บริษัท พัฒนกิจ บัญชี ภาษีและฝึกอบรม จำกัด
Pattanakit Accounting Tax & Training Co., Ltd.
59/275 ซอยสุวินทวงศ์ 44 ถนนสุวินทวงศ์ แขวงลำผักชี เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร 10530
โทรศัพท์ 094-6574441 , 099-4567715 , 092-4634120, 061-0382531
Website :https://www.pattanakit.net / Email : infoservice2126@gmail.com

อินเทอร์เน็ตทำให้เราโง่ลง จริงหรือไม่
ในช่วงที่ผ่านมา ท่านผู้อ่านรู้สึกว่าสมาธิในการอ่านหนังสือ หรือสมาธิในการทำงานของท่านสั้นลงบ้างไหม?? การนั่งทำงานนานๆ กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยไม่ถูกรบกวน หรือความสามารถในการคิดเชิงลึก หรือคิดสร้างสรรค์ของเราลดน้อยลง เมื่อเรานั่งอ่านหนังสือหรือบทความนานๆ เราจะไม่สามารถนั่งอ่านนิ่งๆ ได้นานเหมือนอดีต อ่านไปได้เพียงแค่ไม่กี่หน้า เราก็อดไม่ได้ที่จะเหลือบไปดูมือถือว่ามีอีเมลมาบ้างไหม หรือเหลือบไปดูหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อเช็คเมล หรืออ่าน Twitter หรืออ่าน Facebook หรือแม้กระทั่งไม่สามารถทนนั่งอ่านจนจบ จะต้องหาเรื่องลุกไปทำอย่างอื่นหรือพลิกไปเพื่ออ่านแบบเร็วๆ ถ้าท่านมีลักษณะข้างต้น ก็ขอต้อนรับสู่ยุคอินเทอร์เน็ตอย่างแท้จริงครับ ประโยชน์ของอินเทอร์เน็ตนั้นมีมากมายนับไม่ถ้วน ในขณะเดียวกันหลายๆ คนก็ถือว่าอินเทอร์เน็ตเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญที่เปลี่ยนแปลงโลกพอๆ กับเทคโนโลยีด้านการพิมพ์ อย่างไรก็ดีทุกอย่างต้องมีสองด้าน ดังนั้นเมื่ออินเทอร์เน็ตมีข้อดีมากมายแล้ว ข้อเสียก็มีเช่นเดียวกันครับ และข้อเสียประการหนึ่งที่อาจจะส่งผลกระทบกับเราโดยที่เราไม่รู้ตัวก็คือผลกระทบของอินเทอร์เน็ตที่มีต่อการทำงานของสมอง และเริ่มมีคนตั้งข้อสงสัยแล้วว่าอินเทอร์เน็ตทำให้เราโง่ลงจริงหรือไม่? ในหนังสือชื่อ The Shallows เขียนโดย Nicholas Carr ระบุไว้อย่างน่ากลัวเลยครับว่าอินเทอร์เน็ตทำให้โครงสร้างของเซลล์ประสาทในสมองเราเปลี่ยนไป โดย Carr ยกตัวอย่างว่าโครงสร้างของเซลล์ประสาทในสมองของคนที่อ่านหนังสือออกและผู้ที่อ่านหนังสือไม่ออกนั้นต่างกัน ดังนั้นถ้าเทคโนโลยีในการพิมพ์ทำให้โครงสร้างเซลล์ประสาทของแต่ละคนแตกต่างกันออกไป เทคโนโลยีดิจิทัลจะส่งผลให้โครงสร้างเซลล์ประสาทของเราเปลี่ยนไปด้วยหรือไม่?? ข้อเสนอของ Carr นั้นก่อให้เกิดข้อถกเถียงมากมาย มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ไม่ว่าโครงสร้างเซลล์ประสาทของเราเปลี่ยนไปเพราะอินเทอร์เน็ตหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ก็คือวิธีการในการคิด สมาธิ และความคิดสร้างสรรค์ของเราเปลี่ยนไปเพราะอินเทอร์เน็ตแน่ๆ เราต้องยอมรับความจริงว่าอินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่รบกวนสมาธิเราในการทำงานและทำให้สมาธิของเราแตกเป็นส่วนย่อยๆ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว ความสามารถในการจดจำ ในการคิด และการสร้างสรรค์นั้นขึ้นอยู่กับสมาธิของเรา ในขณะที่เราทำงานอย่างมีสมาธินั้น ทำให้เราสามารถคิดได้อย่างลึกซึ้งและสร้างสรรค์ แต่ในการใช้อินเทอร์เน็ตนั้น เราจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาระหว่างหน้าต่างๆ ตลอดเวลา อีกทั้งถ้าเราเปิดเน็ตไปพร้อมกับการทำงานไปด้วย เราก็อดไม่ได้ที่จะเข้าไปเช็คเมล เช็คข่าว หรือ เช็คเครือข่ายสังคมออนไลน์ของเราอยู่ตลอดเวลา ทำให้การทำงานของสมองเราต้องกระโดดไปกระโดดมาระหว่างสิ่งต่างๆ ตลอดเวลาอย่างรวดเร็ว และส่งผลให้การคิดของเรานั้นเป็นแบบอัตโนมัติมากกว่าคิดแบบลึก ปัจจุบันผู้ปกครองจำนวนมากสนับสนุนให้เด็กๆ เล่นเกมคอมพิวเตอร์หรือใช้คอมพิวเตอร์เป็นสื่อในการพัฒนาเด็ก ซึ่งก็มีข้อดีนะครับ แต่ข้อเสียก็คือกลายเป็นการฝึกให้สมองของเด็กสมัยใหม่คิดได้เร็ว แต่คิดได้ตื้น การให้ลูกนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา ไม่ได้ทำให้เด็กมีพัฒนาการของสมองที่ดี มีความคิดสร้างสรรค์ พอมาวัยโตขึ้นก็เช่นเดียวกันครับ ปัจจุบันเราจะพบนิสิต นักศึกษาจำนวนมากที่เปิดโน้ตบุ๊คไปพร้อมๆ กับการเรียนหนังสือในห้องเรียน โดยส่วนใหญ่นั้นมักจะเปิดเพื่อจดบันทึก หรือเพื่อคุยกับคนอื่นผ่านทางเครือข่ายออนไลน์ หรือการเปิดเพื่อคอยหาข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับเนื้อหาที่เรียน แต่ผลการวิจัยที่มหาวิทยาลัย Cornell ซึ่งมีการแบ่งนักศึกษาเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกให้ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อค้นหาข้อมูลในเน็ตได้ในระหว่างเรียน กับ อีกกลุ่มที่ให้นั่งฟังการบรรยายเดียวกันแต่ไม่ให้เปิดคอมพิวเตอร์ หลังจากฟังการบรรยายจบก็มีการทดสอบทันทีว่านักศึกษาสามารถจดจำและเข้าใจเนื้อหาที่บรรยายได้มากน้อยเพียงใด พบว่านักศึกษาที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์นั้นมีผลการทดสอบออกมาแย่กว่าพวกที่ไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์อย่างมากมายทุกคนเลยครับ ไม่ว่าพวกที่ใช้คอมพิวเตอร์นั้นจะใช้เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาที่เรียนหรือไม่
อินเทอร์เน็ตมีข้อดีหลายประการ แต่ข้อเสียก็มีนะครับ ดังนั้นผมว่าเราควรจะเรียนรู้และคอยป้องกันตนเองจากข้อเสียเหล่านี้ ถ้าท่านผู้อ่านเริ่มพบว่าตนเองอ่านหนังสือหรือทำงานด้วยสมาธิที่ลดน้อยลง และจะต้องคอยเช็คข้อมูลต่างๆ ผ่านทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดเวลา ก็อาจจะต้องคอยปิดการติดต่อจากโลกภายนอกบ้างนะครับ บางครั้งการที่ไม่ได้ไปตอบความเห็นของเพื่อนใน Facebook หรือ การตอบอีเมลอย่างรวดเร็ว หรือไปอ่านข่าวล่าสุดใน Twitter คงไม่ได้ทำให้โลกแตกลงได้ แต่ถ้างานที่เราทำไม่เสร็จ หรือออกมาไม่ดี เนื่องจากสมาธิเราถูกดึงดูดด้วยสิ่งต่างๆ ตลอดเวลา อาจจะทำให้เรามีปัญหาในการทำงานได้นะครับ ท่านผู้อ่านอาจจะต้องเลือกนะครับว่าจะเอาอะไร อย่าลืมว่าเรามีสิทธิที่จะเลือกใช้เทคโนโลยีนะครับ ไม่ใช่เทคโนโลยีมาเป็นเจ้าชีวิตเรา บทความโดย : รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 21 กันยายน 2553 |
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() |