บริษัท พัฒนกิจ บัญชี ภาษีและฝึกอบรม จำกัด
Pattanakit Accounting Tax & Training Co., Ltd.
59/275 ซอยสุวินทวงศ์ 44 ถนนสุวินทวงศ์ แขวงลำผักชี เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร 10530
โทรศัพท์ 094-6574441 , 099-4567715 , 092-4634120, 061-0382531
Website :https://www.pattanakit.net / Email : infoservice2126@gmail.com

ไม้ตายจัดการเจ้าหนี้นอกระบบ
คณะทำงานแก้ปัญหาหนี้นอกระบบระดับชาติ ประกอบด้วยกำลังจากหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กรมสรรพากร เป็นต้น ทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ โดยพยายามหามาตรการทางกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันมาใช้แก้ปัญหาและจัดการกับแก๊งเงินกู้นอกระบบ โดยมีเป้าหมายกวาดล้างให้ปัญหาหนี้นอกระบบหมดไปภายใน 3 ปี อัยการ ดำริ เฉลิมวงศ์ อัยการผู้เชี่ยวชาญ จากสำนักคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานแก้ปัญหาหนี้นอกระบบระดับชาติ กล่าวว่า “สิ่งที่รัฐบาลทำเพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบนี้ต้องบอกก่อนว่า ไม่ได้เป็นการส่งเสริมให้ลูกหนี้เบี้ยวหนี้ หรือเป็น “วาระชักดาบแห่งชาติ” น่าจะเรียกว่าเป็นการ “จัดระเบียบเจ้าหนี้” มากกว่า เพราะเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของสังคม เป็นหนี้ลูกหนี้ก็ต้องใช้หนี้ตามยอดที่กู้มาจริง จากข้อมูลที่มีการร้องเรียนเข้ามา รวม ๆ แล้ว ลูกหนี้กู้เงินหนี้นอกระบบไปจริง ๆ ประมาณ 40 ล้านบาท แต่ปรากฎว่าหนี้ตามเอกสารมีสูงถึง 140 ล้านบาท ส่วนที่เกินมา 100 ล้านบาทนั้นมันเป็นการทำนาบนหลังคน โดยใช้กระบวนการยุติธรรมฟอกให้เป็นเงินที่ถูกต้องตามกฎหมาย” มาตรการที่ภาครัฐนำมาใช้จัดการกับเจ้าหนี้นอกระบบอยู่ในปัจจุบันก็จะมีทั้งไม้นวม ไม้แข็ง เริ่มจากไม้นวมก็คือ การเรียกเจ้าหนี้นอกระบบที่ถูกร้องเรียนมาเจรจา อย่างเช่น กรณีที่ฟ้องลูกหนี้ 240,000 บาท เจ้าหนี้ต้องรู้อยู่แก่ใจว่าจริง ๆ แล้วลูกหนี้กู้เงินไปเท่าไร จะยอมตัดลดหนี้ให้ลูกหนี้หรือไม่ โดยจะชี้แจงให้ฟังว่า ประมวลรัษฎากร ม. 91/2(5) ได้บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดประกอบธุรกิจเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ เช่น ให้กู้ยืมเงิน มีรายได้จากดอกเบี้ย ต้องปฏิบัติดังนี้ 1. ขอจดทะเบียนธุรกิจเฉพาะ ถ้าไม่จดทะเบียนถือว่าผิด 2. ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตราร้อยละ 3 บวกกับภาษีบำรุงท้องถิ่นอีก ร้อยละ 0.3 รวมเป็น ร้อยละ 3.3 3. กรมสรรพากรจะตรวจสอบย้อนหลัง 10 ปี หากเจ้าหนี้ไม่เคยยื่นแบบเสียภาษีว่าเคยมีรายได้จากดอกเบี้ยเงินกู้ เจ้าหนี้ก็จะมีความผิดที่แจ้งฐานภาษีเงินได้ผิดไปจากความเป็นจริง ต้องเรียกชำระเงินเพิ่มอีกหนึ่งเท่า ค่าปรับอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน จนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าปรับต้องย้อนหลังไป 10 ปี (120 เดือน) การใช้มาตรการทางภาษีเช่นนี้ ยากที่เจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบจะปฏิเสธได้ว่าไม่เคยมีรายได้จากดอกเบี้ยเงินกู้ เพราะหลักฐานมีชัดเจน ก็คำพิพากษาที่เจ้าหนี้ใช้ฟ้องบังคับคดีเอากับลูกหนี้นั่นแหละ แล้วจะปฏิเสธได้อย่างไรว่าไม่เคยมีรายได้จากดอกเบี้ยเงินกู้ เมื่อเจอหมัดสวนอย่างนี้ เจ้าหนี้เงินกู้หลายรายก็ต้องยอมเจรจาตัดลดหนี้ให้กับลูกหนี้ นอกจากมาตรการทางภาษีแล้ว ก็ยังมีกฎหมายเกี่ยวกับความผิดที่เรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และความผิดฐานกรรโชกทรัพย์และฟอกเงิน ซึ่งจะนำไปสู่การยึดทรัพย์สินของนายทุนเงินกู้นอกระบบดอกเบี้ยโหดต่อไป ทิ้งทายสำหรับ ลูกหนี้นอกระบบที่ถูกขูดรีดดอกเบี้ยอย่างผิดกฎหมาย ท่านสามารถร้องเรียน ให้ข้อมูลและขอความช่วยเหลือได้ที่ ศูนย์ดำรงธรรม ในจังหวัดต่าง ๆ และคุณยังสามารถร้องเรียน-ร้องทุกข์ มายัง "ศูนย์ดำรงธรรม" กระทรวงมหาดไทย ได้ดังนี้ ส่วนลูกหนี้นอกระบบที่ถูกฟ้องดำเนินคดีแล้ว และต้องการความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย โดยเฉพาะต้องการทนายความที่จะว่าความให้ฟรี ท่านสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานอัยการจังหวัดทุกแห่ง หรือ ที่สำนักคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารรัชดาภิเษก แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพ ฯ 10900 โทรศัพท์ 02-515-4048 หากต้องการปรึกษาเกี่ยวกับคดีหนี้นอกระบบ ติดต่อ Call Center 1157 ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ ไม่มีพักเที่ยง นอกจากนี้หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแง่มุมทางกฎหมายและการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ ก็สามารถเข้าไปอ่านบทความที่ท่านอัยการดำริ เฉลิมวงศ์ เขียนไว้ที่ เว็บไซต์ของ สำนักคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน สำนักงานอัยการสูงสุด http://www.lawaid.ago.go.th/ ถึงตรงนี้ บรรดาลูกหนี้นอกระบบทั้งหลาย ท่านก็คงจะพออุ่นใจได้บ้างว่าภาครัฐพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือให้ท่านได้รับความยุติธรรมตามกฎหมาย ไม่ใช่ถูกเจ้าหนี้นอกระบบสูบเลือดสูบเนื้อโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเหมือนที่ผ่าน ๆ มา ที่มา : มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค Update 4-9-53 |
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() |