บริษัท พัฒนกิจ บัญชี ภาษีและฝึกอบรม จำกัด
Pattanakit Accounting Tax & Training Co., Ltd.
59/275 ซอยสุวินทวงศ์ 44 ถนนสุวินทวงศ์ แขวงลำผักชี เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร 10530
โทรศัพท์ 094-6574441 , 099-4567715 , 092-4634120, 061-0382531
Website :https://www.pattanakit.net / Email : infoservice2126@gmail.com

ชีวิตชายไทยนั้น "เปราะบาง" กว่าหญิงนัก
ชีวิตชายไทยนั้น "เปราะบาง" กว่าหญิงนัก
ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานสัมมนา "มิติเพศ ในประชากรและสังคม" จัดโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันนี้เขาจัดงานวิชาการประจำทุกปีในหัวข้อที่ต่างกันไป ในงานมีการเสนอบทความวิชาการหลายชิ้นที่น่าสนใจมากเกี่ยวกับมิติเพศ ผมขอนำข้อเขียนเรื่อง "ความไม่สมดุลของประชากรชายและหญิงในประเทศไทย" ที่เขียนโดย ศาสตราจารย์ ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล และผู้ช่วยศาสตราจารย์ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์ มาเล่าต่อ เมื่อ 50 ปีก่อน ประชากรไทยมีอยู่ราว 25 ล้านคน การเพิ่มกว่าหนึ่งเท่าตัวในเวลาครึ่งศตวรรษทำให้ในปี 2551 เรามีประชากรประมาณ 63 ล้านคน จากการเพิ่มสูงถึงกว่าร้อยละ 3 ต่อปีเมื่อ 50 ปีก่อน เหลือเพียงไม่ถึงร้อยละ 1 ต่อปีในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลพวงจากการที่สตรีซึ่งเคยมีบุตรเฉลี่ยตลอดวัยเจริญพันธุ์ของตนมากกว่า 5 คน เหลือเพียง 1.5 คนในปัจจุบัน อัตราการตายของทารกก็ลดลงด้วยเช่นกัน จากตัวเลขที่เคยสูงถึงเกือบประมาณ 80 ต่อการเกิดมีชีพ 1,000 รายเมื่อ 50 ปีก่อน ลดลงเหลือเพียงประมาณ 15 ในปัจจุบัน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา โครงสร้างเพศของประชากรไทยก็ได้เปลี่ยนไปจากที่เคยมีจำนวนหญิงและชายพอๆ กัน กลายเป็นประชากรที่มีหญิงมากกว่าชายค่อนข้างมาก และมีแนวโน้มว่าจะมีความไม่สมดุลระหว่างจำนวนหญิงชายมากยิ่งขึ้นไปอีกในอนาคต ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวาง ใน พ.ศ.2550 ในประชากรทั้งหมด 63.1 ล้านคน เป็นชาย 31.1 ล้านคน เป็นหญิง 32 ล้านคน หญิงมากกว่าชายถึง 9 แสนคน ซึ่งถือได้ว่าเป็นจำนวนแตกต่างระหว่างเพศที่มากที่สุดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในสังคมไทย ระหว่าง พ.ศ.2480 ถึง 2503 ประชากรหญิงและชายมีจำนวนพอๆ กัน โดยมีชายมากกว่าหญิงเล็กน้อย จนกระทั่งถึง 2513 จึงพบว่าหญิงเริ่มมากกว่าชาย และสำมะโนประชากรหลังจากนั้นเป็นต้นมาพบว่ามีหญิงมากกว่าชายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังเช่นใน พ.ศ.2533 จากประชากร 55 ล้านคน มีหญิงมากกว่าชาย 4.2 แสนคน ใน พ.ศ.2543 ในประชากร 61 ล้านคน หญิงมากกว่าชาย 8.9 แสนคน และในปี พ.ศ.2551 ประมาณว่ามีประชากรหญิงในประเทศไทยมากกว่าชายถึงล้านคน เหตุใดหญิงจึงมีจำนวนมากกว่าชายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่ทารกเพศชายเกิดมากกว่าหญิงตลอดมา? ในทุกกลุ่มประชากรและทุกสังคม โดยธรรมชาติโอกาสที่ทารกเกิดมาเป็นชายจะมีมากกว่าหญิงเล็กน้อยเสมอ สำหรับประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ.2480 เป็นต้นมา ทุกจำนวนเกิดเป็นทารกเพศหญิง 100 คน จะมีจำนวนเกิดเป็นทารกเพศชายไม่เคยต่ำกว่า 105 คน เมื่อทารกชายแรกเกิดมีจำนวนมากกว่าหญิง โดยตรรกะก็ย่อมนำไปสู่จำนวนประชากรชายที่มากกว่าหญิง แต่สิ่งที่เกิดเป็นจริงขึ้นมิได้เป็นเช่นนั้น เนื่องจากระหว่างการเติบโตจนสูงอายุ มีหลายสิ่งที่เกิดขึ้นกับเพศชายจนทำให้มีจำนวนน้อยกว่า ข้อมูลจากการฉายภาพประชากรที่จำแนกชายและหญิงออกตามกลุ่มอายุ แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงอายุ 27 ปี ประชากรชายจะมีมากกว่าหญิง แต่เมื่อผ่านอายุ 27 ปีไปแล้วประชากรหญิงจะเริ่มมีจำนวนมากกว่าชายไปจนกระทั่งอายุสูงสุด (ตัวเลข "27 ปี" ทำให้ชายไทยต้องใส่ใจเป็นพิเศษ) อายุยิ่งสูง หญิงจะยิ่งมีจำนวนมากกว่าชาย เช่น ในกลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไป จะมีชายเพียง 60 คนต่อหญิง 100 คน และเมื่ออายุ 100 ปี ขึ้นไปจะมีชายเหลือเพียง 30 คน ต่อหญิง 100 คน (ข้อมูลนี้เชื่อได้จนไม่ต้องจำเป็นอยู่นานถึงขนาดนั้นเพื่อให้เห็นกับตาตนเอง ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าถึงเห็นแล้วจะเข้าใจหรือไม่) ซึ่งหมายถึงว่า "กลุ่มคนร้อยปี" จะมีหญิงมากกว่าชายถึงกว่า 3 เท่าตัว ความ "หนังเหนียว" ของสตรีสะท้อนให้เห็นใน "อายุขัยเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด" (life expectancy) ของหญิงไทยที่ปัจจุบันอยู่ที่ 76 ปี แต่ชายไทยอยู่ที่ 70 ปี (ปรากฏการณ์หญิงอายุยืนกว่าชายนี้เป็นจริงในทุกสังคม มีคนให้เหตุผลว่าเพราะพระเจ้าต้องการให้ภรรยาได้มีโอกาสมีชีวิตอันสงบในบั้นปลายชีวิต) ถึงแม้ทุกปีทารกชายจะมีจำนวนมากกว่าหญิงแต่สุดท้ายจำนวนชายก็น้อยกว่าหญิง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะอัตราการตายของชายสูงกว่าหญิงในทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่วัยหนุ่มสาวและวัยทำงานความแตกต่างจะยิ่งมีมากขึ้น ข้อมูลของปี พ.ศ.2549 ชี้ว่าในช่วงอายุ 20-24 ปี มีประชากรไทยที่ตายเป็นหญิงเพียง 1,702 คน ในขณะที่เป็นชายถึง 5,751 คน ซึ่งมากกว่าหญิงถึง 3.4 เท่า (แม้แต่ในช่วงอายุ 15-19 ปี อัตราการตายของชายก็มากกว่าหญิงถึง 3.7 เท่าตัว) อัตราการตายของชายมากกว่าหญิงกว่า 2 เท่าตัวไปตลอดทุกช่วงอายุจนถึงช่วงอายุ 45-49 ปี จึงลดลงต่ำกว่า 2 สาเหตุสำคัญที่ทำให้ชีวิตชายไทย "เปราะบาง" กว่าหญิงเนื่องมาจากฮอร์โมน เพศชาย (testosterone) ซึ่งมีอยู่ท่วมท้นในเพศชายทำให้มีแบบแผนการดำรงชีวิตที่เอนเอียงไปทางโลดโผน สุ่มเสี่ยง รุนแรง ขาดความรอบคอบกว่าเพศหญิงที่มีฮอร์โมนชนิดนี้น้อยกว่ามาก อีกทั้งเชื่อว่าในช่วงชีวิตตอนต้น หญิงมีปัจจัยทางชีววิทยาที่ทำให้มีภูมิคุ้มกันที่จะรอดชีวิตมากกว่า (เช่น หญิงก่อนวัยทองมีจำนวนน้อยมากที่เป็นโรคหัวใจ) ประชากรชายไทยมีความเสี่ยงต่อการตายด้วยการติดเชื้อเอดส์ และสาเหตุภายนอกที่สำคัญได้แก่ อุบัติเหตุ และความรุนแรงในเกือบทุกช่วงอายุจนเป็นผลทำให้มีจำนวนน้อยกว่าหญิงที่มีความเสี่ยงในเรื่องเหล่านี้น้อยกว่า ผู้เขียนได้ฉายภาพประชากรไทยว่านับจากนี้ไปประชากรไทยจะขึ้นไปถึงจุดสูงสุดในอีก 10 ปีข้างหน้าด้วยจำนวน 65.2 ล้านคน จากนั้นจะคงตัวอยู่ที่ 65 ล้านคนระยะหนึ่งและจึงค่อยลดน้อยลง แต่ในขณะที่จำนวนประชากรรวมเพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่จำนวนแตกต่างระหว่างเพศจะยิ่งเพิ่มขึ้น จากที่มากกว่ากัน 9 แสนคนในปี 2550 คาดว่าใน พ.ศ.2558 หรือ 7 ปีจากปัจจุบัน หญิงจะมากกว่าชาย 1.167 ล้านคน และใน พ.ศ.2568 หญิงจะมากกว่าชาย 1.532 ล้านคน ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการขาดแคลนชายเช่นนี้ก็ได้แก่ (1)ความไม่สมดุลในจำนวนเพศทำให้โอกาสจับคู่ของหญิงชายมีน้อยลง หญิงโสดจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น (หญิงอายุ 15-54 ปี ที่เป็นโสดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 25 ใน พ.ศ.2523 เป็นร้อยละ 30 ใน พ.ศ.2543 และอาจเพิ่มถึงร้อยละ 35 ใน พ.ศ.2551 นี้) จนมีผลกระทบต่อภาวะเจริญพันธุ์ของประชากรไทยกล่าวคือจากจำนวนบุตรเฉลี่ยตลอดวัยเจริญพันธุ์ 1.5 คนในปัจจุบันอาจลดลงไปเหลือเพียง 1 ในอนาคตอันใกล้ก็เป็นได้ (2)จำนวนประชากรที่มีแนวโน้มลดลงในขณะที่ขนาดเศรษฐกิจขยายตัวขึ้น หมายถึงการขาดแคลนแรงงาน และเมื่อคำนึงถึงสัดส่วนประชากรสูงวัยที่เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับในสังคมไทยประกอบด้วยแล้ว ก็นำไปสู่สังคมที่คนหนุ่มสาวไทยในอนาคตต้องทำงานโดยมีผู้ช่วยน้อยลงและมีภาระเลี้ยงดูผู้ใหญ่หนักขึ้น (3)เมื่อขาดแคลนแรงงานชาย งานบางประเภทที่เหมาะเฉพาะเพศชาย เช่น ออกแรงแบกหาม ฯลฯ ต้องหันไปใช้หญิงซึ่งมีความสามารถในการทำงานลักษณะนี้น้อยกว่าแทนจนอาจเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และเช่นเดียวกันงานที่เหมาะแก่เพศหญิงก็จะมีหญิงต้องการทำงานเกินกว่างานที่มีให้ทำ การไม่จับคู่กันอย่างเหมาะสมระหว่างงานและเพศจะมีผลกระทบต่อความสามารถในการผลิตรวมของประเทศ (4)การนำเข้าแรงงานชายจากต่างประเทศเพื่อทำงานที่ไม่อาจหาชายไทยทำได้เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้น เช่นเดียวกับการแต่งงานข้ามชาติของหญิงไทย ชีวิตชายไทยนั้น "เปราะบาง" มีโอกาสตายสูงกว่าหญิงในทุกกลุ่มอายุ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องดูแลตนเองให้อยู่รอดปลอดภัย และถ้ารอดไปได้ก็จะได้ครอบครองสถานภาพ "เล่นตัว" เป็นรางวัลเพราะมีหญิงมากมายให้เลือก บทความโดย : วรากรณ์ สามโกเศศ ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน วันที่ 17 กรกฎาคม 2551 |
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() |