ReadyPlanet.com
dot
คลังข้อมูลนักบัญชี
dot
bulletมุมบัญชี
bulletสภาวิชาชีพบัญชี
bulletกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
bulletธนาคารแห่งประเทศไทย
dot
ภาษี (Tax)
dot
bulletกรมสรรพากร
bulletสถานที่ตั้ง/เบอร์โทร สรรพากร
bulletประมวลรัษฎากร
bulletหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย
bulletDownload File บัญชี - ภาษี
dot
รวม Link เอนกประสงค์
dot
bulletอัตราแลกเปลี่ยนธนาคารต่างๆ
bulletอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์
bulletธนาคารพาณิชย์ต่างๆ
bulletหน่วยบริการภาษีใน กทม.
bulletตรวจผลสลากกินแบ่งรัฐบาล
bulletพจนานุกรมไทย
bulletDictionary อังกฤษ > ไทย
bulletเบอร์โทรศัพท์ - พกไว้คู่กาย
bulletรวมเบอร์โทรเรียก แท็กซี่
bulletชมคลิปวีดีโอ เมืองไทยในอดีต
dot
ค้นหาบทความในเว็บไซต์

dot
dot
บริการของเรา (Service)
dot


รับทำบัญชี



ทะเบียนสมรส ( บทความที่ 1)

 

 

 
                    เรื่องของทะเบียนสมรส (บทความที่ 1)

                    

   ทำไมทะเบียนสมรสจึงเป็นเครื่องหมายแห่งความรักของสามีภรรยาที่ตั้งอกตั้งใจพิสูจน์ความรักด้วยการพากันไปจดทะเบียน  และทำไมหลายรายไม่คิดจะจดทะเบียนสมรสเสียแต่แรก  ความรักกับทะเบียนสมรสดูเหมือนจะเป็นเรื่องเดียวกันแต่ผลของมันอาจแตกต่างกันได้อย่างสิ้นเชิงเลยทีเดียว

   เห็นง่ายๆก็บรรดาคู่รักทั้งหลายที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส  ขอแค่จัดงานประกาศความเป็นคู่ผัวตัวเมียให้สังคมเป็นพยานก็พอ  ส่วนทะเบียนสมรสเป็นเพียงแผ่นกระดาษที่มีไว้ประกาศให้กฎหมายรับรองสถานะเท่านั้น  ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจผิดที่ต้องนำมาคิดเสียใหม่แล้ว

   ทะเบียนสมรสเป็น “หลักฐาน” ทางกฎหมายที่ทำให้สามีและภรรยาได้สิทธิและมีหน้าที่ต่อกันในเรื่องของทรัพย์สินเงินทอง  การจัดการงานบ้านงานเรือน  การดูแลเลี้ยงลูก  และสิทธิหน้าที่ที่จะอ้างและถูกอ้างความเป็นสามีภรรยากับคนนอก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหนี้สินทั้งหลายที่เขาหรือเธอไปก่อร่างสร้างเอาไว้  เรื่องของการเรียกค่าเสียหายฐานละเมิด สิทธิที่จะได้รับมรดกหากเราอายุยืนกว่าคู่สมรสของเรา และที่ภรรยาหลายคนมักนึกถึงเป็นอันดับแรกก็คือ  การกำจัดเมียน้อยออกจากวงจรชีวิตสมรส

เงื่อนไขในการจดทะเบียน

 ที่มาที่ไปของการจดทะเบียนสมรสก็ง่ายๆ เพียงจูงมือกันไปที่สำนักงานเขตหรืออำเภอ แจ้งต่อนายทะเบียนว่าประสงค์จะจดทะเบียนสมรส  นำบัตรประจำตัวประชาชนไปด้วยก็ใช้ได้แล้ว  แต่อย่าได้อ้างเชียวว่ายังเด็กขนาดที่กฎหมายยังไม่ให้ทำบัตรประชาชน  เพราะเงื่อนไขการได้สมรสตามกฎหมายกำกับดูแลเรื่องของอายุเอาไว้ด้วย
 
แน่นอนหากเป็นผู้ใหญ่ตามกฎหมายก็คืออายุ ๒๐ ปีเต็มแล้ว  แต่ความรักมักไม่เลือกเวลา หากว่าอายุยังไม่ครบ ๒๐ กฎหมายก็ยังเอื้อให้จดทะเบียนได้หากนับอายุได้ถึง ๑๗ ปีบริบูรณ์แล้ว  หมายความว่าแม้ยังเป็นเด็กอยู่ก็แต่งงานตามกฎหมายได้เพียงมีข้อแม้นิดหน่อยคือให้พ่อแม่ให้ความยินยอมด้วยเท่านั้น  ถ้าไม่ยอมก็เป็นอันว่าการสมรสไม่สมบูรณ์  นายทะเบียนท่านไม่ดูใบหน้าว่าอายุปาเข้าไปเท่าไร  แต่ดูความเป็นจริงว่าเป็นอย่างไร 
 การแต่งงานเป็นเรื่องดีแม้จะแต่งกันหลายทีก็ไม่เป็นไรแต่ต้องไม่ใช่คราวละหลายที  กฎหมายให้มีสามีหรือภรรยาได้คราวละคนเดียวเท่านั้น  ไม่ว่าจะเรียกคนไหนว่า เมียน้อยหรือคนไหนว่าเมียหลวง  กฎหมายรับรองแต่เฉพาะกับคนที่มีทะเบียนสมรสเท่านั้น  เพราะฉะนั้นบรรดาเมียหลวงทั้งหลายก็อย่าได้ตายใจในสโลแกนที่ว่า ความรักอยู่ที่ใจหาใช่แผ่นกระดาษ  เพราะเมียน้อยคนไหนไวกว่าไปจดทะเบียนสมรสตัดหน้าคุณแล้ว  สิทธิในความเป็นภรรยาสามีที่กฎหมายมีให้ไว้ก็ตกได้แก่ภรรยาน้อยไป
 
สิทธิเฉพาะตัว

 การจดทะเบียนสมรสเป็นเรื่องเฉพาะตัวใครตัวตัวมัน  จะมอบอำนาจให้ไปจดแทนกันไม่ได้   ต้องไปด้วยตัวเอง  และเรื่องของความรักเขาทักว่าเป็นมงคล  ดังนั้นบางคู่ก็ไม่อยากไปที่ทำการของทางราชการแต่ขอให้นายทะเบียนมาดูแลจดทะเบียนให้ที่บ้านหรือที่ที่จัดพิธีการแต่งงานก็มี  หรือจะให้ดูดีดูเก๋ก็อาจไปจดกันขณะไต่เขาหรือดำไปใต้น้ำอย่างที่เห็นเป็นข่าวก็ย่อมได้  ถ้าได้รับความร่วมมือจากนายทะเบียน
 การแต่งงานเป็นเรื่องของความยินยอมพร้อมใจ  ดังนั้นจะไปบังคับให้เขามาแต่งไม่ได้  ถ้าเป็นเรื่องจำใจจำยอมกฎหมายไม่ว่ากระไร แต่ถ้าไปไกลถึงขนาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมหรือมีการขู่เข็ญบังคับการแต่งงานนั้นก็ตกเป็นโมฆะตามกฎหมาย 
 บางคนแต่งงานกันจริงแต่ยังไม่จดทะเบียนสมรส   อีกฝ่ายก็ทวงถามให้ไปจดทะเบียนซักที  ก็ผัดว่าจะไปในวันวาเลนไทน์เสียทุกปีนั่นแหละ    ทำให้เกิดอยากออกอาการทางกฎหมายเกิดความสงสัยว่าจะให้ทนายฟ้องให้ศาลบังคับให้ไปจดทะเบียนสมรสได้หรือไม่ ในข้อหาผิดสัญญาสมรส
 เรื่องนี้ก็คงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะการสมรสเป็นเรื่องเฉพาะตัวที่ต้องทำเองจะไปบังคับกันก็ไม่ได้ กฎหมายจะไม่เข้าไปก้าวก่ายบังคับเอากับเนื้อตัวร่างกายของเขามากถึงเพียงนั้น หากรักกันจริงก็ไม่น่าจะมีปัญหาที่จะไปจดทะเบียน แต่หากอิดเอื้อนไม่ยอมจดสักทีนั้นควรจะเริ่มสงสัยว่าเขาหรือเธออาจไปจดทะเบียนไว้กับคนอื่นแล้ว หรือไม่อยากผูกมัดตัวเขากับเราก็ต้องสืบสวนกันต่อไป  แต่กฎหมายไม่มาบังคับให้ด้วย
 เรื่องแบบนี้เคยมีในกรณีที่หมั้นกันไว้ แล้วเบี้ยวขันหมากไม่ยอมแต่งด้วย  แม้จะบังคับให้แต่งหรือให้ไปจดทะเบียนไม่ได้  ก็เรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายได้ตามกฎหมาย เพราะการหมั้นก็เป็นสัญญาชนิดหนึ่งซึ่งระบุไว้ในกฎหมายอย่างชัดแจ้งถึงผลแห่งการผิดสัญญาหมั้น แต่ไม่ถึงขั้นสามารถบังคับให้เขาไปจดทะเบียนได้อยู่ดี

ทะเบียนซ้อน

 แม้จะเข้าใจกันดีว่าทะเบียนสมรสสามารถการันตีสถานะของเราได้  แต่การสะสมมีไว้หลายใบในคราวเดียวกันนั้น กฎหมายท่านไม่นับแต้มให้  โดยถือว่าใครมาก่อนมีสิทธิก่อน  การจดทะเบียนซ้อนกับทะเบียนที่มีผลอยู่เป็นโมฆะ 
 หลายคนก็มีความคิดเป็นเลิศในการพลิกผันสถานการณ์ด้วยการจัดขบวนรถไฟไม่ให้ชนกันโดยอาศัยทะเบียนสมรส   สมมติว่าคัทลียาจดทะเบียนสมรสกับภราดรแล้ว  ภราดรก็ไปจดทะเบียนสมรสกับดวงกมลซ้อนเข้าไป  หลังจากนั้นเพื่อให้มีทะเบียนเพียงหนึ่งเดียว ภราดรก็ไปจดทะเบียนหย่ากับคัทลียา  อย่างนี้ไม่ได้ทำให้ทะเบียนสมรสของดวงกมลเป็นผลบังคับ  เพราะขณะจดทะเบียนกับดวงกมลนั้นมันซ้อนกับทะเบียนของคัทลียาอยู่  เป็นอันว่าภราดรจึงเป็นสามีที่ไม่มีสังกัดเป็นสามีตามกฎหมายของทั้งคัทลียาและดวงกมลไปในที่สุด

ผลของทะเบียนสมรส

 การจดทะเบียนสมรสทำให้เกิดสิทธิและหน้าที่ต่างๆมากมาย  เรียกว่ามีทั้งที่น่าดีใจและอาจเสียใจก็ได้แล้วแต่ว่าถูกใจใคร 
 อย่างแรกก็คือ  หน้าที่หรือสิทธิที่มีต่อกันในฐานะสามีภรรยา  ได้แก่ การอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน  ไม่ว่าใครจะมีปัญญาเลี้ยงดูใครไม่เลือกว่าชายต้องดูแลหญิง  สิทธิที่ผู้หญิงจะได้ใช้ชื่อสกุลของฝ่ายชาย และการต้องเปลี่ยนคำนำหน้าเป็น “นาง” ตลอดไป   สิทธิที่จะได้รับมรดกหากอีกฝ่ายด่วนตายไปก่อน  สิทธิที่จะหึงหวงคู่สมรสของเราอย่างออกหน้าออกตาตามกฎหมายหากมีมือที่สามเข้ามาก้าวก่ายป่วนเรา  ได้แก่  การเรียกค่าเสียหายหรือค่าทดแทนในกรณีที่ภรรยาถูกล่วงเกินในทำนองชู้สาว หรือมีผู้หญิงอื่นมาแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว
เรื่องทรัพย์สินเงินทองก็ต้องมากองเป็นกระเป๋าเดียวกันโดยไม่คำนึงว่าใครจะเป็นฝ่ายทำมาหาได้และไม่ว่าอีกฝ่ายจะเป็นคุณนายหรือคุณผู้ชายอยู่ที่บ้านไม่ทำงานข้างนอกก็ตาม  เรียกว่าเป็น “สินสมรส” ซึ่งต่างก็มีอำนาจจัดการทรัพย์สินสมรสเองได้ไม่ต้องขออนุญาตต่อกัน เว้นแต่เป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของครอบครัวตามที่กฎหมายบัญญัติควบคุมไว้  จะต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งเสียก่อน  ได้แก่  การจัดการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ทั้งหลายแหล่  พวกที่ดิน เป็นอาทิ  ไม่ว่าจะเป็นการขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง    การทำให้มีหรือทำให้หมดไปซึ่งภารจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเก็บกิน สิทธิเหนือพื้นดิน หรือภารติดพัน  การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี  หรือการขาย ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนองทรัพย์สินที่จำนองได้   การให้กู้ยืมเงินหรือให้โดยเสน่หาที่ไม่ใช่การให้ตามสมควรเพื่อการกุศลหรือการสังคมหรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา  การประนีประนอมยอมความ การมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยหรือการนำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล
 ไม่ต้องเป็นกังวลว่าถ้าอีกฝ่ายดื้อแพ่งไม่ให้ความยินยอมก็ไม่ต้องเป็นอันทำอะไร  เพราะกฎหมายก็เปิดช่องให้ฝ่ายที่ไม่ได้รับความร่วมมือยื่นคำร้องต่อศาลขอให้อนุญาตแทนได้ถ้าการที่อีกฝ่ายไม่ยินยอมนั้นไม่มีเหตุผลอันสมควร 
 แม้จะมีสินสมรสร่วมกันแต่การจดทะเบียนไม่ไปเกี่ยวข้องทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรสจากการที่มีคนยกให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  หรือทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนสมรสแล้ว
 นอกจากสิทธิหน้าที่ในระหว่างกันแล้ว  การจดทะเบียนสมรสยังเกิดอานิสงค์แก่คนอื่นไม่น้อย  ได้แก่ ลูกที่เกิดมาในระหว่างสมรสเป็นลูกโดยชอบด้วยกฎหมายของพ่อ  ทำให้ลูกได้สิทธิมากมายในฐานะลูกของพ่อ   ถ้าหนี้สินที่สามีหรือภรรยาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรสและเป็นหนี้ที่เกี่ยวกับการจัดการบ้านเรือน จัดหาสิ่งจำเป็นของครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดู รักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของลูกตามควร หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส รวมทั้งหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานที่สามีภรรยาทำด้วยกันและหนี้ที่ฝ่ายใดก่อเพื่อประโยชน์ของตนฝ่ายเดียวแล้วอีกฝ่ายไปให้สัตยาบันด้วย   อย่างนี้เจ้าหนี้เรียกบังคับชำระหนี้ได้จากสินสมรส  นั่นหมายความว่าถ้าเกิดทรัพย์สินสมรสไม่พอใช้หนี้แล้ว  เจ้าหนี้ก็ตามล้างตามล่าเอากับทรัพย์สินส่วนตัวของทั้งสามีและภรรยาได้เพราะถือว่าเป็น “หนี้ร่วม”ที่จะต้องรับผิดชอบร่วมกัน 
ในทางกลับกัน  ถ้าใครบังอาจมาทำละเมิดกับสามีหรือภรรยาจนถึงแก่ความตาย  เช่น ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย  ภรรยาหรือสามีของผู้ตายก็ใช้สิทธิเรียกค่าเสียหายจากการขาดไร้อุปการะได้  เพราะเป็นหน้าที่ของคู่สมรสที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูกัน   ยังไม่หมดเพียงแค่นี้  เรื่องภาษีก็สามารถยื่นโดยหักค่าลดหย่อนคู่สมรสได้อีกด้วย 
 นี่แค่ตัวอย่างเบาๆให้เย้ายวนใจในการจดทะเบียนสมรส    แต่ถ้าจะมองโลกให้กว้างขึ้นอีกหน่อยก็คือ  ทะเบียนสมรสเป็นเครื่องผูกมัดตามกฎหมายให้ทั้งสองฝ่ายต้องมีความผูกพันกัน  การซื่อสัตย์และดูแลกันจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่พ่วงติดมากับทะเบียนด้วย   และหากถึงคราวที่อยากจะออกจากสถานะความเป็นสามีภรรยาตามกฎหมายก็ต้องกระบวนการจดทะเบียนหย่าตามมา ซึ่งอาจสร้างความว้าวุ่นใจหากอีกฝ่ายไม่อยากจะเลิกพอสมควร

อายุของทะเบียนสมรส
 
ถ้าจดกันถูกต้องตามกฎหมาย ทะเบียนก็จะมีอายุยืนยาวตลอดไปจนกว่าจะได้จดทะเบียนหย่า ซึ่งเมื่อตัดสินใจจะใช้ชีวิตร่วมกันฉันสามีภรรยาแล้ว  ไม่มีใครอยากเลิกกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ใจของคนใดคนหนึ่งก็อาจเปลี่ยนได้  แต่ทะเบียนเมื่อจดไปแล้วจะเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือของสองฝ่าย  มิเช่นนั้นก็ต้องนำเรื่องไปฟ้องที่ศาลให้หย่าขาดจากกันไป
ถ้ายินยอมพร้อมใจกันหย่าก็เพียงพากันไปที่อำเภอหรือสำนักงานเขต  แล้วก็ตกลงแบ่งปันสินสมรสกันรวมทั้งตกลงเรื่องลูกและค่าเลี้ยงดูทั้งหลายให้สบายใจทั้งสองฝ่าย  แต่ถ้าฝ่ายหนึ่งอยากลาออก แต่อีกฝ่ายไม่อยากออก การไล่ออกจากสถานภาพต้องผ่านกระบวนการทางศาล  โดยจะต้องมีเหตุฟ้องหย่าตามกฎหมายกำกับเอาไว้ด้วย 


 ทะเบียนสมรสเป็นเรื่องมงคล เขาถึงมีพิธีศาสนา พิธีฉลอง พ่วงมาด้วยเสมอ  แต่เวลาที่การสมรสไม่เวิร์ค  ทะเบียนสมรสกลับกลายเป็นขวากหนามในการดำรงชีวิตต่อไปอย่างเสรีของทั้งสองฝ่าย  และสิ่งที่เกิดมีเกิดเป็นจากการจดทะเบียนสมรสที่ต้องมีการเคลียร์และสะสางกันไปเพื่อตั้งต้นชีวิตใหม่ก็อาจทำให้หลายคนเข็ดขยาดกับการมีทะเบียนไม่น้อย   ซึ่งนั่นเป็นเรื่องภายหลังจากการที่ความรักล่มสลาย  แต่ถ้าคิดถึงในระหว่างที่ความรักยังอบอุ่นและจริงใจอยู่นั้น  ทะเบียนสมรสเป็นเสมือนเครื่องเตือนใจให้ตรึกตรองก่อนตัดสินใจขั้นเด็ดขาดที่จะหันหลังให้กัน 
ดังนั้น แม้ตัวทะเบียนสมรสเองจะไม่ใช่เครื่องหมายแห่งความรักและไม่อาจเป็นประกันว่าชีวิตสมรสจะยืนยาวตลอดไป แต่ก็มีความหมายตอกย้ำสิทธิและหน้าที่ของกันและกันตามกฎหมายและคุ้มกันมิให้ใครผู้ใดมาทำร้ายสิทธิในความเป็นสามีหรือภรรยาที่มีต่อกันได้อย่างลอยนวล

 แม้ความรักจะไม่ได้อยู่ที่ทะเบียนสมรส หรือกฎหมาย แต่อยู่ที่หัวใจของคู่รัก  ดังนั้นทะเบียนสมรสจะดีสำหรับเราหรือไม่  คำตอบไม่ได้อยู่ที่ตัวกฎหมาย แต่อยู่ที่ว่าเราเข้าใจบทบาทหน้าที่ตามที่กฎหมายวางกรอบเอาไว้ให้โดยอาศัยศีลธรรมเป็นเกณฑ์ดีแค่ไหนต่างหาก  และเมื่อนั้น วันหรือเดือนแห่งความรักก็ไม่ต้องเป็นเดือนที่ต้องเร่งรีบกันไปจดทะเบียนสมรส  แต่เป็นการฉลองความรักที่ประคองกันมาได้อีกวาระหนึ่ง โดยมีทะเบียนสมรสเป็นเครื่องหมายประกันคุณภาพสำหรับคู่รักคู่รสนั้น  ก็ขอให้เป็นที่รักของผู้คนในเดือนแห่งความรักสำหรับปีนี้และตลอดไป.   

   อ่านต่อ ทะเบียนสมรส (บทความที่ 2) คลิกที่นี่ 

            

โดย…ศรัณยา ไชยสุต วารสารสภาทนายความ

                                            




รวมบทความกฎหมายน่ารู้

การทวงหนี้
กรรมการบริษัทต้องจ่ายเงินประกันสังคมหรือไม่
ไม้ตายจัดการเจ้าหนี้นอกระบบ
สิทธิประโยชน์จากประกันสังคม
ค้ำประกันอย่างไร ไม่ให้เสียตังค์
ลิขสิทธิ์ Copyright Law
หมิ่นประมาท เหยียดหยาม
กฎหมายไม่ใช่เรื่องไกลตัว
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแพ่ง
คำแนะนำในการไปติดต่อที่สถานีตำรวจ
กฎหมายประกันสังคม
กฎหมายแรงงาน
มีไฟล์เพลงละเมิดลิขสิทธิ์ในเครื่องคอมฯ อย่างไร จึงไม่ผิดกฎหมาย
หมิ่นประมาท
กฎหมายแรงงานที่ต้องรู้
ทำอย่างไร..เมื่อได้รับ "หมายศาล"
ความยินยอมของคู่สมรส
เมื่อมีปืน แล้วต้องรู้จักคำว่า ป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
ความไม่รู้กฎหมาย จะอ้างเป็นข้อแก้ตัวไม่ได้
ค่าชดเชย ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ เป็นอย่างไร
ผู้ต้องหามีสิทธิพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นสอบสวน
อายุความบัตรเครดิต 2 ปี หมายความว่าอย่างไร
เรียกดอกเบี้ยเงินกู้เกินที่กฎหมายกำหนดย่อมตกเป็นโมฆะ
ทะเบียนสมรส ( บทความที่ 2)
หลักประกันตัวในคดีอาญา
ผู้ให้และผู้รับ
ข้อควรปฎิบัติเมื่อถูกฟ้อง