บริษัท พัฒนกิจ บัญชี ภาษีและฝึกอบรม จำกัด
Pattanakit Accounting Tax & Training Co., Ltd.
59/275 ซอยสุวินทวงศ์ 44 ถนนสุวินทวงศ์ แขวงลำผักชี เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร 10530
โทรศัพท์ 094-6574441 , 099-4567715 , 092-4634120, 061-0382531
Website :https://www.pattanakit.net / Email : infoservice2126@gmail.com

พฤติกรรมที่นำสู่ความสุข
เมื่อถามหลายๆ คนว่าอะไรคือเป้าหมายที่สำคัญในชีวิต คำตอบหนึ่งที่ผมมักจะได้รับก็หนีไม่พ้นเรื่องของความสุข จะสังเกตว่าในปัจจุบันเราได้ให้ความสำคัญกับความสุขกันมากขึ้น ในระดับมหภาคนั้นก็มีการวัดความสุขของคนในแต่ละประเทศ ส่วนในระดับบุคคลนั้นเราก็มีความพยายามที่จะแสวงหาความสุขด้วยวิธีการต่างๆ ที่น่าสนใจคือในเชิงวิชาการ การค้นคว้าวิจัยเพื่อหาปัจจัยที่นำไปสู่ความสุขนั้น ก็เริ่มเปลี่ยนจากการศึกษาในเชิงจิตวิทยาหรือปรัชญา ไปสู่เรื่องของวิทยาศาสตร์มากขึ้น ได้เริ่มมีการทดลองจำนวนมาก เพื่อแสวงหาว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้เรามีความสุข และสัปดาห์นี้ เรามาลองดูกันนะครับ ว่า จากผลการทดลองทางด้านวิทยาศาสตร์เหล่านั้น เขามีข้อเสนอแนะกันอย่างไรในการทำให้เรามีความสุขมากขึ้น การจะสร้างความสุขได้นั้น ควรจะเริ่มจากการหยุดพัก หยุดคิด และหยุดวิ่งวุ่นวายในชีวิตประจำวัน และหันมาชื่นชมต่อสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอดีตให้มากขึ้น เนื่องจากวิถีการดำรงชีวิตของเราในปัจจุบันจะไม่หยุดนิ่ง และวุ่นวายอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น การได้หยุดพักนิ่งๆ แล้วค่อยๆ ชื่นชม และให้ความสำคัญกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งกับตัวเราและรอบๆ ตัว ก็จะนำพาความสุขสู่ตัวเราได้ ทั้งนี้ เนื่องจากสภาพการดำรงชีวิตปัจจุบันที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว เราจะปล่อยให้สิ่งต่างๆ ผ่านไปอย่างรวดเร็วและไม่ได้มีเวลาในการเพ่งพิจารณาและชื่นชมกับสิ่งเหล่านั้น ดังนั้น การชื่นชม และให้ความสำคัญกับสิ่งเล็กๆ น้อยเหล่านี้ ก็ทำให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้นได้ ประการที่สอง คือ ให้หยุดเปรียบเทียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปรียบเทียบระหว่างตนเองกับผู้อื่น ถึงแม้ทฤษฎีการจัดการของต่างประเทศนั้นให้ความสำคัญกับการเปรียบเทียบ เพื่อกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจ และมีแนวทางในการพัฒนาตนเองมากขึ้น แต่ถ้าอยากมีความสุขนั้น เราควรจะหยุดมองและเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นครับ เนื่องจากเมื่อเราเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นนั้น ก็อดไม่ได้ที่จะเกิดความรู้สึกอยากจะมี อยากจะได้ เหมือนที่ผู้อื่นมี และเมื่อเราไม่สามารถ มี หรือได้ เหมือนผู้อื่นแล้ว เราก็จะไม่มีความสุข เราจะรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่า ทำให้เกิดสูญเสียความมั่นใจ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบในเรื่องใดก็ตาม ถ้าอยากจะมีความสุขก็ควรจะหยุดการเปรียบเทียบนั้นซะ และหันมามองในความสำเร็จของตนเอง หรือสิ่งที่ตนเองทำได้จะนำให้เรามีความสุขกับสิ่งที่มีอยู่ และเป็นอยู่มากขึ้น เรื่องของการเปรียบเทียบกับความสุขนั้น มีการทดลองที่มาสนับสนุนหลายอย่างครับ โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับเงินและความสุข สิ่งที่พบก็คือการที่เรามีเงินมากหรือเงินน้อยนั้นไม่ได้ทำให้เรามีความสุขมากขึ้นหรือน้อยลง แต่เมื่อใดก็ตาม ที่เรานำเงินหรือรายได้ที่เราหามาได้เปรียบเทียบกับผู้อื่นแล้วความทุกข์ก็จะเริ่มมาเยือน เคยอ่านงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เขาพบว่า ถ้าเราไม่ได้รับเงินเดือนเพิ่ม แต่เพื่อนได้เพิ่มเงินเดือน ความสุขเราจะลดลง แต่ถ้าเราได้เงินเดือนเพิ่ม ในขณะที่เพื่อนไม่ได้เงินเดือนเพิ่ม ความสุขของเราจะเพิ่มขึ้น ดังนั้น ถ้าอยากจะแสวงหาความสุขนั้น ขอให้หยุดเปรียบเทียบนะครับ พฤติกรรมประการที่สาม ที่จะทำให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้นได้นั้น ก็คือ อย่าให้ความสำคัญกับเรื่องของเงินมากเป็นอันดับต้นๆ ในชีวิต มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นครับว่าคนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของเงินเป็นอันดับต้นๆ ในชีวิตนั้น จะมีความเสี่ยงที่จะมีความทุกข์ ความหดหู่ ความไม่มั่นใจในตนเอง จริงอยู่นะครับที่เงินเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต แต่เมื่อใดก็ตาม ที่เรานำเงินเป็นตัวตั้ง ความสุขของเราก็จะเริ่มหดหายไป แต่ถ้าเรามองอีกมุมหนึ่ง ก็คือ ถ้าเราขยัน ซื่อสัตย์ ตั้งใจทำงาน มีความฉลาดเฉลียวในการทำงาน สุดท้ายเงินก็จะมาหาเราเอง ผมเคยคุยกับคนรุ่นใหม่คนหนึ่งที่มีเป้าหมายในชีวิตที่อยากจะช่วยเหลือผู้อื่น แต่เขากลับมองว่าการที่เขาจะช่วยผู้อื่นได้นั้น เขาจะต้องมีเงินก่อน ซึ่งทำให้ชีวิตเขาไม่มีความสุขเท่าที่ควร เนื่องจากเขามีแต่ความมุ่งมั่นที่จะหาเงิน แต่จริงๆ แล้วถ้าเขามองกลับกัน โดยมองว่าถ้าเขาอยากช่วยผู้อื่น เขาก็สามารถช่วยได้ด้วยวิธีการต่างๆ ที่ไม่ต้องใช้เงิน และสุดท้าย เงินก็จะมาหาเขาเอง ผู้ที่เอาเงินเป็นตัวตั้งนั้นอาจจะมีความสุขเมื่อได้เงินมานะครับ แต่ความสุขนั้นจะเป็นความสุขในช่วงระยะเวลาอันสั้น ยิ่งเราหาความสุขด้วยเงินและวัตถุนอกกายเท่าไร เรายิ่งจะไม่พบเจอความสุขจากเงินและวัตถุนอกกายเหล่านั้น นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นอีกนะครับว่า พวกที่ให้ความสำคัญกับเงินเป็นสิ่งแรกนั้น มักจะไม่ค่อยมีความพอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ เนื่องจากต้องคอยแสวงหาเงินอยู่เรื่อยๆ ดังนั้น ถึงแม้เงินจะเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตในปัจจุบัน แต่ถ้าท่านผู้อ่านอยากจะมีความสุข ก็อย่าให้ความสำคัญกับเงินเป็นอันดับแรกในชีวิต ชีวิตนี้ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่มีคุณค่าและความสำคัญมากกว่าเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์กับครอบครัว เพื่อนฝูง คนรอบข้าง การให้ความสำคัญกับสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นกับเราในแต่ละวัน สิ่งต่างๆ ข้างต้นนั่นแหละครับที่จะนำพาความสุขที่แท้จริงมาสู่ตัวเรา เราคงต้องเลือกครับ จะมุ่งแสวงหาเงินหรือแสวงหาความสุข ยังมีพฤติกรรมอีกหลายประการนะครับที่นำพาความสุขสู่ชีวิตเรา เอาไว้ในสัปดาห์หน้าจะมานำเสนอต่อนะครับ สุดท้ายขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่านมีความสุขครับ ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- เนื้อหาในสัปดาห์นี้ขอต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว โดยเป็นเรื่องของพฤติกรรมที่นำไปสู่ความสุข ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะสำหรับการสร้างความสุขในชีวิตเรา โดยนำมาจากผลการทดลองทั้งทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาที่น่าเชื่อถือและจับต้องได้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนำเสนอข้อเสนอแนะไปสามประการคือเรื่องของ การหยุดและชื่นชมกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา การหยุดเปรียบเทียบ และการไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องของเงินมากนัก สัปดาห์นี้เรามาดูกันต่อนะครับว่ามีข้อแนะนำเพิ่มเติมอย่างไรสำหรับการสร้างความสุขในชีวิต การจะมีความสุขได้นั้น เราควรที่จะมีเป้าหมายบางอย่างในชีวิตที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการเป้าหมายในด้านการทำงาน เป้าหมายในการเรียนรู้ หรือ เป้าหมายของการเลี้ยงลูกออกมาให้เป็นคนดีและมีความสุข ผู้ที่มีเป้าหมาย มีความฝันจะมีความสุขมากกว่าผู้ที่ไร้ซึ่งเป้าหมายและความฝัน นอกจากการมีเป้าหมายและความฝันในด้านต่างๆ แล้ว สำหรับการมีความสุขในการทำงานนั้น ก็มีข้อเสนอแนะหนึ่งว่าถ้าอยากจะมีความสุขในการทำงานนั้น เราไม่ควรจะทำงานแบบเรื่อยๆ เฉื่อยๆ แต่ควรจะมีความคิดริเริ่มในงานที่รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ การเข้าไปช่วยเหลือผู้อื่น การให้ข้อเสนอแนะในการทำงาน หรือการทำงานที่เพิ่มหรือมากขึ้นกว่าปกติ การทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ที่ไม่ใช่งานประจำที่ทำเป็นปกติ จะทำให้เรามีความสุขในการทำงานมากขึ้น แนวคิดข้างต้นอาจจะขัดกับความเชื่อของหลายๆ ท่านที่พยายามจะหลีกเลี่ยงงาน พยายามทำงานให้น้อยที่สุด พยายามทำเฉพาะสิ่งที่รับผิดชอบ แต่การนำเสนอ ริเริ่ม หรือทำนอกเหนือจากงานที่ทำโดยปกตินั้น จะทำให้ชีวิตการทำงานมีความหมาย มีความตื่นเต้น และมีความสุขในการทำงานมากขึ้น นอกเหนือจากความสุขในการทำงานแล้ว อีกพฤติกรรมหนึ่งที่จะนำสู่ความสุขในชีวิต ก็คือการให้ความสำคัญกับครอบครัว เพื่อนฝูง รวมทั้งการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลรอบข้าง อย่างไรก็ดีการมีความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างนั้น ไม่ใช่เพียงแค่เน้นการมีเพื่อนเที่ยว เพื่อนกินจำนวนมากเท่านั้นนะครับ การที่ชีวิตเราจะมีความสุขได้ จะขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ที่ระหว่างบุคคลที่ใกล้ชิดที่มีทั้งความเข้าใจและเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ท่านผู้อ่านนึกภาพดูนะครับ การมีเพื่อนเที่ยว เพื่อนกินจำนวนมาก กับการมีเพื่อนหรือคู่ชีวิตเพียงไม่กี่คน (หมายถึงเพื่อนนะครับ) ที่มีความเข้าใจ ห่วงใย และเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน การมีความสัมพันธ์จำนวนน้อยแต่ลึกนั้น ย่อมนำไปสู่ความสุขมากกว่าพวกที่มีความสัมพันธ์จำนวนมากแต่ไม่ลึกซึ้ง อีกทัศนคติและพฤติกรรมหนึ่งที่นำสู่ความสุขได้นั้นคือการมีทัศนคติในเชิงบวก เนื่องจากคนที่มีความสุข จะมองสิ่งต่างๆ ในด้านบวก มองโอกาส มองถึงความเป็นไปได้ และมองถึงความสำเร็จ นอกจากการมองถึงโอกาสและความสำเร็จในอนาคตแล้ว ผู้ที่มีความสุข เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีตก็จะมองแต่สิ่งดีๆ ดังนั้นถ้าเรามองกลับกัน การที่จะมีความสุขได้ก็ควรจะเริ่มต้นจากการมีพฤติกรรมและทัศนคติในการมองสิ่งต่างๆ ในเชิงบวก อย่างไรก็ดีอาจจะมีข้อโต้แย้งจากบรรดาผู้ที่ชอบมองสิ่งต่างๆ ในเชิงลบนะครับว่าการมองในเชิงบวกมากเกินไป อาจจะทำให้เราเห็นสิ่งต่างๆ เป็นสีชมพู จนลืมมองสิ่งต่างๆ ในแง่ของความเป็นจริง การมองโลกในแง่ลบบางครั้งอาจจะมีข้อดีในแง่ของการทำให้เราระมัดระวัง คอยป้องกันและบริหารความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น และมีการเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับเรื่องของน้ำครึ่งแก้วนั้น ถ้าพวกที่มองโลกในแง่บวก ก็จะคิดอย่างมีความสุขว่า “ยังเหลือน้ำอีกตั้งครึ่งแก้ว” ส่วนพวกที่มองในเชิงลบก็จะมองว่าเหลือน้ำเพียงแค่ครึ่งแก้ว จะต้องคอยหาน้ำมาเติมให้เต็มตลอดเวลา สรุปก็คือท่านผู้อ่านอาจจะต้องสร้างความสมดุลระหว่างการมองทั้งในเชิงบวกและเชิงลบนะครับ ถ้าบวกมากเกินไปก็อยู่แต่โลกแห่งความฝัน แต่ถ้ามองแต่เชิงลบอย่างเดียวก็จะคอยระมัดระวังและคิดมากเกินไปจนไม่มีความสุข อีกพฤติกรรมที่นำสู่ความสุขนั้น คือการแสดงถึงความขอบคุณอย่างจริงใจตลอดเวลา ปัญหาประการหนึ่งของคนไทยคือเราอาจจะสำนึกขอบคุณหรือพระคุณที่ผู้อื่นทำให้กับเรา แต่การพูดหรือแสดงออกถึงความขอบคุณนั้นมักจะไม่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน เรามักจะเก็บความรู้สึกขอบคุณนั้นอยู่ในใจเรา แต่ผลจากการทดลองพบว่าผู้ที่แสดงออกถึงความรู้สึกขอบคุณบุคคลต่างๆ หรือ ผู้ที่อยู่รอบข้างเรา จะทำให้เรามีความสุขเพิ่มมากขึ้น มองโลกในแง่ดีเพิ่มขึ้น รวมทั้งเกิดความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมายต่างๆ ในการทำงาน มีงานวิจัยที่พบว่าผู้ที่ชอบเขียนจดหมายขอบพระคุณไปยังผู้อื่นที่มีผลกระทบต่อชีวิตของเรา จะมีคะแนนในด้านความสุขสูง และความสุขดังกล่าวก็จะยาวนานถึงอาทิตย์ ดังนั้น เพียงแค่การอีเมลหรือเขียนโน้ต แสดงความขอบคุณนั้นจะทำให้เรามีความสุขขึ้นแล้ว การออกกำลังกายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เรามีความสุขขึ้น จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Duke พบว่าการออกกำลังกายมีผลพอๆ กับการรับทานยาเพื่อแก้ไขอาการหดหู่ เบื่อโลก นอกจากนี้การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอยังทำให้เราเกิดความรู้สึกของการบรรลุความสำเร็จ เนื่องจากการบังคับตัวเองให้ออกกำลังกายได้อย่างสม่ำเสมอ ทำให้เรามีความรู้สึกเหมือนกับเราสามารถบรรลุเป้าหมายที่สำคัญได้ อีกทั้งการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอยังทำให้ร่างกายเราหลั่งสารเอนโดรฟินที่ช่วยทำให้เรารู้สึกมีความสุขด้วย
ข้อสุดท้ายสำหรับการสร้างสุขก็คือการให้ครับ เมื่อ “การให้” เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราแล้วเราจะมีความสุขมากขึ้น โดยการให้นั้น ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปของตัวเงินเสมอไป การช่วยเพื่อนบ้าน ช่วยเพื่อนร่วมงาน การอาสาสมัครเพื่อทำความดี หรือการบริจาคสิ่งของหรือกำลังกาย ก็ถือว่าเป็นการให้ และสิ่งที่น่าสนใจก็คือจากงานวิจัยเราพบว่า “การให้” นั้นนำไปสู่สุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดีมากกว่าการออกกำลังกายและการหยุดสูบบุหรี่ด้วยซ้ำไป นอกจากการให้ในลักษณะที่เราคุ้นเคยแล้ว การรับฟังผู้อื่น การถ่ายทอด ให้ความรู้ของตนเองต่อผู้อื่น หรือ การให้อภัย ก็ล้วนแล้วแต่เพิ่มความสุขให้กับเราได้ สุดท้ายที่น่าสนใจที่สุดก็คือเราจะมีความสุขมากขึ้นถ้าใช้เงินเพื่อผู้อื่น มากกว่าการใช้เงินเพื่อตนเอง ดังนั้นถ้าท่านอยากจะมีความสุขจากการใช้เงิน ก็ขอให้ใช้เงินนั้นเพื่อผู้อื่น ไม่ใช่เพื่อตนเองครับ
บทความโดย : รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 24 และ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2553 |
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() |