ปัญหาภาษีดอกเบี้ยเงินกู้ยืม

ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นอกจากค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา หรือค่าใช้จ่ายตามความเป็นจริงและสมควรแล้ว กฎหมายยังให้หักลดหย่อนได้อีก เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีเงินได้ของผู้มีเงินได้ ซึ่งจะแตกต่างการประกอบกิจการในรูปของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอย่างมาก ที่กำหนดให้หักเฉพาะค่าใช้จ่ายเท่านั้น เหลือเท่าไรเป็นกำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลทันที
ปัจจุบันการหักลดหย่อนเพื่อการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีมากหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็นค่าลดหย่อนส่วนบุคคล ทั้งในส่วนที่เป็นลดหย่อนส่วนตัวผู้มีเงินได้ คู่สมรส บุตร และบุพการีของผู้มีเงินได้ หรือค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต ค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย ค่าลดหย่อนเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ค่าลดหย่อนเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ค่าลดหย่อนเงินบริจาค
มีปัญหาเกี่ยวกับค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย ถึงขนาดเป็นความกัน แม้จำนวนเงินจะไม่มาก แต่เป็นประเด็นข้อกฎหมายที่สำคัญ กล่าวคือ ผู้มีเงินได้มีคู่สมรส ภายหลังจากที่ผู้มีเงินได้ได้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย และในปีที่ยื่นรายการนั้นคู่สมรสหรือภริยามีเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 และใช้สิทธิแยกคำนวณภาษีเงินได้ต่างหากจากสามีหรือผู้มีเงินได้ แต่ในการคำนวณหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ผู้มีเงินได้ผู้เป็นสามีได้นำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมมาหักลดหย่อนแต่เพียงฝ่ายเดียว ทำให้เสียภาษีเงินได้ต่ำไปตามฐานการหักลดหย่อนดังกล่าว กรมสรรพากรตรวจสอบแบบแสดงรายการแล้ว เห็นว่าไม่ถูกต้องจึงทำการประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้จากผู้มีเงินได้เพิ่มเติม โจทก์ผู้มีเงินได้จึงอุทธรณ์ และนำคดีขึ้นสู่ศาลภาษีอากรกลาง และคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาตามลำดับ โดยในชั้นศาลภาษีอากรกลาง พิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ไม่ต้องจ่ายค่าภาษีเงินได้ที่กรมสรรพากรประเมินเรียกเก็บไป
เมื่อศาลฎีกาได้พิเคราะห์ตามข้อกฎหมายแล้วพิพากษาว่า ตามกฎหมายกำหนดให้ผู้มีเงินได้ที่มีคู่สมรส และคู่สมรสแยกคำนวณและเสียภาษีต่างหากนั้น ได้สิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมได้กึ่งหนึ่ง ไม่ว่าจะได้ร่วมกู้หรือไม่ก็ตาม
ดังนั้น การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว เพราะได้ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายแล้ว คำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้าฟังขึ้น ทั้งนี้ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 9759/2542
เป็นอุทาหรณ์ ให้ท่านที่มีดอกเบี้ยเงินกู้ยืมได้พิจารณาก่อนยื่นแบบภาษีเงินได้ครับ.

บทความโดย : สุเทพ พงษ์พิทักษ์ ที่มา : นสพ.เดลินิวส์ วันที่ 10 มีนาคม 2551