
การหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ช่วงนี้ก็เริ่มเป็นเทศกาลเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้วนะคะ ผู้มีเงินได้จะต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 หรือ ภ.ง.ด. 91 ภายในวันที่ 31 มีนาคมของทุกปี สำหรับผู้ที่มีเงินได้แล้วสูงกว่า 150,000 บาทต่อปี ซึ่งสามารถกรอกแบบฟอร์มภาษีได้ด้วยตนเอง การกรอกแบบฟอร์มและยื่นเสียภาษีทางอินเทอร์เน็ตก็เป็นวิธีหนึ่งที่ค่อนข้างสะดวก สบายเพราะมีโปรแกรมภาษีให้กรอกข้อมูลและคำนวณภาษีให้โดยอัตโนมัติที่เว็บ www.rd.go.th แต่สำหรับผู้ที่มีเงินได้หลายประเภทที่มีความซับซ้อน ก็อาจต้องใช้บริการผู้ที่เชี่ยวชาญทางด้านภาษีช่วยกรอกแบบฟอร์มภาษีให้ ดังนั้นในช่วงนี้จึงจะขอพูดถึงส่วนของการหักเงินลดหย่อนในการประเมินภาษีเงินได้ประจำปี เพื่อให้ทราบสิทธิของตัวเองนะคะว่า จะสามารถนำเอารายจ่ายประเภทไหนบ้างมาหักลดหย่อนภาษีได้
ประการแรกก็คือ ผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เข้าข่ายในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีเงินได้ จะมีสิทธิได้รับการลดหย่อนอะไรบ้าง ก็แยกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ ส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายทั่วไป และส่วนที่เป็นเงินที่ใช้เพื่อการลงทุน
(1) การหักลดหย่อนทั่วไป ผู้มีเงินได้สามารถหักได้ 30,000 บาทต่อปี ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไทยถึง 180 วันหรือไม่ก็ตาม และคู่สมรสของผู้มีเงินได้อีก 30,000 บาท
(2) การหักลดหย่อนค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตร สำหรับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้ แต่ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่าเป็นบุตรที่เกิดก่อนหรือใน พ.ศ. 2522 หรือเป็นบุตรบุญธรรมก่อน พ.ศ. 2522 จะนำไปหักค่าลดหย่อนได้คนละ 15,000 บาท หากเป็นบุตรที่เกิดหลังปี 2522 คนละ 15,000 บาทแต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 3 คน
(3) การหักค่าลดหย่อนการศึกษาของบุตร ให้หักได้เฉพาะบุตรซึ่งมีอายุไม่เกิน 25 ปีและยังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือ ชั้นอุดมศึกษาเฉพาะภายในประเทศได้คนละ 2,000 บาท
(4) ค่าลดหย่อนการอุปการะเลี้ยงดูบุพการี กรณีที่ผู้มีเงินได้และคู่สมรสที่มีเงินได้รวมค่าภาษีหรือคู่สมรสที่เงินได้อุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสจะมีสิทธิลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาได้คนละ 30,000 บาท ทั้งนี้ต้องมีหนังสือรับรองการอุปการะเลี้ยงดูของบิดาหรือมารดา
(5) เงินค่าสนับสนุนเพื่อการศึกษา ได้แก่ เงินใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา มีสิทธิหักลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินคงเหลือหลังหักค่าใช้จ่ายและการหักค่าลดหย่อนอื่น ๆ
(6) เงินบริจาค เงินบริจาคที่จะสามารถนำมาหักลดหย่อนได้ต้องเป็นเงินบริจาคให้การสาธารณกุศลโดยหักได้ตามจำนวนจ่ายจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินคงเหลือหลังจากหักค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ต้อง ดูรายชื่อองค์กรและนามองค์กรสาธารณกุศลที่สามารถหักลดหย่อนภาษีได้
(7) การหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืม จากเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อหรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อ หรือสร้างเป็นการประกันการกู้ยืมนั้น ตามจำนวนเงินที่จ่ายไปจริง แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท เฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ได้จ่ายตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2550 เป็นต้นไป
สำหรับเงินหักลดหย่อนที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนอื่น ๆ จะนำมาขยายความต่อในสัปดาห์หน้า เหลือเวลาไม่มากแล้วก็อยากให้รวบรวมเอกสารข้อมูลให้พร้อมและยื่นแบบฟอร์มภาษีแต่เนิ่น ๆ นะคะ เพราะหากยื่นแบบภาษีเร็ว จะได้รับเงินคืนเร็วด้วย
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เนื่องจากเป็นช่วงการยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่ผู้มีเงินได้ที่มีรายได้สูงกว่า 150,000 บาท จะต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด. 91 ภายในวันที่ 31 มีนาคมของทุกปี และในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้พูดถึงการหักลดหย่อนค่าใช้จ่ายของผู้มีเงินได้ไปแล้ว ใน สัปดาห์นี้จะเพิ่มในส่วนการหักลดหย่อน
ต่อนะคะ
(1) ในส่วนเงินสะสมที่ถูกหักเข้าไว้ในกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) สำหรับข้าราชการและสมัครเป็นสมาชิกของ กบข. เงินสะสมของสมาชิก กบข. สามารถหักลดหย่อนได้เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี
(2) เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (กสล.) เงินสะสมในส่วนของลูกจ้างจ่ายเข้า กสล. สามารถนำมาหักเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี
(3) กองทุนประกันสังคม เงินสมทบ ที่ผู้ประกันตนจ่ายเข้ากองทุนสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง
(4) กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน ซึ่งเงินจ่ายสมทบเข้ากองทุนครูสามารถหักลดหย่อนทางภาษีได้ไม่เกิน 15% ของค่าจ้างแต่ไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี
(5) เงินลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) ที่รัฐสนับสนุนการออมระยะยาวแบบผูกพันและให้ได้รับผลตอบแทนเมื่อสูงอายุ สามารถหักเป็นค่าลดหย่อนทางภาษีได้เท่าที่ลงทุนจริง แต่ต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้ และไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี (ทั้งนี้ไม่นับรวมเงินส่วนที่จ่ายเข้ากองทุน กบข. กองทุนประกันสังคม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ)
(6) เงินลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) ที่รัฐให้การสนับสนุนให้ผู้ลงทุนรายย่อยที่เป็นบุคคลธรรมดาให้ลงทุนระยะยาวในตลาดหลักทรัพย์ ที่สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้เท่าที่ลงทุนจริง แต่ต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้และไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี ทั้งนี้ไม่รวมส่วนเงินลงทุนใน กบข. กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และเงินที่ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
(7) การประกันชีวิต เงินเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตที่มีกรมธรรม์ อายุเกิน 10 ปีขึ้นไป หักลดหย่อนทางภาษี ได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท ต่อปี
ทั้งนี้กรมธรรม์ที่มีส่วนขยายของ กรมธรรม์สุขภาพผู้ทำประกันจะได้สิทธิหักส่วนลดหย่อนได้เฉพาะค่าเบี้ยประกันชีวิตที่แยกออกจากเบี้ยประกันสุขภาพทั้งนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปีภาษี 2552 เป็นต้นไป
(8) เงินลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2552 เป็นปีที่มีมาตรการพิเศษสำหรับเงินลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (บ้านหรือที่อยู่อาศัยที่สร้างใหม่) โดยเงินได้ที่จะนำไปคำนวณเพื่อหักลดหย่อนนั้นยึดถือเอาตามจำนวนเงินที่ผู้ขายได้รับ เป็นสำคัญ (ตามราคาบ้าน/คอนโดฯ ที่ซื้อ) ในกรณีที่เป็นการซื้อแบบผ่อนดาวน์จึงหมายรวมทั้งเงินค่าดาวน์ที่เราจ่ายและเงินส่วนที่เหลือที่เรากู้จากธนาคารมาจ่ายให้โครงการ แต่ทั้งหมดรวมกันแล้วไม่เกิน 300,000 บาท
ส่วนกรณีซื้อสดก็จะหมายถึงเงินทั้งหมดที่เราได้จ่ายให้โครงการ แต่นำไปคำนวณเพื่อหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 300,000 บาทเช่นกัน และจะต้องถือกรรมสิทธิ์ในอสังหาฯ ดังกล่าวต่อเนื่องกันเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี และนอกจากนี้ยังต้องมีการจะโอนให้ทันภายในวันที่ 31 ธันวาคม ปี 2552 นี้
ท่านยื่นแบบฟอร์มภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือยังคะ ขอเชิญยื่นแบบฟอร์มผ่านอินเทอร์เน็ตได้ที่ www.rd.go.th ค่ะ

ที่มา : คอลัมภ์ เข็มทิศลงทุน นสพ.เดลินิวส์ วันที่ 6 และ 13 กุมภาพันธ์ 2553