
ภาษีเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
สืบเนื่องมาแต่ปัญหาความไม่สงบในสี่จังหวัดภาคใต้ ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถทนอยู่ในสภาพนั้น ๆ ได้ มีการย้ายสถานประกอบการออกจากพื้นที่เป็นจำนวนมาก ในช่วง 1-2 ปีหลังนี้ จนรัฐบาลปัจจุบันของ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ต้องออกนโยบายช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการให้สามารถทำมาหากินและประกอบกิจการอยู่ได้ แม้จะเสี่ยงภัย แต่มีแรงจูงใจที่ทนทำงานหรือประกอบการต่อไป
กล่าวถึงมาตรการการรักษาความปลอดภัยที่รัฐจัดให้ แม้จะดีอย่างไรก็ยังไม่เพียงพอ เพราะปรากฏเป็นข่าวอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จึงเกิดมีการกำหนดเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ขึ้นเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการในท้องที่ดังกล่าว
เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ได้แก่ ท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดสงขลา เฉพาะในท้องที่อำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอเทพา และจังหวัดสตูล
มาตรการทางภาษีสรรพากรที่กำหนดขึ้นเพื่อบรรเทาภาระภาษีให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการในเขตท้องที่ดังกล่าว ก็คือ
1. การลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ผู้มีเงินได้ที่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(7) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ คงเหลือเพียง 0.1% ของเงินได้พึงประเมินดังกล่าว ระหว่างปี 2550-2552
2. ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ เหลือเพียง 3% ของกำไรสุทธิสำหรับปี 2550-2552
3. ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลกรณีการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ลงเหลือ 0.1% ของเงินได้ สำหรับเงินได้พึงประเมินได้รับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวระหว่างปี 2550-2552
4. ลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับกิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไรที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ระหว่างปี 2550-2552 ลงเหลือ 0.1% ของรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว.
ลดภาษีเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ(2)
สืบเนื่องมาจากมาตรการทางภาษีสรรพากร ที่จัดให้มีการลดอัตราภาษีสำหรับประชาชนและผู้ประกอบการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อันได้แก่ ท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดสตูล ส่วนจังหวัดสงขลา เฉพาะในท้องที่อำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอเทพา
ทั้งนี้สำหรับการมีรายได้และประกอบกิจการระหว่างปี 2550-2552 ทั้งกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจากการขายอสังหาริมทรัพย์
กล่าวเฉพาะการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น ได้กำหนดลดอัตราภาษีเงินได้ให้แก่ผู้มีเงินได้ที่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (7) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ เมื่อถึงกำหนดยื่นรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ จะเลือกเสียภาษีเงินได้ในอัตราร้อยละ 0.1 ของเงินได้พึงประเมินโดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากรก็ได้ ทั้งนี้ สำหรับเงินได้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2550 (ตลอดปี) จนถึง พ.ศ. 2552 เฉพาะที่ได้จากการผลิตสินค้า หรือการขายสินค้า ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ หรือการให้บริการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
ในรายละเอียดของการลดอัตราภาษีเงินได้ดังกล่าว ได้กำหนดความหมายของคำว่า การขาย ว่าหมายถึง การจำหน่าย จ่าย หรือโอนสินค้า โดยมีหรือไม่มีประโยชน์หรือค่าตอบแทน สัญญาให้เช่าซื้อสินค้า สัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อมีการส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ และการส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักร
แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับการส่งออกสินค้านั้น ให้ลดอัตราภาษีเงินได้แก่เฉพาะผู้ขายสินค้าที่เป็นผู้ผลิตสินค้า และมีการส่งออกสินค้าโดยทางอื่นที่ไม่ใช่ทางน้ำหรือทางอากาศ
สำหรับการให้บริการนั้นมีข้อกำหนดว่า การให้บริการต้องเกิดในสถานประกอบกิจการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ และมีการใช้บริการในราชอาณาจักร แต่ถ้าการให้บริการที่มีสถานประกอบกิจการทั้งในและนอกเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ การให้บริการและการใช้บริการนั้นต้องเกิดขึ้นในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจเท่านั้น ครับ.

ที่มา : คอลัมภ์ มุมภาษี โดย สุเทพ พงษ์พิทักษ์ นสพ.เดลินิวส์ 5 พฤศจิกายน 2550