ReadyPlanet.com
dot
คลังข้อมูลนักบัญชี
dot
bulletมุมบัญชี
bulletสภาวิชาชีพบัญชี
bulletกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
bulletธนาคารแห่งประเทศไทย
dot
ภาษี (Tax)
dot
bulletกรมสรรพากร
bulletสถานที่ตั้ง/เบอร์โทร สรรพากร
bulletประมวลรัษฎากร
bulletหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย
bulletDownload File บัญชี - ภาษี
dot
รวม Link เอนกประสงค์
dot
bulletอัตราแลกเปลี่ยนธนาคารต่างๆ
bulletอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์
bulletธนาคารพาณิชย์ต่างๆ
bulletหน่วยบริการภาษีใน กทม.
bulletตรวจผลสลากกินแบ่งรัฐบาล
bulletพจนานุกรมไทย
bulletDictionary อังกฤษ > ไทย
bulletเบอร์โทรศัพท์ - พกไว้คู่กาย
bulletรวมเบอร์โทรเรียก แท็กซี่
bulletชมคลิปวีดีโอ เมืองไทยในอดีต
dot
ค้นหาบทความในเว็บไซต์

dot
dot
บริการของเรา (Service)
dot


รับทำบัญชี



ผู้ให้และผู้รับ

  

                               ผู้ให้และผู้รับ

                   

  การให้เป็นเรื่องของน้ำใจที่เอื้อเฟื้อต่อกัน คนไทยถูกปลูกฝังในเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ก็มีปัญหากันจนได้เมื่อคนให้เกิดเปลี่ยนใจทำเฉยหรือลืมไปเลย ในขณะที่คนจะได้รับเขาฝังใจว่ามาบอกจะให้แต่รอเท่าไร ๆ ก็ไม่ได้สักที อย่างนี้มีได้มีเสียในทางกฎหมายที่ทำให้ผู้ชอบเปลี่ยนใจหรือผู้ที่อยากได้อาจต้องเข้าใจเพื่อไม่ต้องสูญเสียน้ำใจหรือความรู้สึกของทั้งสองฝ่าย

ให้เปล่า

  ชื่อก็บอกแล้วว่าเป็นการให้ ดังนั้นย่อมต้องไม่มีค่าตอบแทนที่เป็นเงินหรือประโยชน์อื่นใดเข้ามา กฎหมายท่านเรียกว่าเป็นการ “ให้โดยเสน่หา” นั่นคือการโอนทรัพย์สินของตนให้กับคนอื่นซึ่งเป็นผู้รับ แต่บางครั้งการให้ก็ไม่ง่ายเหมือนการจ่ายเงิน อาจเป็นการให้ทรัพย์สินที่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย หรือเป็นการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ทำให้การให้เปล่าไม่เป็นการได้เปล่าอย่างที่คิด

ให้อสังหาริมทรัพย์  

   หากสิ่งที่ให้เป็นที่ดินหรือบ้านซึ่งมีกระบวนการโอนที่ต่างจากการหยิบยื่นให้ไปเฉย ๆ ดังนั้นแม้จะเป็นการให้ไปเปล่า ๆ แต่ก็มีภาระหรือค่าใช้จ่ายพ่วงท้ายมาด้วยกับการได้เปล่านั้น เห็นง่าย ๆ ก็คือการจ่ายค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์
  กรณีนี้มีค่าธรรมเนียมในการโอนร้อยละ 2.5 ของราคาประเมินที่ดินนั้น ซึ่งรวมค่าอากรแสตมป์อยู่ในนั้นด้วย และการที่ได้ทรัพย์สินมา สรรพากรก็เห็น ๆ ว่าเป็นกำไรเหนาะ ๆ ของผู้ได้รับ ผู้ที่ได้บ้านที่ดินนั้นจึงต้องเสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคลให้กับรัฐตามอัตราที่กฎหมายกำหนดเอาไว้
  การให้ในหน้าที่ศีลธรรมก็เป็นตัวทำให้ภาระค่าใช้จ่ายน้อยลง ถ้าเป็นพ่อแม่ลูกยกที่ดินให้กัน กฎหมายก็ไม่ใจไม้ไส้ระกำ โดยท่านให้ชำระค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนให้เพียงร้อยละ 0.5 ของราคาประเมินของทรัพย์สินนั้น และไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ด้วย สิทธิประโยชน์นี้มีถึงกรณีที่คู่สามีภรรยาให้ทรัพย์สินแก่กันด้วย

การให้อื่น ๆ 

   นอกจากให้ทรัพย์สินแล้วอาจมีการให้ในลักษณะอื่นอีก เช่น ถ้าเขาเป็นหนี้เราอยู่ก็ถือโอกาสส่งความสุขวันปีใหม่ด้วยการปลดหนี้ให้ทั้งก้อนเลย อย่างนี้ถือเป็นการให้ที่ลูกหนี้ส่วนใหญ่ไม่อยากปฏิเสธ เมื่อตกลงปลดหนี้ให้เขาแล้ว ผู้รับก็ชอบที่จะได้รับหลักฐานการปลดหนี้ให้เรียบร้อยด้วย เช่น การเวนคืนเอกสารการกู้ยืมเงิน การขีดฆ่าเอกสารหรือการทำบันทึกหลักฐานจากผู้ให้ว่าได้มีการปลดหนี้กันเรียบร้อยแล้ว ไม่เช่นนั้นเจ้าหนี้ผู้ให้เกิดตายไป ทายาททั้งหลายที่อาจไม่รู้หรือไม่ยอมรับรู้ การทวงหนี้และการทะเลาะพิพาทก็ตามมา และผู้รับจะมาว่าคนตายไม่ได้
  ถ้าไม่มีหนี้สินต่อกันอันจะไปปลดหนี้เขาให้ได้ คนให้ก็อาจหวังดีไปชำระหนี้ที่มีอยู่กับเจ้าหนี้รายอื่นให้ ซึ่งก็ทำให้ลูกหนี้รายนั้นหลุดพ้นจากหนี้ได้ อย่างนี้ลูกหนี้ก็อยากเป็นผู้รับการให้แบบนี้เหมือนกัน แต่นั่นเป็นเพียงการคิดเองเออเองของคนให้ เรื่องแบบนี้จะต้องระวังถ้าเกิดการให้ไปขัดใจผู้รับขึ้นมา (ดูเนื้อหาในหัวข้อ “ให้แล้วไม่รับ”) หรืออาจเกิดความเสียหายแก่ลูกหนี้ได้ ดังนั้นกฎหมายจึงต้องกำหนดวิธีการจ่ายหนี้แทนลูกหนี้เอาไว้เป็นการเฉพาะ
  บางทีคนให้ก็ช่างคิด แทนที่จะให้เงินหรือปลดหนี้หรือชำระหนี้แทน ก็อยากทำเก๋ด้วยการให้สิทธิที่ตัวเองมีอยู่ ซึ่งสิทธิเหล่านั้นมักมีตราสารกำกับไว้เป็นสำคัญ เช่น ใบหุ้น หรือให้สิทธิเรียกร้องในหนี้สินที่มีอยู่ แบบนี้ก็ต้องทำตามกระบวนการของกฎหมายเช่นกัน นั่นคือ ต้องมีการแจ้งให้ลูกหนี้แห่งสิทธินั้นได้ทราบว่าได้มีการโอนเปลี่ยนผู้มีสิทธิมาเป็นผู้รับแล้ว

ให้โดยมีเงื่อนไขหรือค่าภารติดพัน

  เป็นไปได้ที่การให้อาจคำนึงถึงผลตอบแทน นอกเหนือจากบุญคุณ นั่นคือการให้โดยกำหนดเงื่อนไขเอาไว้ เช่นจะให้ที่ดินแปลงนี้ถ้าทำงานชิ้นนี้ให้ อย่างนี้แม้จะใช้คำว่าให้แต่ไม่ได้มีความหมายเป็นการให้ เพราะมีการตอบแทนการได้รับทรัพย์สินนั้น ๆ
  ให้แบบไม่มีเงื่อนไขแต่มีภาระติดมาด้วยกับทรัพย์สินที่ให้ เป็นการให้อีกอย่างหนึ่งที่ผู้รับต้องคิดหนักเหมือนกัน เพราะในการให้ลักษณะนี้ ผู้รับมีหน้าที่ต้องทำอะไรบางอย่าง เช่นที่ดินติดจำนองอยู่ ได้ที่ดินก็มีหน้าที่ชำระหนี้จำนองด้วย หรือได้ที่ดินซึ่งยังมิได้จ่ายค่าภาษีที่ดินหรือภาษีโรงเรือน ผู้ให้ก็เลยผลักภาระให้ผู้รับเป็นผู้เสียภาษีด้วย เป็นต้น
  ผู้ให้อยากสร้างภาระแก่ผู้รับแบบนี้จะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบตามกฎหมายด้วย กล่าวคือ ถ้าเป็นการให้ที่มีค่าภาระติดพัน หากสิ่งที่ให้นั้นมีความชำรุดบกพร่อง หรือถ้ามีคนที่มีสิทธิดีกว่ามาอ้างสิทธิในทรัพย์สิน ผู้ให้ก็ต้องรับผิดชอบชดใช้ให้ผู้รับเท่าที่ไม่เกินไปกว่าจำนวนค่าภาระติดพันนั้น

การให้และผลตามกฎหมาย

  อาจจะแปลกใจที่จะให้กันอย่างไรยังต้องอาศัยกฎหมายมากำกับ ความเข้าใจทั่วไปของการให้ก็คือการส่งมอบของที่จะให้แก่กันเป็นอันเสร็จพิธี แต่ก็ยังอุตสาห์มีการให้อย่างอื่นที่ต้องอาศัยกระบวนการด้วย เช่นการให้อสังหาริมทรัพย์อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ผู้ให้ไม่สามารถยกที่ดินแล้วใส่ในมือของผู้รับได้ จะต้องทำการจดทะเบียนการให้ตามกฎหมายด้วย และไม่จำเป็นต้องทำการส่งมอบการให้ก็ใช้ได้แล้ว
  การให้ของบางอย่างที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าถ้าเวลาซื้อขายจะต้องทำเป็นหนังสือ การให้สิ่งเหล่านี้จะต้องทำเป็นหนังสือด้วย ถ้าเป็นการให้สิทธิที่มีทำหนังสือตราสารเป็นสำคัญ จะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้เป็นลูกหนี้แห่งสิทธิทราบด้วยจึงจะสมบูรณ์
  เมื่อให้แล้วกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในทรัพย์สินก็ตกได้แก่ผู้รับไปโดยเด็ดขาด แต่จะได้สิทธิตรงนี้ไปก็ต่อเมื่อการให้สมบูรณ์ครบตามสูตรของกฎหมาย นั่นคือมีการส่งมอบการให้ และเป็นการให้โดยเสน่หา (ซึ่งไม่ได้แปลว่ามีความรักใคร่ในทางชู้สาว แต่เป็นความพอใจที่จะให้) ทั้งยังต้องปรากฏว่าผู้รับยอมรับเอาทรัพย์สินนั้นด้วย
  ถ้าตกลงให้ แต่ยังไม่ให้สักที อย่างนี้ต้องระวัง เพราะการให้ถือเป็นคำมั่นว่าจะให้ เมื่อยังไม่ได้ส่งมอบหรือทำการให้ตามวิธีที่กฎหมายกำหนดก็ถือว่าการให้ยัง “ไม่สมบูรณ์” ที่สำคัญการให้ที่บอกว่าจะให้ก็เมื่อคนให้ตายไปก่อนนั้นถือเป็นเรื่องของพินัยกรรมหรือมรดกไป ไม่ใช่การให้ในความหมายของกฎหมายเรื่องให้นี้ ซึ่งการให้แบบไม่ให้สักทีก็มีผลของการให้ตามที่จะกล่าวต่อไปข้างล่างนี้

ให้ผิดฝาผิดตัว

  คนเราก็สับสนกันได้ การให้ผิดคนสร้างความเสียดายแก่ผู้ที่จะได้รับและอาจสร้างความเสียใจแก่คนให้ได้พอ ๆ กัน เรื่องแบบนี้เห็นทีจะต้องนำตัวอย่างที่ให้ในการแต่งงานของคู่บ่าวสาวที่มักจะจัดงานกันตามสถานที่จัดเลี้ยงหรือโรงแรมซึ่งแขกที่ไปร่วมอวยพรในงานอาจเข้าผิดงานได้ กว่าจะรู้ตัวก็สายไปแล้วเพราะได้เซ็นชื่ออวยพรและส่งมอบของให้ตามกระบวนการที่กฎหมายและประเพณีการให้กำหนดเอาไว้แล้ว ผู้ให้บางรายก็อาจหาญไปทวงของคืนหรือบางรายก็หน้าบางปล่อยเลยตามเลยก็มี
  สำหรับคนรับที่ได้ลาภลอยถือเป็นการได้ลาภมิควรได้ ตามหลักกฎหมายต้องคืนไป เพียงแต่ถ้าได้ในการสมรสดังตัวอย่างข้างต้น กฎหมายท่านกำหนดเอาไว้ว่าถ้าได้ทรัพย์มาเพราะคนให้ตามอัธยาศัยในสมาคมและตามสมควรแล้ว คนรับก็ไม่ต้องคืนให้เขาไป อย่างกรณีการให้ของขวัญแต่งงาน แม้จะให้ด้วยความเข้าใจผิดแต่ถือเป็นการให้ตามอัธยาศัยได้ ผู้รับจึงไม่ต้องคืนเขาไป

ให้แล้วไม่รับ
 

  ไม่เสมอไปที่ให้แล้วจะถูกใจผู้รับ แม้โดยมารยาทของคนไทยเมื่อเขาให้มาก็ย่อมต้องรับ ไม่ว่าจะแสร้างทำหน้าปีติเพื่อเอาใจผู้ให้ประกอบฉากด้วยหรือไม่ แต่เรื่องบางอย่างมันต้องการมากกว่าการให้ เพราะอาจกลายเป็นการยัดเยียดมากกว่า
  เป็นเรื่องที่ผู้รับจะต้องตัดสินใจว่าจะรับการให้หรือไม่ การรักษามารยาทด้วยการรับทั้ง ๆ ที่ขัดใจ ก็ทำให้การให้สมบูรณ์แล้ว ดังนั้นเมื่อผู้รับไม่รับก็ไม่เป็นการให้ตามความหมายของกฎหมาย ถ้าผู้ให้ยังรั้นจะให้ และเป็นการให้ที่ไม่ใช่การส่งมอบของแก่กัน กฎหมายก็ยังรู้เท่าทันกำหนดสิทธิและหน้าที่เอาไว้ด้วย เช่นการชำระหนี้แทน กฎหมายบอกว่าจะต้องได้รับความยินยอมจากลูกหนี้เสียก่อน มิเช่นนั้นถือว่าเป็นการชำระหนี้โดยฝืนใจเจ้าหนี้ ซึ่งมีเกิดขึ้นได้เพราะลูกหนี้รายนี้ไม่ยอมชำระหนี้หรือจะยังไม่ชำระหนี้เพราะเขาอาจมีข้อเรียกร้องอะไรกับเจ้าหนี้รายนี้อยู่ ผู้หวังดีมาชำระหนี้ให้ก็อาจทำให้เกิดความเสียหายได้ การทำอะไรให้โดยพลการไม่เป็นการให้ตามความหมายของกฎหมาย แต่เป็นการ “จัดการงานนอกสั่ง” ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องว่ากันยาวในโอกาสต่อไป

ยังไม่ได้ให้

  หลายคนอาจคิดเสียงดังพลั้งปากไปว่าจะให้ หรือพูดพล่อยไม่ทันได้คิดว่าคนที่จะได้รับเขาจดเขาจำแม่นยำกว่าคนพูด แบบนี้จะผูกพันคนลั่นวาจาแค่ไหนก็ต้องดูกฎหมายให้ละเอียดด้วย เพราะการให้ยังไม่สมบูรณ์เพียงเพราะลมปาก จะต้องมีแอคชั่นประกอบฉากด้วย
  กฎหมายถือสานักหนาว่าการให้หรือคำมั่นว่าจะให้ จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เอาไว้ให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นก็บังคับการปฏิบัติการให้ไม่ได้เลย แปลว่าทวงไม่ได้ตาม

ให้แล้วเอาคืน
 

  เผลอใจไปเสน่หาด้วยการให้ของเขาแล้วก็แล้วกันไปจะมาทวงคืนไม่ได้ ยกเว้นกรณีเดียวก็คือ “เนรคุณ” คนให้ คงไม่ต้องบรรยายความเนรคุณเอาไว้ แต่ก็ต้องเป็นไปในกรอบที่กฎหมายกำหนดอยู่ดี นั่นคือ จะไปทำร้ายเขาอันเป็นความผิดตามกฎหมาย หรือไปทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียงหรือหมิ่นประมาทเขาอย่างร้ายแรง หรือไม่เลี้ยงดูเขาเมื่อเขายากไร้และคนรับสามารถจะให้การดูแลได้แต่ในส่วนของทายาทของผู้ให้นั้น จะทวงคืนการให้ถ้าเนรคุณได้ในกรณีที่คนรับไปฆ่าคนให้โดยเจตนาหรือโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือทำการกีดกันขัดขวางผู้ให้จนไม่สามารถถอนคืนการให้ได้ กรณีถอนคืนการให้และผู้รับไม่ยอมคืนก็ต้องไปฟ้องร้องกันที่ศาล และถ้าคนให้ตายเพราะคนรับฆ่า ทายาทของผู้ให้ก็ดำเนินคดีนี้ได้
  กฎหมายยังเปิดช่องในเรื่องการถอนคืนการให้เอาไว้ว่าถ้าคนให้เกิดอภัยในความเนรคุณนั้นแล้ว หรือปล่อยเวลาล่วงเลยไปถึง 6 เดือนนับแต่วันที่รู้ว่าจะฟ้องใครแล้วก็หมดสิ้นเรียกคืน หรือปล่อยเวลาผ่านไปเกิน 10 ปีนับแต่มีการเนรคุณแล้วก็หมดสิทธิ์เรียกร้องคืนเช่นกัน
  การให้เป็นเรื่องดีที่สวยงาม คนให้จะรู้ใจตัวเองที่สุดว่าให้เพราะหัวใจหรือมีอะไรแอบแฝง ให้แล้วอาจไม่ให้เลย หรือตกลงว่าจะให้ก็อาจถูกทวงถามได้เช่นกัน ไม่ว่ากฎหมายจะกำหนดแนวทางไว้อย่างไร การให้จะสมบูรณ์แบบจริง ๆ ก็ต่อเมื่อการให้และการรับอยู่บนพื้นฐานของความสุจริตใจเป็นที่ตั้ง
  


ที่มา : โดย ศรัณยา ไชยสุต  วารสารสภาทนายความ

                                                                     




รวมบทความกฎหมายน่ารู้

การทวงหนี้
กรรมการบริษัทต้องจ่ายเงินประกันสังคมหรือไม่
ไม้ตายจัดการเจ้าหนี้นอกระบบ
สิทธิประโยชน์จากประกันสังคม
ค้ำประกันอย่างไร ไม่ให้เสียตังค์
ลิขสิทธิ์ Copyright Law
หมิ่นประมาท เหยียดหยาม
กฎหมายไม่ใช่เรื่องไกลตัว
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแพ่ง
คำแนะนำในการไปติดต่อที่สถานีตำรวจ
กฎหมายประกันสังคม
กฎหมายแรงงาน
มีไฟล์เพลงละเมิดลิขสิทธิ์ในเครื่องคอมฯ อย่างไร จึงไม่ผิดกฎหมาย
หมิ่นประมาท
กฎหมายแรงงานที่ต้องรู้
ทำอย่างไร..เมื่อได้รับ "หมายศาล"
ความยินยอมของคู่สมรส
เมื่อมีปืน แล้วต้องรู้จักคำว่า ป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
ความไม่รู้กฎหมาย จะอ้างเป็นข้อแก้ตัวไม่ได้
ค่าชดเชย ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ เป็นอย่างไร
ผู้ต้องหามีสิทธิพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นสอบสวน
อายุความบัตรเครดิต 2 ปี หมายความว่าอย่างไร
เรียกดอกเบี้ยเงินกู้เกินที่กฎหมายกำหนดย่อมตกเป็นโมฆะ
ทะเบียนสมรส ( บทความที่ 2)
หลักประกันตัวในคดีอาญา
ทะเบียนสมรส ( บทความที่ 1)
ข้อควรปฎิบัติเมื่อถูกฟ้อง