
ถ้าเงินบาทค่าแข็งขึ้นโดยอัตราแลกเปลี่ยน ใครได้ใครเสีย

เรื่องแบบนี้ก็ต้องมีใครได้ใครเสียกันบ้างละ
สมมุติว่า
เดิม 1 ดอลลาร์อเมริกา แลกเงินไทยได้ 50 บาท
ต่อมา 1 ดอลลาร์อเมริกา แลกเงินไทยได้ 40 บาท แปลว่าเงินบาทแพงขึ้น หรือ ค่าแข็งขึ้น ใช้เงินไทยเพียง 40 บาท ก็แลกได้ 1 ดอลลาร์แล้ว ไม่ต้องถึง 50 บาทอย่างแต่ก่อน
ถ้าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างนี้ คุณสนุกซื้อ ซื้อเข็มขัดจากเมืองนอก ราคา 1 ดอลลาร์ ก็นำเงินบาทมาแลก เพียง 40 บาท ก็ได้เข็มหนึ่งเส้นแล้ว เมื่อก่อนนั้น เงิน 40 บาท ซื้อเข็มขัดไม่ได้สักเส้นเดียว ฉะนั้นคุณสนุกซื้อก็ชอบใจ เป็นผู้ได้ประโยชน์ ในเบื้องต้นมิสเตอร์ปาปายาฝรั่งคนขายเข็มขัดไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะเขาก็ได้เงิน 1 ดอลลาร์ เท่ากับเมื่อก่อน แต่ต่อมามิสเตอร์ปาปายาฝรั่งคนขายเข็มขัดอาจขายเข็มขัดได้มากขึ้น เพราะนายสนุกซื้อสั่งเข้ามาหลายเส้น ด้วยเห็นว่าราคาถูกดี(ในความรู้สึกว่าใช้เงินบาทน้อยลงไปแลกดอลลาร์) มิสเตอร์ปาปายาก็ขายเข็มขัดได้หลายเส้น ก็ได้ไปหลายดอลลาร์ ก็เป็นไปได้เหมือนกัน ประเทศไทยก็เสียดอลลาร์ไปหลายดอลลาร์ คุณสนุกซื้ออาจกลายเป็นตัวการทำให้ขาดดุลการค้าระหว่างประเทศก็ได้
คนอีกพวกหนึ่งอย่างนายถนัดขายคนขายถั่วฝักยาวไปเมืองนอกให้คุณบับเบิ้ลฝรั่ง กำละ 1 ดอลลาร์ เมื่อพบกับเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างนี้ นายถนัดขายได้เงิน 1ดอลลาร์นำมาแลกเป็นเงินไทยสำหรับใช้จ่ายหรือเก็บออม ก็ได้เพียง 40 บาท เมื่อก่อนหน้านี้ ขายถั่วฝักยาวหนึ่งกำ 1 ดอลลาร์เท่ากัน นำมาแลกเป็นเงินไทยได้มากถึง 50 บาท ฉะนั้นเมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น นายถนัดขายก็ไม่ชอบใจ เพราะได้เงินบาทน้อย(ได้ดอลลาร์เท่าเดิม) ต่อมานายถนัดขายอาจโมโหขอขึ้นราคาถั่วฝักยาวเป็นกำละ 2 ดอลลาร์ โดยหวังว่าเมื่อนำมาแลกเป็นเงินบาทจะได้ 80 บาท ถ้ามิสเตอร์บับเบิ้ลฝรั่งทนซื้อ นายถนัดขายก็อาจได้ดอลลาร์มากขึ้น แลกเป็นเงินไทยก็มากขึ้น แต่ถ้ามิสเตอร์บับเบิ้ลฝรั่งโมโหตอบ ซื้อถั่วเพียงครึ่งกำเท่านั้น นายถนัดขายก็ลำบากละคราวนี้ ได้ดอลลาร์มาเพียงครึ่งดอลลาร์ แลกเป็นเงินไทยได้เพียง 20 บาท นายถนัดขายก็ยิ่งไม่พอใจมากขึ้น ฉะนั้นโดยธรรมดานายถนัดขายย่อมไม่พอใจเมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่ก็อาจชอบใจได้ ถ้าเขาขึ้นราคาแล้วมิสเตอร์บับเบิ้ลฝรั่งลดการซื้อลงนิดเดียว (ความยืดหยุ่นของอุปสงค์เนื่องจากราคามีค่าต่ำ) นายถนัดขายก็ชอบใจได้เหมือนกัน แต่ก็อาจไม่พอใจ ถ้าเขาขึ้นราคาสินค้าที่ส่งออก แล้วผู้ซื้อลดการซื้อลงมาก ฉะนั้นสำหรับคนขายของออกนอก อาจได้หรือเสียก็ได้ แต่ส่วนมากจะเสียมากกว่า เพราะการขึ้นราคาถั่วฝักยาวทำไม่ได้ง่ายเหมือนขึ้นราคาน้ำมัน
สำหรับคุณเพาะหนี้ที่กู้เงินจากมิสเตอร์เฮนรี่ มา 1 ดอลลาร์ เมื่อปีก่อน คาดว่าต้องนำเงิน 50 บาทไปแลก จึงได้ 1 ดอลลาร์ไปใช้คืนมิสเตอร์เฮนรี่ แต่เมื่อถึงเวลาชำระหนี้คืน ค่าเงินบาทแข็ง เขานำเงินเพียง 40 บาทไปแลกได้ 1 ดอลลาร์ ใช้หนี้มิสเตอร์เฮนรี่ ประหยัดเงินไทยไปได้ 10 บาท คุณเพาะหนี้จึงชอบใจ ส่วนมิสเตอร์เฮนรี่ก็ไม่ดีใจไม่เสียใจ เพราะว่าได้คืน 1ดอลลาร์เท่าเดิม ไม่ว่าค่าเงินบาทจะแข็งหรืออ่อน ก็ไม่เดือดร้อนอะไร
สรุปอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเงินบาทแข็งค่าจากอัตราแลกเปลี่ยน
- ผู้ซื้อสินค้าจากต่างประเทศได้ประโยชน์ ประหยัดเงินไทยที่ต้องนำไปแลก
- ผู้ขายสินค้าไปต่างประเทศเสียประโยชน์ ได้เงินบาทน้อย แม้ได้ดอลลาร์เท่าเดิม แต่อาจได้ประโยชน์ถ้าเขาขึ้นราคาสินค้า และ สินค้าของเขาคนซื้อต้องง้องอนด้วย (ความยืดหยุ่นของอุปสงค์เนื่องจากราคาน้อย)
- ลูกหนี้ที่กู้เงินต่างประเทศไว้ก่อนหน้า ได้ประโยชน์
ที่มา : โดย ดร.บุญเสริม บุญเจริญผล http://www.krirk.ac.th