
ภาษีขายหนังสือพิมพ์นิตยสาร
มีปัญหาว่า บริษัทฯ แห่งหนึ่งยื่นแบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.01) ตั้งแต่ปี 2545 โดยแจ้งประเภทของการประกอบกิจการ ขายส่ง-ขายปลีก เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องใช้ในครัวเรือน ของชำร่วย หนังสือนิตยสาร ต่าง ๆ ของเล่นเด็ก และสินค้าเบ็ดเตล็ด เพราะด้วยสำคัญผิดเข้าใจว่า ในการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มต้องระบุประเภทของการประกอบกิจการทั้งหมด รวมทั้งการขายหนังสือนิตยสารต่าง ๆ ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อบริษัทฯ ขายหนังสือนิตยสารต่าง ๆ บริษัทฯ ไม่เคยเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อเลย เพราะรู้ดีว่าเป็นสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
นอกจากนี้ในการยื่นแบบ ภ.พ.30 ในแต่ละเดือนบริษัทฯ ได้แสดงยอดขายหนังสือนิตยสารต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นยอดขายที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มมาโดยตลอด
อีกทั้งมิได้นำภาษีซื้อที่เกิดจากการประกอบกิจการขายหนังสือนิตยสารต่าง ๆ ไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด
ในกรณีเช่นนี้ กรมสรรพากรอนุโลมให้บริษัทฯ ยื่นแบบคำขอแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.09) และยื่นหนังสือต่อสำนักงานสรรพากรภาค เพื่อขอลดประเภทกิจการขายหนังสือนิตยสารต่าง ๆ ในปีปัจจุบัน โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อปี 2545 ด้วยเหตุผลว่าบริษัทฯ ไม่มีเจตนาจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายหนังสือนิตยสารต่าง ๆ มาตั้งแต่แรกแล้ว
การแจ้งประเภทการประกอบกิจการขายหนังสือนิตยสารต่าง ๆ ตามแบบคำขอจด ทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.01) ของบริษัทฯ จึงเป็นการแจ้งโดยสำคัญผิด และมิใช่เป็นการแจ้งต่ออธิบดีเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมทั้งอนุมัติให้ลดประเภทกิจการขายหนังสือนิตยสารต่าง ๆ ได้ตามที่บริษัทฯ ร้องขอไป
นับเป็นอุทาหรณ์หรือตัวอย่างที่ดีอีกครั้งหนึ่งว่า กรมสรรพากรมีหลักปฏิบัติที่ยึดถือความเป็นธรรมเป็นที่ตั้งไม่ดันทุลัง ไปตามหลักฐานเบื้องต้นที่เป็นเพียงรูปแบบตามคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
หากแต่ยึดถือเนื้อหาหรือความเป็นจริงที่ปรากฏชัดตลอดเวลาว่า ผู้ประกอบการไม่ได้ประสงค์ที่จะจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายหนังสือนิตยสารต่าง ๆ

จากคอลัมภ์ มุมภาษี โดย สุเทพ พงษ์พิทักษ์ นสพ.เดลินิวส์ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2551