
ภาษีเลี้ยงรับรองปีใหม่

ใกล้ส่งท้ายปีเก่า 2550 ต้อนรับปีใหม่ 2551 แล้วครับ มีบางบริษัทห้างร้าน เตรียมจัดงานปีใหม่ให้พนักงาน ซื้อของขวัญ ของชำร่วยให้แก่ผู้มีพระคุณ รายจ่ายเหล่านี้จะถือเป็นรายจ่ายได้หรือไม่ลองฟังกันดูนะครับ
กรณีบริษัทนายจ้างเลี้ยงรับรองพนักงานลูกจ้างของตนเอง ในโอกาสวันเกิดหรือเลี้ยงฉลองในเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยหลักทั่วไปในทางภาษีอากรห้ามมิให้เลี้ยงรับรองลูกจ้างพนักงานของบริษัท เว้นแต่ลูกจ้างจะมีส่วนร่วมในการรับรอง รายจ่ายนี้จึงถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามครับ
ประเด็นต่อมา ในกรณีที่บริษัทจัดงานเลี้ยงปีใหม่ให้พนักงาน ไม่ว่าจะจัดในบริษัทหรือบางครั้งไปจัดนอกสำนักงาน เช่น โรงแรม หรือสโมสร เป็นต้น
โดยทั่วไปรายจ่ายดังกล่าว ไม่ถือเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการหรือเป็นรายจ่ายเพื่อการหากำไร และ ไม่อาจนำภาษีซื้อมาใช้เป็นเครดิตหักออกจาก ภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ แต่ ถ้าบริษัทได้กำหนดกิจกรรมดังกล่าวไว้เป็นสวัสดิการแก่พนักงานลูกจ้าง โดยต้องจัดการให้เป็นประจำ ก็ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ และให้นำภาษีซื้อมาใช้เป็นเครดิตหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ เพราะเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการประกอบกิจการ และทั้งสองกรณีไม่เป็นประโยชน์เพิ่มของพนักงาน
กรณีบริษัทแจกกระเช้าให้แก่ลูกค้าที่ซื้อสินค้าเป็นประจำ โดยแจกทุกปี เป็นปกติประเพณีทางการค้าถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว หรือรายจ่ายให้โดยเสน่หา และ ไม่อาจนำภาษีซื้อมาใช้เป็นเครดิตหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ โดยภาษีซื้อดังกล่าวก็ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามด้วย
แต่หากเป็นรายจ่ายในการส่งเสริมการขายที่ได้กำหนดไว้เป็นการแน่นอน โดยถือเป็นรางวัลที่ให้แก่ลูกค้าของตน ซึ่งบริษัทต้องกำหนดระเบียบหรือแนวทางปฏิบัติที่แน่ชัดพร้อมที่จะให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบได้ ก็ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ และให้นำภาษีซื้อมาใช้เป็นเครดิตหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ เพราะเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการประกอบกิจการ แต่บริษัทต้องเสียภาษีขายจากมูลค่ากระเช้าที่เป็นรางวัลส่งเสริมการขายดังกล่าว และหากมูลค่าของรางวัลดังกล่าวมีจำนวนถึง 1,000 บาท บริษัทต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา 3% ของมูลค่ากระเช้า.

ที่มา : คอลัมภ์มุมภาษี นสพ.เดลินิวส์ 19-11-50 โดย สุเทพ พงษ์พิทักษ์