บริษัท พัฒนกิจ บัญชี ภาษีและฝึกอบรม จำกัด
Pattanakit Accounting Tax & Training Co., Ltd.
59/275 ซอยสุวินทวงศ์ 44 ถนนสุวินทวงศ์ แขวงลำผักชี เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร 10530
โทรศัพท์ 0-2019-4656 , 0-2023-7182 , 084-1568284, 092-4634120, 098-2529544, Fax 0-2019-4659
Website :https://www.pattanakit.net / Email : pat@pattanakit.net

ภาวะเสี่ยงทางการเงินของคนไทย
ภาวะเสี่ยงทางการเงินของคนไทย
ไม่ว่าจะเป็นผลสำรวจของค่ายหรือสำนักไหนก็ตาม ก็ค่อนข้างไปในโทนเดียวกันว่า คนไทยยังมีความเสี่ยงในชีวิตเพราะ "ขาดแคลนเงินออม" ในเวลาเดียวกัน ยังถูกรุมเร้าด้วยปัญหา "หนี้สินพะรุงพะรัง" ใช้ชีวิตอย่างขาดการวางแผนการเงินอย่างเหมาะสม และไม่มีการเตรียมพร้อมทางด้านการเงินที่ดีพอ 83% ของคนไทยไม่มีการออมเงินเป็นประจำ 57% ของคนไทยไม่มีเงินเพียงพอที่จะใช้ชีวิตหลังเกษียณ 84% ของคนไทยยังไม่มีการซื้อกรมธรรม์คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลหลังเกษียณที่มากพอ คนไทยโดยเฉลี่ยเริ่มคิดและวางแผนเตรียมความพร้อมสำหรับชีวิตหลังเกษียณเมื่ออายุ 44 ปี ซึ่งช้ากว่าเกณฑ์โดยเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียที่มักจะวางแผนเมื่ออายุ 39 ปี ภาพรวมและตัวเลขเหล่านี้ คงพอจะบอกได้ว่า คนไทยส่วนใหญ่กำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงภัยทางการเงิน ซึ่งเป็นภัยใกล้ตัวที่แม้ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่ดูเหมือนกำลังระบาดอย่างหนัก ขอหยิบบทวิจัยจากค่ายต่างๆ ที่ตอกย้ำกันครั้งแล้วครั้งเล่า ว่าคนไทยอยู่ในสถานการณ์ที่พร่องเงินออมแค่ไหน อาจจะดูเหมือนพูดเรื่องซ้ำซาก แต่หวังว่าจะเป็นอีกแรงหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้คนไทยมองเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ แค่เป็นบุคคลปลอดหนี้ และมีเงินออมติดกระเป๋า ก็ถือว่าชาตินี้คุณเกิดมาโชคดีมีบุญแล้ว เพราะลองมองไปให้รอบด้านก็จะพบว่า คุณถูกรายล้อมไว้ด้วยคนมีหนี้ คนไม่มีเงินออม และคนที่ใช้ชีวิตอย่างขาดการวางแผนทางการเงิน ลองคิดดูว่า แค่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจอยู่ในยามปกติ แล้วคุณเกิดมีภาระหนี้สินติดตัว และเป็นคนปลอดเงินออม คุณก็มีชีวิตอยู่อย่างหายใจไม่คล่องอยู่แล้ว แต่สถานการณ์ในปัจจุบัน ราคาน้ำมันก็พุ่ง ค่าครองชีพก็ขยับตามกันไป ยิ่งทำให้คุณปวดหัวหนักขึ้นอีก "มร.โทมัส เจมส์ ไวท์" รองประธานบริหารระดับสูงและผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอไอเอ ประเทศไทย เแจงผลสำรวจดัชนี ไลฟ์-แมทเทอร์ส ประจำปี 2550 ซึ่งสำรวจด้านทัศนคติด้านความคุ้มครองด้านประกันภัย และความพร้อมด้านการเงินเพื่อรักษาสุขภาพ พบว่า คนไทย 83% ไม่มีการออมเงินเป็นประจำ ซึ่ง 57% พวกเขาไม่มีเงินเพียงพอที่จะใช้ชีวิตหลังเกษียณ และ 84% ยังไม่มีการซื้อกรมธรรม์คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลหลังเกษียณที่มากพอ ข้อมูลดังกล่าว สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า "คนไทยมีความเสี่ยงด้านการเงินสูง" กังวลเรื่องสุขภาพแต่ไม่ทำประกันสุขภาพ ที่บอกว่าเสี่ยงสูง นั่นก็เพราะจากการสำรวจพบว่า ค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลในแต่ละปีเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ โดยเมื่อปีที่แล้วที่สำรวจโรงพยาบาลระดับ 5 ดาว ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น 15% และคาดว่าในอีก 4 ปีข้างหน้า ค่ารักษาพยาบาลจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก 30% ทั้งๆ ที่ผลสำรวจพบว่า คนไทยมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาด้านสุขภาพ 57% และกังวลกับความเสี่ยงด้านการเดินทาง 52% แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ 74% ของกลุ่มตัวอย่างกลับไม่คิดว่าการทำประกันสุขภาพเป็นเรื่องเร่งด่วนในปัจจุบัน ซึ่งจากการสำรวจค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ คนไทยส่วนใหญ่คิดว่าค่าใช้จ่ายทางการแพทย์อยู่ประมาณ 494,879 บาท แต่ข้อเท็จจริงค่าใช้จ่ายบางโรคสูงกว่านั้น เช่น การปลูกถ่ายไตใหม่มีค่าใช้จ่าย 660,000 บาท และสูงถึง 710 ,000 บาท สำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจ อย่างไรก็ตาม ความคุ้มครองนี้ยังไม่รวมกรณีสูญเสียรายได้เนื่องจากการขาดงาน ค่าใช้จ่ายสำหรับการดูแลรักษาต่อเนื่อง และค่าใช้จ่ายแฝงอื่นๆ อีก ขณะที่คนไทยส่วนใหญ่มีวงเงินกรมธรรม์คุ้มครองโรคร้ายแรงเฉลี่ยเพียง 411,596 บาท ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่เป็นจริงค่อนข้างมาก "เป็นทัศนคติของคนไทยที่คิดว่ามากพอ จึงคิดว่าสามารถซื้อประกันในวงเงินต่ำได้ แต่ปรากฏว่ากรมธรรม์ที่คนไทยถือครองอยู่ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล" "ธลมนัส บุนนาค" ผู้ช่วยรองประธานฝ่ายประกันอุบัติเหตุและสุขภาพ บริษัท เอไอเอ ประเทศไทย ให้ความเห็น ขาดการเตรียมพร้อมด้านการเงิน ส่วนการเตรียมพร้อมด้านการเงิน ผลสำรวจพบว่า คนไทยเชื่อว่าตัวเองไม่มีความพร้อมด้านการเงินสำหรับการรักษาพยาบาลโรคร้ายแรงที่ต้องรักษาตัวเป็นเวลานาน เช่น โรคมะเร็ง ซึ่งความกังวลดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ที่มีเพียง 37% เป็น 58% ในปัจจุบัน แต่กลุ่มตัวอย่าง 47% คาดหวังว่า หากเกิดปัญหาด้านสุขภาพหรืออุบัติเหตุกับพวกเขา สมาชิกในครอบครัวสามารถดูแลค่าใช้จ่ายแทนได้ ที่เห็นได้ชัดคือ ผลสำรวจดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยยังติดอยู่กับความคิดที่ว่า "สิ่งนั้นคงจะไม่เกิดขึ้น กับฉัน" ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า คนไทยยังมีความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการหวังพึ่งครอบครัวในกรณีที่เกิดปัญหาทางการเงิน อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุและสุขภาพ เมื่อสำรวจในด้านระยะเวลาที่กลุ่มตัวอย่างจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตามปกติ หากประสบปัญหารายได้หลักหายไปอย่างกะทันหัน พบว่าน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด หรือประมาณ 42% พวกเขาคิดว่า จะสามารถรักษาระดับมาตรฐานการดำรงชีวิตได้นานกว่า 2 ปีเล็กน้อย ซึ่งลดลงอย่างมากจากผลสำรวจของปีที่แล้วอยู่ที่ 58% "โดยรวมๆ จะเห็นได้ว่า คนไทยยังมีทัศนคติต่อการทำประกันว่าเป็นภาระ ทั้งที่จริงเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินของชีวิต การทำประกันจะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ เมื่อไรก็ตามที่เรายังคิดว่าประกันเป็นภาระ ชีวิตก็จะยืนอยู่บนภาวะเสี่ยงทางการเงินต่อไป" นักการเงินคนหนึ่งให้ทัศนะ ไม่ได้นึกถึงการวางแผนใช้ชีวิตในอนาคต กลุ่มแอกซ่า เอเชีย แปซิฟิก โฮลดิ้ง เป็นสถาบันอีกแห่งหนึ่งที่สำรวจดัชนีชี้วัดมุมมองต่อชีวิตของประชาชนในภูมิภาคเอเชีย เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของประชาชนในการบริหารจัดการทางการเงิน และทัศนคติที่มีต่อการใช้ชีวิตและสังคมในปัจจุบันและอนาคต โดยสำรวจกลุ่มประชากรที่มีรายได้ปานกลางถึงสูง (ร้อยละ 25 - 30 ของประชากร) อายุ 25- 50 ปี ใน 8 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย ฮ่องกง สิงคโปร์ จีน มาเลเซีย อินเดีย และฟิลิปปินส์ โดยวัดจากปัจจัยหลัก 4 ประการ ที่มีผลต่อการใช้ชีวิต คือ ครอบครัว อาชีพ การเกษียณอายุ และสุขภาพ โดย "มร.ไมค์ แพล็กซ์ตัน" ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กรุงไทย - แอกซ่า ประกันชีวิต บอกว่า วัตถุประสงค์ของการทำสำรวจในครั้งนี้ เพื่อคาดการณ์การบริหารทางการเงิน และสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองและความพึงพอใจของประชาชนในภูมิภาคเอเชียต่อปัจจัยหลักในการดำรงชีวิตในปัจจุบัน ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ในแง่มุมของการเกษียณอายุนั้น คนไทยมีความพึงพอใจในการใช้ชีวิตในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ได้นึกถึงการวางแผนใช้ชีวิตในอนาคตอย่างเหมาะสม เช่นเดียวกันกับ อินเดีย จีน และฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ 67% ของคนไทยที่มีรายได้ปานกลางถึงสูง ไม่ได้เริ่มวางแผนการเตรียมความพร้อมในชีวิตหลังเกษียณอย่างจริงจัง แต่คนไทยมีความพึงพอใจในการใช้ชีวิตในอนาคตจัดเป็นอันดับ 4 ในกลุ่ม 8 ประเทศเอเชีย แต่กลับเริ่มวางแผนเตรียมความพร้อมสำหรับชีวิตหลังเกษียณเมื่ออายุ 44 ปี ซึ่งช้ากว่าเกณฑ์โดยเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียที่ 39 ปี แม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่มีแผนที่จะเกษียณเมื่ออายุ 58 ปีก็ตาม "จากผลสำรวจมีเพียง 35% ของคนไทยที่วางแผนจะมีลูกคนแรก หรือมีลูกเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการเลี้ยงดูลูก และความไม่แน่นอนในชีวิต เลยทำให้มีความลังเล คนไทยส่วนใหญ่จะเชื่อว่าการศึกษาที่ดีเป็นหนทางเดียวสู่ความสำเร็จ และยินดีเสียสละมาตรฐานในการดำรงชีวิตปัจจุบัน เพื่อให้ลูกหลานมีการศึกษาที่ดีก็ตาม คนไทยมีความรู้สึกต่อการเปลี่ยนแปลงรายได้ไม่ว่าจะเพิ่ม หรือลดของสมาชิกในครอบครัว เพราะเชื่อว่ารายได้ของสมาชิกในครอบครัวมีผลต่อการใช้ชีวิตในอนาคต" มร.ไมค์ให้ความเห็น ผลสำรวจประเด็นหนึ่งของกลุ่มแอกซ่า ที่สอดรับกับเอไอเอคือ มีเพียง 37% ของคนไทยที่มีการซื้อประกันสุขภาพส่วนบุคคล ถึงแม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญต่อเรื่องสุขภาพก็ตาม ถึงกระนั้นก็คิดว่าการมีเงินสำรองเพื่อใช้จ่ายเรื่องสุขภาพในอนาคตเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งประมาณ 44% ของกลุ่มตัวอย่างมีมุมมองที่ดีเรื่องสุขภาพในปัจจุบัน แต่ลดลงเป็น 41% ในอีก 5 ปีข้างหน้า และมีความกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นในการดูแลสุขภาพ "แต่ถึงยังไงก็ตาม 44% ของคนไทย มีความพึงพอใจกับอาชีพของตนในปัจจุบัน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 48% ในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเชื่อว่าอาชีพจะช่วยสร้างความมั่นใจในชีวิต และส่งผลถึงการเกษียณอายุ เช่นเดียวกับประชาชนส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย นอกจากนั้นส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า อาชีพการงานคือ รายได้ที่จะช่วยเหลือจุนเจือครอบครัวในการดำรงชีวิตอีกด้วย"มร.ไมค์ ให้ความเห็น ศก.- การเมืองผันผวนกระทบการชำระหนี้ ความเสี่ยงทางการเงินยิ่งเพิ่มสูงขึ้น เมื่อปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้กระทบการชำระหนี้อย่างชัดเจน เรื่องนี้บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สำรวจหนี้สินของคนกรุงเทพฯ พบประเด็นสำคัญ เกี่ยวกับหนี้สินของครัวเรือนในกรุงเทพฯ ที่เป็นกลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือนถึง 21.1% ยังพึ่งพิงแหล่งเงินกู้นอกระบบ นอกจากนี้ครัวเรือนในกรุงเทพฯ ที่เป็นกลุ่มตัวอย่างถึง 37.2% มีปัญหาในการผ่อนชำระหนี้ โดยแยกเป็น 33.7% มีปัญหาในบางเดือนและ 3.5% มีปัญหาทุกเดือน แนวทางในการแก้ปัญหาของครัวเรือนในกรุงเทพฯ เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะเน้นการเจรจาประนอมหนี้ แต่ก็มีกลุ่มตัวอย่างถึง 19.7% หันไปกู้เงินจากแหล่งใหม่เพื่อมาใช้หนี้เก่า ซึ่งส่วนนี้จะทำให้เกิดปัญหาหนี้สินในระดับครัวเรือนพอกพูนขึ้น เนื่องจากมีโอกาสมากกว่าการหาแหล่งเงินกู้แหล่งใหม่จะเป็นการกู้ยืมเงินนอกระบบ หรือการกู้ยืมที่ต้องยอมเสียอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม สองปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อการก่อหนี้สินคือ ความผันผวนทางเศรษฐกิจ และความผันผวนทางการเมือง โดยในแง่ของความสามารถในการชำระหนี้นั้น พบว่าผลกระทบจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ครัวเรือนในกรุงเทพฯ เผชิญปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ลดลง อันเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายของครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค ขณะเดียวกัน ในประเด็นการก่อหนี้ใหม่นี้ครัวเรือนในกรุงเทพฯ ที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง 60% ระบุว่าได้รับผลกระทบจากความผันผวนทางภาวะเศรษฐกิจและความผันผวนทางการเมือง 24% ได้รับผลกระทบน้อย ส่วนที่เหลืออีก 16% นั้นไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งครัวเรือนในกรุงเทพฯ ส่วนนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูง ทำให้ยังมีโอกาสในการก่อหนี้ใหม่ได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการก่อหนี้ก็คือ การรักษาประวัติในการชำระหนี้ให้อยู่ในเกณฑ์ดี เหล่านี้เป็น ภาวะเสี่ยงทางการเงิน ที่ถือว่าเป็นภัยที่อยู่ใกล้ตัวเหลือเกิน โรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อ เป็นแล้วรักษาง่าย แค่คิดก่อนใช้ เก็บก่อนใช้ นี่แหละ ยาแก้โรคขนานเยี่ยม บทความโดย : กาญจนา หงษ์ทอง 19/11/50 ที่มา : http://www.nationejobs.com |
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() |