
วิกฤตเศรษฐกิจของประเทศไทย
วิกฤตเศรษฐกิจ แบ่งเป็นสามประเภท ได้แก่ วิกฤตค่าเงิน วิกฤตธนาคาร และวิกฤตหนี้ระหว่างประเทศ
วิกฤตการณ์ค่าเงิน (Currency Crisis)
เป็นวิกฤตการณ์ที่ประเทศถูกโจมตีค่าเงินจากนักเก็งกำไรค่าเงินทำให้ประเทศที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ต้องลดค่าเงินลง เป็นเหตุให้ธนาคารกลางต้องพยายามตรึงค่าเงินและต้องเสียกทุนสำรองระหว่างประเทศ และต้องใช้นโยบายปรับอัตราดอกเบี้ยในประเทศให้อยู่ในระดับสูง เพื่อป้องกันเงินทุนไหลออกและป้องกันการถูกโจมตีค่าเงิน เช่น วิกฤตที่เกิดขึ้นในประเทศไทยปี 2540
วิกฤตการณ์ธนาคาร (ฺBanking Crisis)
เป็นวิกฤตการณ์ที่ธนาคารพาณิชย์ประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างรุนแรง หรือไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ทำให้รัฐบาลต้องเข้ามาแทรกแซงให้ความช่วยเหลือ หรือเข้าไปยึดกิจการมาดำเนินการเอง
วิกฤตหนี้ระหว่างประเทศ (International debt Crisis)
เป็นวิกฤตการณ์ที่ประเทศไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ ไม่ว่าเป็นหนี้ภาครัฐหรือเอกชน
สาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจ
1. เกิดจากปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์ คือระบบกลไกเศรษฐกิจ และการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาด
2. เกิดจากปัจจัยที่ไม่ใช้เศรษฐศาสตร์
วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากปัจจัยด้านเศรษฐศาสตร์
1. การหดตัวของการส่งออกและดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลในระดับสูง ซึ่งในปี 2539 การส่งออกของประเทศไทยขยายตัวไม่ถึง 1% เมื่อเทียบกับปี 2537 และปี 2538 ซึ่งขยายตัว 23 % และ 21% ตามลำดับ การส่งออกที่ไม่ขยายตัวในปี 2539 ทำให้มีผลกระทบต่ออุปสงค์มวลรวม ส่งผลกระทบทางด้านจิตวิทยา และความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ในเรื่องปัญหาสภาพคล่องของทุนสำรองระหว่างประเทศและค่าเงิน เพราะประเทศไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมาตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 และมีขนาดของการขาดดุลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้นำไปสู่การโจมตีค่าเงินและเกิดวิกฤตสถาบันการเงินในที่สุด
2. การลงทุนเกินควร ซึ่งเป็นรากฐานของฟองสบู่ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้มีการลงทุนมากเกินไปได้แก่ การเปิดเสรีทางการเงิน ทำให้ธุรกิจและสถาบันการเงิน สามารถกู้ยืมเงินจากต่างประเทศได้ ทำให้มีการขยายการลงทุนมากเกินไป อีกประการหนึ่ง เกิดจากการที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ และ ตราสารทางการเงินต่าง ๆ มีราคาสูงขึ้นก่อให้เกิดอุปสงค์เพื่อเก็งกำไร และทำให้มีการลงทุนเพื่อผลิตสินค้าสนองตอบอุปสงค์เพื่อเก็งกำไร
3. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำ ในช่วงปี 2530-2539 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงานสนามกอล์ฟ สวนเกษตร เติบโตอย่างมาก ในปี 2540 เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ เป็นผลมาจากการที่รัฐบาลอนุญาตให้มีธุรกรรมวิเทศธนกิจ (Bangkok Intrnational Banking Facilities : BIBF) ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกต่ำกว่าในประเทศมาก จึงทำให้ผู้ประกอบการหันไประดมทุนจากต่างประเทศพร้อมกับระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ โหมการลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศ และจากการที่ราคาอสังหาริมทรัพย์และที่ดินเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงก่อให้เกิดอุปสงค์เพื่อเก็งกำไร และดึงดูดให้ผู้ประกอบการสมัครเล่นหันมาทำธุรกิจประเภทนี้อย่างกว้างขวาง ซึ่งกล่าวได้ว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นภาคที่เกิดภาวะฟองสบู่
4. ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2540 อีกสาเหตุหนึ่งคือ การผิดพลาดในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในส่วนที่รับผิดชอบโดยธนาคารแห่งประเทศไทย คือ การใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่และปล่อยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายเสรี โดยขาดการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ ผลดีของระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ คือ ช่วยให้มีการควบคุมเสถียรภาพด้านราคา แต่มีผลเสียต่อดุลบัญชีเดินสะดัด กล่าวคือ การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ในขณะที่ระดับเงินเฟ้อในประเทศปรับตัวสูงขึ้น เท่ากับว่ารัฐบาลช่วยให้ราคาสินค้านำเข้าได้เปรียบในการแข่งขันกับสินค้าในประเทศ ทำให้ประสิทธิภาพของนโยบายการเงินในการควบคุมปริมาณเงินด้อยลง กล่าวคือ ตั้งแต่ประเทศไทยเปิด BIBF ในปี 2536 มีเงินทุนไหลเข้ามาในประเทศจำนวนมาก ทำให้ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทย พยายามดูดซับปริมาณเงินที่มากเกินไป โดยการขายพันธบัตรการดำเนินนโยบายเช่นนี้ทำให้อัตราดอกเบี้ยภายในประเทศที่สูงอยู่แล้ว ไม่ลดลง ซึ่งเป็นปัจจัยให้มีการนำเงินทุนเข้ามามากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดขบวนการเศรษบกิจฟองสบู่ในที่สุด
วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากปัจจัยที่ไม่ใช่เศรษฐศาสตร์
1. พฤติกรรมของธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุน
1.1 การจัดหาแหล่งเงินทุนและการบริหารสินเชื่อที่ไม่มีประสิทธิภาพ นับตั้งแต่รัฐบาลอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนทำธุรกรรม BIBF (วิเทศธนกิจ) แต่แทนที่สถาบันการเงินจะระดมเงินทุนจากเงินฝากภายในประเทศ กลับนิยมกู้เงินจากต่างประเทศมาปล่อยกู้ในประเทศ เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในต่างประเทศอยุ่ในระดับต่ำและต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก รวมทั้งไม่ต้องกังวลเรื่องความเสี่ยงจากการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนพฤติกรรมของสถาบันการเงินดังกล่าวทำให้สัดส่วนหนี้ต่อทุนอยู่ในระดับสูง ทำให้เกิดความเสี่ยงในการบริหารสภาพคล่อง และเกิดความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ประกอบกับสถาบันการเงิน ปล่อยสินเชื่อกระจุกตัวอยู่ในตลาดที่มีสภาพฟองสบู่ในระดับสูง คือ ตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้น ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤตในตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้น จึงมีผลกระทบต่อสภาพคล่องของสถาบันการเงิน รวมทั้งนำไปสู่การสะสมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสถาบันการเงินในที่สุด
1.2 พฤติกรรมของผู้บริหารสถาบันการเงินที่มีการบริหารงานในลักษณะที่คอร์รัปชั่น โดยการช่วยเหลือญาติพี่น้องหรือนักการเมืองด้วยการให้สินเชื่อในกลุ่ม ผู้บริหาร ญาติ ธุรกิจในเครือมากเกินไป หรือให้สินเชื่อในโครงการที่มีผลตอบแทนต่ำ การตกแต่งบัญชี หรือการสร้างลูกหนี้ปลอม
2. พฤติกรรมการระดมทุนของธุรกิจ
เกิดขึ้นเนื่องจากมีความผิดพลาดในการระดมทุน คือมีการกู้มาก จากทั้งในประนอกประเทศ ทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุนสูง ทำให้ธุรกิจมีความเสี่ยงสูง นอกจากนี้ธุรกิจยังได้นำเงินกู้มาลงทุนในโครงการที่ให้ผลตอบแทนระยะยาว ธุรกิจบางธุรกิจ เช่น อสังหาริมทรัพย์กู้เงินจากต่างประเทศมาลงทุนในโครงการที่ให้ผลตอบแทนเป็นสกุลภายในประเทศ โดยไม่มีการประกันความเสี่ยงจากการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เพราะเชื่อมั่นว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะยึดมั่นกับระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ สภาพการณ์ดังกล่าวทำให้บริษัทอยู่ในสภาพความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะเมื่อการส่งออกหดตัว ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและเจ้าหนี้ต่างประเทศลดลง จึงทำให้ธุรกิจล้มละลายนำไปสู่ภาวะฟองสบู่แตกในที่สุด
3. ธนาคารแห่งประเทศไทยบกพร่องในการกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน การเปิดเสรีทางการเงินโดยให้สถาบันการเงินสามารถกู้เงินจากต่างประเทศได้ง่าย ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยต้องมีระบบการตรวจสอบสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ที่มา : http://yalor.yru.ac.th