บริษัท พัฒนกิจ บัญชี ภาษีและฝึกอบรม จำกัด
Pattanakit Accounting Tax & Training Co., Ltd.
59/275 ซอยสุวินทวงศ์ 44 ถนนสุวินทวงศ์ แขวงลำผักชี เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร 10530
โทรศัพท์ 0-2019-4656 , 0-2023-7182 , 084-1568284, 092-4634120, 098-2529544, Fax 0-2019-4659
Website :https://www.pattanakit.net / Email : pat@pattanakit.net

วิกฤตการณ์เงินบาทแข็ง
วิกฤตการณ์เงินบาทแข็ง
ผมหายหน้าหายตาไปนานเนื่องจากเหตุผลหลายอย่างที่ทำให้ไม่อยากออกความคิดความเห็น เพราะอาจจะไปกระทบเพื่อนที่ทำงานอยู่ในรัฐบาลนี้ และทำให้พวกเขาเสียสมาธิได้ แต่เมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจกำลังเลื่อนไหลไปในทิศทางที่น่าเป็นห่วง ก็เลยตัดสินใจออกมาพูดเป็นครั้งแรก ในเรื่องเศรษฐกิจการเงินที่กำลังน่าเป็นห่วง โดยมิได้ตั้งใจจะให้กระทบกระเทือนถึงใคร เรื่องแรกอยากจะพูดมานานแล้วว่า การส่งออกและการท่องเที่ยวนั้นมีความสำคัญ ทางเศรษฐกิจของเราเป็นอย่างยิ่ง เพราะประเทศเราเป็นประเทศเล็ก ตลาดเราก็เป็นตลาดเล็ก จะผลิตอะไรถ้าไม่ส่งออกก็ล้นตลาดเสียแล้ว อุตสาหกรรมการส่งออกและการท่องเที่ยวนั้น เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างกิจกรรมต่อเนื่องทางเศรษฐกิจมากมาย ประเทศเราเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติน้อยกว่าประเทศอื่นๆ มีความจำเป็นต้องนำเข้าของที่เราไม่มีมากมาย นับตั้งแต่น้ำมัน ถ่านหิน และพลังงานอื่นๆ วัตถุดิบ เครื่องจักร เรื่อยไปถึงเทคโนโลยี ยิ่งต้องนำเข้ามากเท่าไหร่ ความสำคัญของ การส่งออกและการท่องเที่ยวในฐานะเป็น แหล่งหาเงินตราต่างประเทศมาใช้ในการนำเข้า ก็ยิ่งมีความสำคัญ หลายคนคิดว่า การที่สัดส่วนของการส่งออกและการท่องเที่ยวของเราต่อรายได้ประชาชาติของเรา ซึ่งมีประมาณ 60-65 เปอร์เซ็นต์นั้นสูงเกินไป ทำให้เราต้องพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวมากเกินไป ผมกลับเห็นว่าไม่เป็นไร และเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเทศที่เล็ก และมีความเจริญทางเศรษฐกิจมาก สัดส่วนทางการส่งออก ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ก็ยิ่งสูงขึ้น บางประเทศมูลค่าการส่งออก มีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติเสียอีก เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง และหลายๆ ประเทศที่เจริญกว่าเรา ดังนั้นสัดส่วนของการส่งออกและการท่องเที่ยวสูงหรือต่ำไม่สำคัญ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการแข่งขันในเวทีระหว่างประเทศ และทรัพยากรของประเทศนั้นๆ ในระยะ 2 ปีมานี้ ค่าเงินบาทของเราแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เมื่อเทียบกับคู่แข่งขันของเรา กล่าวคือนับจากต้นปี 2549 บาทเราแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ถึง 23 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่เงินวอนเกาหลีใต้ แข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับดอลลาร์ประมาณ 9 เปอร์เซ็นต์ ริงกิตมาเลเซียและดอลลาร์สิงคโปร์แข็งค่าขึ้นประมาณ 9-10 เปอร์เซ็นต์ ฮ่องกงตรึงค่าไว้กับดอลลาร์สหรัฐ เงินเยนญี่ปุ่นมีค่าอ่อนลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ เมื่อเป็นอย่างนี้ การส่งออกและการท่องเที่ยวของเราก็ได้รับการกระทบกระเทือนอย่างหนัก ประสบกับการขาดทุน และแข่งขันกับต่างประเทศที่เป็นคู่แข่งไม่ได้ เมื่อขาดทุนและแข่งขันไม่ได้ก็ต้องทยอยปิดโรงงาน ทำให้คนตกงานมากขึ้นเรื่อยๆ อุตสาหกรรมหรือการส่งออกใดที่มีสัดส่วนใช้ของในประเทศมากกว่า คือใช้วัตถุดิบในประเทศมากก็ยิ่งขาดทุนมาก วิธีปรับตัวก็คือกดราคาวัตถุดิบที่ผลิตในประเทศลง เช่น กดราคายางพาราลง กดราคากุ้งลง กดราคาธัญพืช เช่น ข้าวโพด ปลายข้าว รำข้าว รวมทั้งราคาข้าวลง เพราะราคาที่ผู้ส่งออกได้รับเมื่อนำมาแตกเป็นเงินบาทลดลง ผลเสียจึงไม่ได้ตกอยู่กับผู้ส่งออกเท่านั้น แต่มีผลไปถึงทุกส่วนของเศรษฐกิจ ตั้งแต่ผู้ส่งออก ผู้ผลิตชิ้นส่วน และวัตถุดิบของผู้ส่งออก เรื่อยไปถึงชาวไร่ ชาวนา ชาวสวนยาง เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งนั้น คนในเมืองเสียหายย่ำแย่ แต่เมื่อค่าเงินบาทตก คนในชนบท ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวนยางดีขึ้น เพราะราคาพืชผลดีขึ้น แต่เที่ยวนี้ที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลกระทบตกอยู่กับทั้งคนในเมือง ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ในชนบทหมดทุกส่วน จะดีขึ้น ก็เฉพาะผู้นำเข้า หรือผู้ที่ใช้ของที่เราต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ หรือผู้ที่จะไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ หรือผู้ที่มีลูกเรียนหนังสืออยู่ในต่างประเทศเท่านั้น ด้วยเหตุนี้การเปลี่ยนแปลงของ ค่าเงินบาทจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะต้องรักษาไว้ให้มีเสถียรภาพ และให้อยู่ในระดับที่ ไม่เสียเปรียบคู่แข่งของเรา เช่น จีน และประเทศอื่นๆ แต่ที่ผ่านมาเราไม่ได้ดูแลผู้ส่งออกและธุรกิจการท่องเที่ยวของเรา ซึ่งถูกกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบในภาคใต้และความผันผวนทางการเมืองของเราเอง ที่ต้องถือว่าค่าเงินบาทเข้าสู่ภาวะวิกฤต เพราะเกิดการคาดการณ์ทั้งในตลาดในและนอกประเทศแล้วว่า ทางการไทยไม่มีความสามารถ ที่จะทำอะไรได้ เพราะมีทัศนคติที่แปลก ที่ไม่อยากจะทำอะไรที่ตนต้องรับผิดชอบ ถ้าเกิดความเสียหายขึ้นมาสู้อยู่เฉยๆ ดีกว่า ดังจะเห็นได้จากการให้สัมภาษณ์ที่ขัดกับเหตุผลทางเศรษฐกิจ หรือบางครั้งก็ออกมา "แก้ตัว" มากกว่าที่อยากจะ "แก้ไข" จนกลายเป็นการให้ท้ายนักเก็งกำไร ตัวอย่างเช่น - อัตราแลกเปลี่ยนไม่กระทบกับการส่งออก ไม่กระทบกับเศรษฐกิจ ซึ่งไม่จริง ผู้พูดก็รู้ว่าไม่จริง - ผู้ส่งออกต้องรู้จักปรับตัว เป็นการพูดที่ไม่ต้องรับผิดชอบ ผู้ส่งออกหรือเอกชนนั้นปกติปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ถ้าเขาทำได้ไม่ต้องรอให้ทางการมาบอกหรอก - ทางการทำอะไรไม่ได้แล้ว ทำหมดพุงแล้ว ทำดีที่สุดแล้ว ทำได้เพียงแค่นี้ซึ่งไม่จริง มีเรื่องที่จะทำได้อีกมากแต่ไม่ยอมทำ เพราะยึดติดกับสิ่งที่สร้างขึ้นมา อย่างเมื่อปี 2540 ที่ไม่ยอมลดค่าเงินบาทเพราะยึดติดกับตะกร้าเงินที่ตนสร้างขึ้นมา คราวนี้ก็ยึดติดกับ "สูตรเป้าหมายเงินเฟ้อ" ดอกเบี้ยซึ่งควรจะต้องใช้เป็นเครื่องมือร่วมกับเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ พร้อมๆ กัน ก็เลย ทำไม่ได้ จะเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยก็ต้องรอกำหนด วันเวลาที่กำหนดเอาไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ต้น การยึดติดเช่นว่าเท่ากับเป็นการมัดมือมัดเท้าตัวเอง ทำให้ขาดความคล่องตัว นโยบายดอกเบี้ยไม่ใช่ความรับผิดชอบของผู้ว่าการ ธปท. แต่เป็นความรับผิดชอบของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ผู้ว่าการก็รอดตัวไปจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งไม่น่าจะถูก ทั้งผู้ว่าการ รัฐมนตรีคลัง และนายกรัฐมนตรียังต้องรับผิดชอบอยู่ดี เมื่อไม่มีสภาผู้แทนราษฎรก็ต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อประเทศชาติและประชาชน - พูดให้ท้ายนักเก็งกำไร เช่น ทางการ จะทำให้เงินอ่อนลงเป็น 36 บาทต่อดอลลาร์ไม่ได้ แต่เงินบาทอาจจะแข็งค่าขึ้นเป็น 30 บาทต่อดอลลาร์ได้ การพูดเช่นนี้ก็ยิ่งทำให้เกิดการ คาดการณ์ว่า เงินบาทจะแข็งต่อเป็น 28 บาท ต่อดอลาร์ ทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวลง ไม่พูดเสียดีกว่า - การให้ข่าวว่าอัตราดอกเบี้ยกับอัตราแลกเปลี่ยนไม่เกี่ยวข้องกัน ก็เป็นการพูดที่ไม่ตรง ความจริง อย่างไรก็เกี่ยวข้องกันเพียงแต่จะช้า หรือเร็ว เพราะอัตราดอกเบี้ยกับอัตราแลกเปลี่ยน เหมือนด้านหัวกับด้านก้อยของเหรียญอันเดียวกัน เงินเยนอ่อนลงเพราะดอกเบี้ยเงินเยนต่ำทั้งที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัว ทำให้มี "carry trade" คนกู้เงินเยนมาเล่นดอลลาร์แล้วมาเล่นเงินบาท ต่อการพูดไม่ตรงความจริงทำให้เกียรติภูมิของสถาบันเสียหาย - การที่ตลาดเงินบาทแยกเป็น 2 ตลาด คือ ตลาดภายในประเทศกับตลาดต่างประเทศ และมีค่าของเงินที่ต่างกันมาก เป็นเครื่องชี้ถึงความผิดปกติของตลาดเงินบาท และมีคนทำกำไรจากความแตกต่างนี้ได้โดยวิธี "โพยก๊วน" คือ จ่ายเงินที่กรุงเทพฯแล้วไปรับเงินที่สิงคโปร์ หรือฮ่องกง โดยไม่ผ่านธนาคาร และยังมีผลต่อการคาดการณ์ของตลาด ว่าอัตราแลกเปลี่ยน ในประเทศจะวิ่งเข้าหาอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดต่างประเทศ สถานการณ์ดังกล่าวเกิดจากมาตรการให้ผู้นำเข้าดอลลาร์ต้องกันสำรองไว้ 30 เปอร์เซ็นต์ หรือต้องซื้อประกันความเสี่ยงเต็มตามจำนวน แต่เมื่อต้องยกเว้นให้นำเงินเข้ามาซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ได้ มาตรการที่ไม่ได้ผลก็ควรเลิกเสียดีกว่า ถ้าจะหยุดยั้งการแข็งค่าของเงินบาท โดยไม่ทำให้ตลาดถูกบิดเบือน ก็ต้องทำหลายอย่างพร้อมๆ กัน เพราะปัญหาหนักมากแล้ว อย่างแรกก็คือลดดอกเบี้ยลงสัก 1.0 ถึง 1.5 เปอร์เซ็นต์ โดยการลดดอกเบี้ยนโยบายและควรจะลดทีเดียวไม่ควรจะลดทีละ 0.25 เปอร์เซ็นต์ เพราะการค่อยๆ ลดจะทำให้ไม่เกิดผล และเกิดการคาดการณ์ต่อไปและต้องใช้เวลานานกว่าจะถึงอัตราเป้าหมาย เหตุการณ์ก็เปลี่ยนไปอีกแล้ว พร้อมๆ กับการลดดอกเบี้ย ทางการก็เข้าแทรกแซงตลาด อาจจะต้องขัดใจกับไอเอ็มเอฟหน่อย และต้องทำให้พอจนเงินบาทอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ถ้าทำครึ่งๆ กลางๆ เงินบาทแข็งต่อไป ธปท.ก็จะขาดทุน ถ้าทำจนบาทอ่อนตัวลงได้ ธปท.ก็จะกำไร ถ้าอ่อนตัวลงได้ถึง 38 บาทต่อดอลลาร์ ก็จะล้างขาดทุนเก่าออกได้หมด ใครก็จะมาต่อว่าไม่ได้ เมื่อออกมาแทรกแซงตลาด เงินบาทในตลาดก็จะเพิ่มขึ้นมากเกิน ธปท.ก็ดูดซับเงินบาทกลับไปโดยการออกพันธบัตร ถ้าดอกเบี้ยเงินบาทต่ำ กว่าดอกเบี้ยดอลลาร์ ธปท.ก็ไม่ขาดทุน ดอกเบี้ยเท่ากัน ธปท.เปลี่ยนดอลลาร์ในทุนสำรองเป็นพันธบัตรซึ่งตลาดยังรับได้ แล้วถ้าตลาดพันธบัตรเกิดขึ้นได้ ก็จะเป็นผลดีกับการพัฒนาการลงทุนอีกโสตหนึ่งด้วย การลดดอกเบี้ยอย่างแรงคงจะทำให้ราคาพันธบัตรในท้องตลาดที่มีอยู่แล้วขึ้นราคา แต่ก็ไม่น่าเป็นห่วง การดำเนินการดังกล่าวไม่น่าจะพาบ้านเมืองเข้าไปเสี่ยงกับอะไร เพราะเป็นการซื้อดอลลาร์ เอามาเก็บไว้ ทำให้ทุนสำรองเพิ่ม ขณะเดียวกันก็จัดการบริหารหนี้ต่างประเทศของภาครัฐ อันได้แก่หนี้ของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ โดยออกพันธบัตรเอาเงินบาท ใช้เงินบาทซื้อเงินดอลลาร์แล้วไปใช้หนี้คืนก่อนกำหนดอย่างน้อยสักครึ่งหนึ่ง ในส่วนของเอกชน ถ้าผ่อนคลายกฎของ ธปท.ที่จะทำให้ภาคเอกชนสามารถยืมเงินบาทจากธนาคารพาณิชย์ไปใช้คืนหนี้ดอลลาร์ได้ เพราะหนี้เงินต่างประเทศเป็นหนี้ของเอกชนเสียตั้งกว่า 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ถ้า ธปท.ผ่อนคลายได้ เอกชนคงรีบเปลี่ยนหนี้ดอลลลาร์มาเป็นหนี้เงินบาทแทน เพราะจะได้กำไร เพราะตอนได้มาเงินบาทมีราคากว่า 40 บาทต่อเหรียญ ถ้าคืนหนี้ตอนนี้เงินบาทมีราคา 33 บาทต่อเหรียญ เป็นการช่วยธุรกิจเอกชนด้วย ส่วนธนาคารพาณิชย์ให้สามารถปล่อยเงินที่เหลือกองอยู่ในธนาคารด้วย เพราะ สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ขณะนี้มีอยู่เพียง 85 เปอร์เซ็นต์ของยอดเงินฝากเท่านั้น ที่เอกชนถูกบังคับให้ไปกู้ต่างประเทศ เพราะกฎ ธปท.ที่ให้นับสินเชื่อของบริษัทในกลุ่มเดียวกันเป็นสินเชื่อที่ต้องจำกัดปริมาณเพื่อความมั่นคงของธนาคาร ให้สินเชื่อไม่กระจุกตัวในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากจนเกินไป สุดท้ายเร่งโครงการพัฒนาต่างๆ ให้เร็วขึ้น โดยใช้เงินกู้เป็นเงินบาทในประเทศให้มากขึ้น แม้จะไม่เกิดผลทันที แต่ก็น่าจะมีผลทางจิตวิทยาว่า ประเทศยังต้องใช้เงินดอลลาร์อย่างมาก ที่สำคัญนโยบายให้คนไทยเก็บเงินดอลลาร์ได้ ให้เอาเงินออกไปซื้อหุ้นเมืองนอกได้ ไม่ควรทำตอนนี้ ไม่มีผล เพราะผู้คนกำลังคาดการณ์ว่า เงินบาทกำลังจะแข็งต่อไป มีแต่คนอยากเก็บเงินบาท จะมีผลก็ตอนที่คนคาดว่าเงินบาทจะอ่อน คนก็จะเปลี่ยนเงินบาทเป็นดอลลาร์ ถึงตอนนั้นก็จะกลายเป็นปัญหาอีก ต้องสั่งยกเลิกอีก กลายเป็นตัวทำให้บาทไม่มีเสถียรภาพมากขึ้นในอนาคต ถึงตอนสถานการณ์พลิกกลับอาจจะมีปัญหาได้ ข้อสำคัญต้องตัดสินใจ จะอยู่เฉยๆ นอนรอความตายไม่ได้ ถ้าทำผิดก็เลิกแก้ไขใหม่ ไม่มีใครว่า แต่ถ้าไม่ทำอะไรเกิดความเสียหาย ผู้คนจะต่อว่าอย่างหนัก ขอให้กำลังใจ ธปท.และรัฐบาลให้ประสบความสำเร็จ ที่มา : คอลัมน์ คนเดินตรอก โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 23 กรกฎาคม 2550 |
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() |