าปรับ และดอกเบี้ย ซึ่งเป็นวงเงินที่สูงเกินกว่าที่แพทย์ควรจ่าย

ทั้งนี้ อาชีพแพทย์ถือเป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรม มีข้อกำหนดในการเสียภาษีแตกต่างจากภาษีเงินได้ธรรมดา จึงทำให้มีความซับซ้อนในการคำนวณภาษี ประกอบกับแพทย์ส่วนใหญ่อาจทำงานหลายที่และมีรายได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นวิทยากร อาจารย์สอนหนังสือ เช่น แพทย์ 1 คน มีงานประจำในเวลาราชการปกติ และทำงานนอกเวลาราชการหรือคลินิกพิเศษของสถานพยาบาลเดียวกัน จะเสียภาษีตามมาตรา 40 (1) บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ.2541 แต่หากทำงานคลินิกพิเศษกับสถานพยาบาลคนละแห่งกับงานประจำ เช่น คลินิกนอกเวลาของโรงพยาบาลเอกชน จะเสียภาษีตามมาตรา 40 (2)
วีดีโอ-ตรวจสุขภาพภาษีให้กับคุณหมอ และสถานพยาบาล
“หากแพทย์มีธุรกิจ มีฐานะเป็นผู้จ้าง ผู้ประกอบการ โดยไปเปิดคลินิกเอกชนเป็นของตัวเอง หรือโรงพยาบาล ซึ่งถือเป็นวิชาชีพอิสระ ต้องเสียภาษีตามมาตรา 40 (6) ซึ่งวิชาชีพอื่น เช่น สถาปัตยกรรม วิศวกรรม บัญชี ต้องประเมินภาษีตามมาตรานี้ด้วย หากแพทย์ที่เสียภาษีตามมาตรานี้ก็ไม่จำเป็นต้องไปเสียภาษีในมาตราอื่นอีก เพราะจะถือว่าเสียภาษีซ้ำซ้อนโดยที่ไม่จำเป็น”
อย่างไรก็ตาม แพทย์ที่เสียภาษีตามมาตรา 40 (6) มีสิทธิ์ได้หักค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจ เช่น ค่าเช่าสถานที่ ค่าจ้างพนักงาน ค่าดำเนินการธุรกิจ เป็นต้น ได้ 2 แบบ คือ หักค่าใช้จ่ายตามจริง และหักในอัตราเหมาจ่ายได้สูงสุด 60% ของรายได้ ซึ่งอาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่หักค่าใช้จ่ายได้สูงสุด ขณะที่วิชาชีพอื่นหักค่าใช้จ่ายได้เพียง 30% เท่านั้น จึงได้แนะนำให้แพทย์ใช้วิธีอัตราเหมาจ่ายดีที่สุด เพราะคุ้มค่ามากกว่าหักตามค่าใช้จ่ายจริง โดยเฉพาะสถานพยาบาลที่มีค่าใช้จ่ายสูงจะได้มีส่วนต่างของรายได้กลับคืนมา
นอกจากนี้ การเปิดคลินิกใหม่ยังช่วยลดการจ่ายภาษีได้ด้วย โดยจะต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วน ที่มีผู้ร่วมทุนมากกว่า 1 คน ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่เสียภาษีในส่วนของห้างหุ้นส่วนที่เพิ่งเปิดกิจการใหม่แทน โดยที่ไม่ต้องไม่ประเมินภาษีจากรายได้ที่มีมาก่อนหน้าจะเปิดกิจการ
และหากมีการเปิดสาขาหรือกิจการใหม่ โดยที่มีหุ้นส่วนใหม่เพิ่มเข้ามาแค่ 1 คนเท่านั้น ระบบการประเมินภาษีก็จะเริ่มนับหนึ่งใหม่ทันที คือ หากมีรายได้ไม่เกิน 1.5 แสนบาท ไม่เสียภาษี หากมีรายได้เกิน 1.5 แสนบาท เสียภาษี 10% และหากมีรายได้เกิน 5 แสนบาทขึ้นไป เสียภาษี 20% และยังได้สิทธิ์หักค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ทำกันแพร่หลาย และถูกต้องตามกฎหมายด้วย

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาทรรศน์ วันที่ 8 กันยายน 2551