
ภาษีสวัสดิการ
ใกล้ปีใหม่แล้วมีประเด็นคำถามว่าที่เกี่ยวข้องกับปีใหม่อยู่สองข้อที่น่าจะเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไปได้ จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังดังนี้ครับ
คำถามแรก บริษัทฯ ประกอบกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้ให้สวัสดิการ ด้านการรักษาพยาบาลกับพนักงาน ให้ของเยี่ยมพนักงานผู้เจ็บป่วยตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป การเลี้ยงอาหารและจับของรางวัลแก่พนักงานในวันปีใหม่ มีปัญหาว่า รายจ่ายดังกล่าวถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้หรือไม่ และกรณีที่มีภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องกับรายจ่ายดังกล่าว บริษัทฯ จะนำภาษีซื้อไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้หรือไม่
เรื่องนี้มีแนวคำตอบว่า หากค่าใช้จ่ายดังกล่าว เป็นค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับสวัสดิการที่บริษัทฯ ให้แก่พนักงานทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ และมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจน ย่อมเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการประกอบกิจการ
บริษัทฯ มีสิทธินำรายจ่ายทั้งหลายนั้นไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ และมีสิทธินำภาษีซื้อไปหักจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ เช่นกัน
อีกประเด็นหนึ่ง มีปัญหาว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ลูกค้าบริษัทฯ จะจัดงานเลี้ยงพนักงานตามประเพณี ลูกค้าของบริษัทฯ จึงได้ทำหนังสือขอการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อช่วยในการจัดงานดังกล่าว ซึ่งบริษัทฯ ได้ตอบตกลงพร้อมทั้งส่งเงินสนับสนุนจำนวน 20,000 บาท บริษัทฯ จึงขอทราบว่า เงินสนับสนุนในกรณีนี้ บริษัทฯ สามารถถือเป็นรายจ่ายได้หรือไม่
เรื่องนี้แนวคำตอบเป็นสองกรณีคือ
1. กรณีทั่ว ๆ ไป ที่ไม่มีข้อเท็จจริงอื่นใด เงินที่บริษัทจ่ายสนับสนุนให้แก่ลูกค้าเพื่อจัดงานปีใหม่ เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการให้โดยเสน่หาและไม่ใช่รายจ่ายเพื่อกิจการค้าของบริษัทฯโดยเฉพาะ จึงนำมาถือเป็นรายจ่ายไม่ได้ต้องห้ามมิให้นำไปหักเป็นรายจ่ายในการ คำนวณกำไรสุทธิทางภาษีอากร
2. กรณีเป็นรายจ่ายในการส่งเสริมการขาย ซึ่งบริษัทฯ มีเงื่อนไขที่ให้เป็นรางวัล หรือประโยชน์ใด ๆ จากการส่งเสริมการขาย ที่จ่ายให้แก่ลูกค้าที่ซื้อสินค้าไปเป็นจำนวนมาก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีผลต่อการขาย การลดต้นทุน หรือลดรายจ่าย ของผู้ซื้อซึ่งเป็นลูกค้าของบริษัทฯ เช่นนี้ เงินอุดหนุนดังกล่าวย่อมเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการประกอบกิจการหรือเป็นรายจ่ายเพื่อการหากำไรโดยเฉพาะ
และหากลูกค้าเป็นตัวแทนจำหน่ายที่ ซื้อสินค้าไปขายต่อ บริษัทฯต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา 3% ของเงินอุดหนุนนั้นด้วย

บทความโดย : สุเทพ พงษ์พิทักษ์ ที่มา : นสพ.เดลินิวส์ วันที่ 24 ธันวาคม 2550