ReadyPlanet.com
dot
คลังข้อมูลนักบัญชี
dot
bulletมุมบัญชี
bulletสภาวิชาชีพบัญชี
bulletกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
bulletธนาคารแห่งประเทศไทย
dot
ภาษี (Tax)
dot
bulletกรมสรรพากร
bulletสถานที่ตั้ง/เบอร์โทร สรรพากร
bulletประมวลรัษฎากร
bulletหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย
bulletDownload File บัญชี - ภาษี
dot
รวม Link เอนกประสงค์
dot
bulletอัตราแลกเปลี่ยนธนาคารต่างๆ
bulletอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์
bulletธนาคารพาณิชย์ต่างๆ
bulletหน่วยบริการภาษีใน กทม.
bulletตรวจผลสลากกินแบ่งรัฐบาล
bulletพจนานุกรมไทย
bulletDictionary อังกฤษ > ไทย
bulletเบอร์โทรศัพท์ - พกไว้คู่กาย
bulletรวมเบอร์โทรเรียก แท็กซี่
bulletชมคลิปวีดีโอ เมืองไทยในอดีต
dot
ค้นหาบทความในเว็บไซต์

dot
dot
บริการของเรา (Service)
dot


รับทำบัญชี



7 วิธีใช้จ่ายให้เงินเหลือออม

 

                                                      7 วิธีใช้จ่ายให้เงินเหลือออม(1-7 จบ)

                                                            (  คอลัมน์ Look Around ประชาชาติธุรกิจ )

                                       

 

7 วิธีใช้จ่ายให้เงินเหลือออม (1)

คอลัมน์ Look Around ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2545

โดย ธนนันท์

องค์ประกอบของรายจ่ายสำหรับคนทั่วไป ได้แก่ 

1.        รายจ่ายในชีวิตประ จำวันเพื่อการดำรงชีพ อาทิ อาหาร ที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภค เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ซึ่งหากรายได้มีไม่เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายก็จำเป็นต้องกู้ยืมมาใช้จ่าย จึงเกิดหนี้สินที่จะต้องชำระคืนพร้อมดอกเบี้ย การก่อหนี้ของคนส่วนใหญ่มักเกิดจาก 

2.        ซื้อที่อยู่อาศัย 

3.         เช่าซื้อรถยนต์ 

4.         อุปโภคและบริโภค ที่สำคัญคือการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ซึ่งหลังจากหักรายจ่ายข้างต้นแล้ว รายได้ส่วนที่เหลือจึงเป็นเงินที่ออมไว้ใช้จ่ายในอนาคต และเพื่อให้เงินออมนี้มีผลตอบแทนจึงควรใช้จ่ายโดย 

5.        ซื้อสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่จะมีราคาสูงขึ้นในระยะต่อไปแทนการถือเงินสด 

6.        ใช้จ่ายลงทุนในตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูงและหรือ 

7.        ใช้จ่ายลงทุนในตราสารทุน

ในวิชาเศรษฐศาสตร์การใช้จ่ายเงินสร้างความพึงพอใจให้กับมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายเพื่อสิ่งที่จำเป็นหรือไม่จำเป็น แต่ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันบังคับให้เราต้องใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นเท่านั้นจึงจะมีเงินเหลือออม ดังนั้น เพื่อให้บรรลุวัตถุ ประสงค์ทั้งสองประการจึงควรมีการบริหารจัดการรายจ่ายทั้ง 7 วิธีข้างต้นอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้หลักประหยัดและประโยชน์ในการใช้จ่ายประจำวันที่ยังคงสร้างความพึงพอใจเท่าเดิม

ส่วนการก่อหนี้ก็จะต้องเป็นการก่อหนี้ที่ดี โดยนำไปใช้จ่ายให้ได้สิ่งที่ต้องการ และสามารถชำระคืนหนี้ตามภาระผูกพันทั้งในส่วนของเงินต้นและดอกเบี้ยได้

สำหรับการใช้จ่ายลงทุนด้วยเงินออมก็จะต้องบริหารให้ได้รับผลตอบแทนสูงกว่าการเสื่อมค่าของเงินจากภาวะเงินเฟ้อ และให้มีจำนวนมากเพียงพอกับความต้องการใช้ตามวัตถุประสงค์เฉพาะอย่าง ซึ่งคนทั่วไปมักต้องการใช้จ่ายซื้อที่อยู่อาศัย การศึกษาของบุตร และการใช้จ่ายหลังเกษียณอายุ โดยใช้กลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสม ซึ่งก็คือการลงทุนรูปพีระมิด

สาระสำคัญที่นำเสนอเกี่ยวกับแนวทางบริหารการใช้จ่ายทั้งสามส่วนข้างต้น ได้แก่ การใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ภาระหนี้และการลงทุน เป็นแนวคิดเพื่อจะนำไปปฏิบัติให้เงินออมเพิ่มขึ้นสองประการ คือ ประการแรก ลดรายจ่ายให้มีเงินเหลือออม และประการที่สอง เพิ่มเงินที่ออมไว้ด้วยกลยุทธ์การลงทุนรูปพีระมิด ให้ได้จำนวนตามเป้าหมาย แต่อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ได้รับจริง อาจจะหรืออาจจะไม่เป็นไปตามแผนก็ได้ กลยุทธ์การลงทุนรูปพีระมิด เป็นเพียงแนวคิดที่ผู้ปฎิบัติ จะต้องมีทักษะเกี่ยวกับเทคนิคการลงทุนมาแล้วพอควร หากเป็นผู้ลงทุนทั่วไปก็ขอให้ศึกษาเกี่ยวกับการลงทุน ในเครื่องมือการเงินต่าง ๆ เพิ่มเติมก่อนการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อให้สามารถตั้งเป้าหมายผลตอบแทนที่ดำเนินการได้

ปัญหาเศรษฐกิจในทศวรรษ 2000

จุดพลิกผันของระบบเศรษฐกิจไทยเกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ที่ส่งผลให้มีปัญหาเศรษฐกิจตามมามากมาย อาทิ การไหลออกของเงินทุนจากต่างประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระบบการเงินขาดสภาพคล่องเป็นเวลานาน ราคาหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯลดลงอย่างไร้ขีดจำกัด ธุรกิจเอกชนและสถาบันการเงินมีหนี้ต่างประเทศระยะสั้นสะสมมาก จนทำให้เกิดวิกฤตสถาบันการเงินจากการมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งเป็นภาระอันหนักอึ้งของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่ยังคงต้องแก้ไขปัญหาอยู่

ประเทศเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากการขาดแคลนอุปสงค์ต่อสินค้าและบริการเพราะประชาชนไม่มีรายได้เพียงพอใช้จ่าย ซึ่งเป็นผลจากการไม่มีงานทำ เนื่องจากธุรกิจจำนวนมากต้องเลิกกิจการ และธุรกิที่ยังดำเนินการอยู่ก็มีการปลดคนงาน เพื่อลดต้นทุนให้สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ ทั้งนี้ แม้ว่าภาครัฐได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายอย่าง อาทิ การให้กู้ยืมเพื่อประกอบธุรกิจแก่ธุรกิจขนาดเล็กและผู้มีรายได้น้อยเพิ่มขึ้น การพักชำระหนี้เกษตรกร ฯลฯ เพราะการแก้ไขปัญหาต่างๆ ต้องใช้เวลา และแม้ว่าในขณะนี้เศรษฐกิจจะกระเตื้องขึ้นบ้างแล้ว แต่ยังคงมีปัญหาสะสมอยู่มาก โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายของประชาชน

ภาวะเงินเฟ้อและเงินฝืด

เมื่อกล่าวถึงราคาสินค้า ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอะไรก็ตามคนทั่วไปมักเคยชินกับการที่ราคาสินค้าในปีหน้าจะสูงกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากผลของเงินเฟ้อ คนส่วนใหญ่จึงวิตกกังลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและหาทางที่จะป้องกันรวมทั้งการใช้ประโยชน์จากเงินเฟ้อ เช่น เรียนรู้ที่จะซื้อที่ดิน หุ้น หรือซื้อธุรกิจ เพราะสินทรัพย์เหล่านี้จะมีมูลค่าสูงขึ้นทุกปี จากการที่อุปสงค์เพิ่มและค่าเงินที่ลดลง เงินเฟ้อจึงส่งผลให้มีการสะสมสินทรัพย์ที่มิใช่เงินสด

เงินฝืดมีลักษณะตรงข้ามกับเงินเฟ้อ ที่ราคาสินค้าและบริการโน้มลดลง เนื่องจากขาดแคลนอุปสงค์ ธุรกิจมีสินค้าเหลือค้างสต็อกจำนวนมาก เป็นสัญญาณให้ผู้ประกอบการลดปริมาณการผลิตลง การชะลอตัวของตลาดสินค้า มีผลกระทบต่อเนื่องถึงธุรกรรมในตลาดเงิน และตลาดทุนให้ซบเซาลงด้วย ระบบเศรษฐกิจจึงหดตัวจากการที่ผลผลิตโดยรวม ณ ราคาปัจจุบันลดลง ซึ่งหากขนาดของการหดตัวอยู่ในระดับปานกลางเป็นระยะเวลาติดต่อกันตั้งแต่ 2 เดือนถึง 2 ปี จะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ถ้าปริมาณผลผลิตลดลงมากและมีระยะเวลาที่ยาวนานกว่าก็ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

ภาวะเงินฝืดส่งผลกระทบที่รุนแรงกว่าภาวะเงินเฟ้อ เงินสดกลายเป็นสิ่งที่หายากจากการที่สินทรัพย์ทางการเงิน มีราคาตกต่ำลงมากจนกลายเป็นสิ่งที่คนนำไปประดับฝาผนังแทนการถือเป็นสินทรัพย์ อุปทาน อสังหาริมทรัพย์ขายไม่ออก ระบบสถาบันการเงินมีหนี้เสียเกิดขึ้นมากมาย ผู้ที่มีเงินสดซื้อสินค้าที่ราคาลดลงทุกวัน ขณะที่ผู้ลงทุนเฝ้าดูตลาดแต่ไม่ยอมลงทุน ได้แต่รอคอยเพราะรู้ว่าเมื่อวัฏจักรการตกต่ำของราคาสิ้นสุดลงแล้ว ก็จะกลับสูงขึ้นใหม่อีกครั้ง

แต่อย่างไรก็ตาม ในภาวการณ์ที่เป็นจริงอาจเกิดทั้งเงินเฟ้อ และเงินฝืดพร้อมกัน ได้ทำให้ราคาสินค้าบางอย่างสูงขึ้น แต่สินค้าบางอย่างกลับมีราคาลดลง

ปัจจัยที่มีผลกระทบต่ออุปสงค์สินค้าและบริการอย่างมีนัยสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ อารมณ์ของผู้บริโภค ในภาวะที่เศรษฐกิจดีประชา ชนจะมองโลกในแง่ดี มีการจับจ่ายใช้สอยอย่างไม่ระมัดระวังจนอาจเกิดการใช้จ่ายเกินตัวหากไม่มีเงินก็จะกู้ยืมมาใช้ แต่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือตกต่ำผู้บริโภคจะใช้จ่ายอย่างระมัดระวังและไม่กู้ยืม ส่งผลให้สถานการณ์ยิ่งยากลำบากมากขึ้น ผู้คนประหยัดขณะที่ธุรกิจปลดคนงาน และนักลงทุนถอนตัวจากตลาดหุ้นเคลื่อนย้ายเงินไปลงทุนในแหล่งที่คิดว่าปลอดภัยกว่า เช่น ฝากเงินกับธนาคารซึ่งจะได้รับความคุ้มครองจากทางการ 100 %

สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ทำให้เห็นว่า ในภาวะเงินเฟ้อผู้คนจะใช้เงินมากขึ้นขณะที่ค่าของเงินลดลง ตลาดสินค้าซื้อง่ายขายคล่อง แต่เงินฝืดทำให้คนถือเงินไว้ยังไม่ลงทุนซื้อบ้านหรือหุ้น ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่เอื้อต่อธุรกิจ และส่งผลให้แรงกดดันต่อการเกิดเงินฝืดเพิ่มต่อไป ราคาหุ้นอาจร่วงลงอย่างไร้ขีดจำกัด อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมลดลง และมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ก็ลดต่ำลงเช่นเดียวกัน

 

7 วิธีใช้จ่ายให้เงินเหลือออม (2)

คอลัมน์ Look Around ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2545

ความมั่นคงของงานประจำ

ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทำให้ธุรกิจต้องปรับขนาดให้เล็กลงเพื่อความอยู่รอด มีการปลดคนงาน และจ้างคนงานอายุน้อยแทนที่คนงานมีอายุ เพื่อลดต้นทุนค่าจ้างแรงงาน และสวัสดิการอื่นๆ สิ่งที่น่าเศร้าใจก็คือ คนงานที่มีอายุ แม้จะมีคุณภาพเหล่านี้ไม่สามารถหางานใหม่ ตามที่ตนมีความชำนาญทำโดยได้รับเงินเดือนในระดับเดิมได้ วิสัยทัศน์ในการทำงานและการมีงานทำในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตที่คิดกันว่า การทำงานให้เจริญก้าวหน้า ต้องอาศัยความซื่อสัตย์ ขยัน อดทน ฝึกฝนตนเองให้มีความสามารถพิเศษ และการมีงานประจำทำ เป็นการสร้างความมั่นคง ให้กับชีวิตเพราะเป็นหลักประกันว่า จะมีรายได้ตลอดระยะเวลาที่ทำงานอยู่ จึงไม่ขวนขวายที่จะเตรียมการสำหรับอนาคตโดยการออม

เนื่องจากความคิดที่ว่าในอนาคตจะไม่ขาด แคลนเงินสำหรับใช้จ่ายนั้น ไม่เป็นจริงอีกต่อไปแล้ว ผู้ที่มีงานทำต้องปรับตัว และปรับความคิดเกี่ยวกับการทำงาน ให้สอดคล้องกับหลักการทำงานสมัยใหม่ จึงจะทำงานอย่างมีความสุข และมีประสิทธิภาพ และจะต้องออมเงินไว้เพื่อการใช้จ่าย หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้ง่ายขึ้น เช่น ถูกออกจากงาน ถูกลดเงินเดือน และที่สำคัญคือ การออมเงินเพื่อใช้จ่ายเมื่อเกษียณอายุ

แนวโน้มของอัตราดอกเบี้ย

นับแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจอัตราดอกเบี้ยโน้มต่ำลงอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราผลตอบแทนการถือครองพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุ 4-5 ปีที่เคยสูงสุดถึงร้อยละ 12-13 ต่อปี ปัจจุบันพันธบัตรอายุการไถ่ถอนที่ยาวกว่า คือระหว่าง 7-10 ปี อัตราดอกเบี้ยลดลง เหลือเพียงร้อยละ 4-6 ต่อปี ขณะเดียว กันอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ของธนาคารลดลงเหลือร้อยละ 1.5 (เดือนตุลาคม 2545) ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำสุดในรอบ 30 ปีทีเดียว ทำให้มีการคาดการณ์เกี่ยวกับภาวะและแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยว่ายังอยู่ในช่วงขาลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อธุรกรรมทางเศรษฐกิจและการเงินในหลายๆ ด้าน อาทิ

1.  การที่อัตราดอกเบี้ยมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับเงินเฟ้อ การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย จึงรวมการคาดการเกี่ยวกับเงินเฟ้อไว้ด้วยเสมอ ดังจะเห็นได้จากปีที่อัตราเงินเฟ้อสูง และคาดว่าในปีต่อไปจะสูงขึ้นอีก อัตราดอกเบี้ยก็จะเพิ่มตาม ในทางตรงกันข้ามอัตราดอกเบี้ยกลับลดลงหากเงินเฟ้อต่ำ

นักวิเคราะห์อาจการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยได้ แต่การคาดการณ์เกี่ยวกับระดับอัตราดอกเบี้ยที่ถูกต้องเป็นไปได้ยาก ทำให้ธุรกรรมทางการเงินมักจะได้รับผลกระทบจากภาวะดอกเบี้ยเสมอ ตัวอย่างเช่น บริษัท นำชัยกู้ยืมเงินในเดือนกันยายน 2545 เพราะคาดว่าดอกเบี้ยจะโน้มสูงขึ้น แต่ในเดือนตุลาคม 2545 ดอกเบี้ยกลับลดลงส่งผลให้ฐานะการเงินของบริษัทอ่อนแอเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่กู้เงินในเวลาที่เหมาะสมจึงมีต้นทุนเงินที่ต่ำกว่า

นอกจากนี้เทคโนโลยีข่าวสารที่ทันสมัยทำให้ผู้เกี่ยวข้องในตลาดการเงินรู้ความเป็นไปของตลาดเป็นอย่างดี ถ้าคาดว่าดอกเบี้ยจะลดลงผู้กู้ยืมประสงค์จะทำสัญญาเกี่ยวกับการกู้ระยะยาว ขณะที่ผู้ให้กู้ยืมต้องการจะทำสัญญาระยะสั้น

2. ความเคลื่อนไหวของอัตราดอกเบี้ยส่งผลกระทบต่อราคาของพันธบัตร กล่าวคือ เมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นราคาของพันธบัตรจะลดลง โดยพันธบัตรที่มีอายุการไถ่ถอนยาวจะมีราคาลดลงมากกว่า ทำให้ผู้ที่ถือพันธบัตรระยะยาวในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นจะสูญเสียมาก แต่ในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาลงจะมีลักษณะที่ตรงกันข้าม

3. พัฒนาการของระบบการเงินจากการที่ทางการลดการควบคุมสถาบันการเงิน ที่สำคัญคือ ยกเลิกการกำหนดเพดานดอกเบี้ยเงินกู้ยืมและเงินฝากของธนาคารและบริษัทเงินทุน ทำให้ปริ มาณการค้าและเงินทุนนำเข้าเพิ่มขึ้นมาก ขนาดของตลาดสินเชื่อขยายตัวอย่างรวดเร็ว และอัตราดอกเบี้ยมีการเคลื่อนไหวตามภาวะเศรษฐกิจการเงินใกล้ชิดมากขึ้น ซึ่งในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องนี้ส่งผลให้เกิดนวัตกรรมทางการเงินใหม่หลายประการ ที่เกี่ยวข้องกับตลาดสินเชื่อก็คือ เงินกู้ยืมที่มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัวหรือกึ่งลอยตัวที่คิดดอกเบี้ยคงที่ใน 1-2 ปีแรก หลังจากนั้นเป็นแบบลอยตัว โดยกำหนดให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมอิงกับ MLR (Minimum lending Rate) แตกต่างจากเงินกู้ยืมในอดีต ที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ตลอดอายุของเงินกู้ ทั้งนี้ เนื่องจากทางธนาคารพาณิชย์ต้อง การลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของดอกเบี้ยที่มีผลกระทบต่อต้นทุนเงินของธนาคาร

ตัวอย่างเช่น ถ้าธนาคารให้กู้ยืมเงินโดยคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 7.0 อายุ 1 ปี ธนาคารจะนำเงินกู้ไปรีไฟแนนซ์ โดยการรับฝากเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยแตกต่างกัน ตามอัตราตลาด ถ้าดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่อัตราร้อยละ 5.5 ก็จะได้กำไรร้อยละ 1.5 ต่อมาดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 7.0 ทำให้ขาดทุน นอกจากนี้ ถ้าอัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลง บ่อยๆ ธนาคารจะมีต้นทุนจากการบริหารเงินกู้เพิ่มอีกด้วย

ดังนั้น เงินกู้ยืมที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ผู้ให้กู้รับความเสี่ยง แต่ในทางตรงกันข้าม เงินกู้ยืมอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ผู้กู้ยืมเป็นผู้รับความเสี่ยงจากการเปลี่ยน แปลงของดอกเบี้ยที่ธนาคารผลักภาระมาให้

การบริหารรายจ่าย

ปัจจุบันคนไทยยังคงนิยมใช้จ่ายด้วยเงินสด หลายคนมิได้บันทึกค่าใช้จ่ายไว้เป็นกิจจะลักษณะ ทำให้ผู้ที่มีรายได้ประจำเมื่อได้รับเงินเดือนมา มักจะจำได้เพียงว่ามีรายได้เป็นจำนวนเท่าใด แต่ตอบไม่ได้ว่าเงินเดือนหมดไปกับการใช้จ่ายอะไรบ้าง ซึ่งลักษณะการใช้จ่าย ตามความเคยชินดังกล่าว อาจทำให้เกิดหนี้สินพอกพูนได้ง่าย โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย มักประสบกับปัญหารายได้ ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายต้องพึ่งพาเงินกู้ยืมเพื่อการอุปโภคบริโภค ดังจะเห็นได้จากธุรกิจโรงรับจำนำ ซึ่งเป็นแหล่งสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค สำหรับเงินกู้จำนวนไม่มากนักมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จำนวนโรงรับจำนำเอกชน สถานธนานุเคราะห์ และสถานธนานุบาลของรัฐบาล ในเขตกรุงเทพมหานคร มีอยู่เกือบทุกถนนและประปรายในต่างจังหวัด

นอกจากนี้ ในปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำสถาบันการเงินและบริษัทเอกชนต่างก็หันมาส่งเสริมธุรกิจสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค โดยมีให้เลือกใช้มากมาย และที่นิยมกันอย่างแพร่หลายก็คือ บัตรเครดิต ที่มีแนวโน้มจะทำให้ลักษณะการใช้จ่ายของประชาชน เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการใช้เงินสดเป็นการใช้เงินพลาสติกแทน เนื่องจากธุรกิจบัตรเครดิตทำกำไรดีกว่าสินเชื่อประเภทอื่น เพราะบริษัทบัตรเครดิตที่มิใช่ธนาคารไม่ถูกควบ คุมเรื่องดอกเบี้ย ทำให้บริษัทบัตรเครดิต หันมาส่งเสริมการประกอบธุรกิจนี้กันอย่างกว้างขวาง

สภาพแวดล้อมทางการเงินที่เอื้ออำนวยให้ประ ชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้ง่ายนี้ นอกจากทำให้มีการใช้จ่ายเพิ่มแล้ว การที่ไม่ต้องจ่ายเงินสดจากกระเป๋าเมื่อตกลงใจซื้อสินค้ายังอาจทำให้มีการใช้จ่ายโดยไม่ยับยั้งชั่งใจ จนเกิดลักษณะการใช้จ่ายเงินเกินตัวกันมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากสถิติการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภค และบริโภคของประชาชนขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของท่านในระยะต่อไปหลายประการ

ที่สำคัญคือรายได้ส่วนใหญ่นำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและอาจมีหนี้สินเพิ่มจากการใช้จ่ายเกินตัวจนกระทั่งไม่มีเงินเหลือ สำหรับสะสมไว้เพื่อการใช้จ่ายในอนาคต กอปรกับภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลให้กำลังซื้อในอนาคตจากเงินได้ส่วนที่เหลือน้อยเสื่อมค่าลง ยิ่งกว่านั้นหากไม่มีเงินเหลือออม ในระยะต่อไปจะต้องหาเงินให้ได้มากขึ้นจึงจะใช้จ่ายได้เหมือนเดิม

ดังนั้น ไม่ว่าในขณะนี้ท่านจะอยู่ในวัยใด หากไม่เตรียมการเพื่อการใช้ชีวิตในอีก 20-30 ปีข้างหน้าด้วยการสะสมเงินไว้ใช้จ่ายอย่างเพียงพอ อาจประสบปัญหาได้ตัวอย่างเช่น ในขณะนี้มีเงินสะสมอยู่ 100,000 บาท ถ้าอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับเฉลี่ยร้อยละ 6-7.5 ต่อปี ในเวลาอีก 10-12 ปีข้างหน้าเงินออมจะเหลือค่าเพียง 50,000 บาทและอีก 20 ปีข้างหน้าเหลือค่าเพียง 25,000 บาทเท่านั้น เนื่องจากเงินจะมีค่าลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งภายในระยะเวลา 10-12 ปี (คำนวณจากกฎเลข 72 โดยใช้อัตราเงินเฟ้อหารด้วยจำนวน 72 จะได้ผลลัพธ์เป็นจำนวนปีที่ค่าเงินจะลดลงเหลือครึ่งหนึ่ง เช่น ถ้าระดับเงินเฟ้อร้อยละ 6 เงินลดลงเหลือครึ่งหนึ่งภายในเวลา 12 ปี)

 

 

7 วิธีใช้จ่าย ให้เงินเหลือออม (3)

แผนการปรับปรุงการใช้จ่ายประจำวัน

คอลัมน์ Look Around   ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2545

ธนนันท์

2 ขั้นตอนในการบริหารรายจ่าย โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตจากที่เป็นอยู่ ไม่ว่าในขณะนี้จะมีลักษณะการใช้จ่ายอย่างไร ประกอบด้วยตั้งเป้าหมายที่จะลดรายจ่ายตามที่เป็นอยู่ลงให้ได้อย่างน้อย 5-20% โดยใช้หลักประโยชน์และประหยัด เริ่มจากการทบทวนราย การใช้จ่ายต่างๆ อย่างละเอียดจนสามารถจะปรับลดหรือยกเลิกการใช้จ่ายบางอย่างลงได้ หลังจากนั้นจึงตั้งงบฯ รายจ่ายรายเดือน หรือรายสัปดาห์สำหรับสิ่งจำเป็นต่างๆ ไว้ และใช้จ่ายจริงให้ได้ตามแผนเท่านั้น วิธีการจัดทำงบฯรายจ่ายดังกล่าว เป็นการสร้างวินัยการใช้จ่ายของท่าน ซึ่งจะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ 

1) มั่นใจได้ว่าจะมีเงินเพียงพอใช้จ่ายเพื่อสิ่งจำเป็น และชำระหนี้ตามกำหนดเวลาได้ 

2) ช่วยในการตรวจสอบรายจ่ายว่าใช้เพื่อสิ่งที่จำเป็นหรือไม่ เช่น ถ้าตั้งงบฯรายจ่ายไว้ที่สัปดาห์ละ 1,000 บาท ซึ่งจะทำให้ลดรายจ่ายลงจากเดิม และเป็นเงินเหลือออมจำนวน 200 บาท

เมื่อทำได้ตามเป้าหมาย อย่างไรก็ตามหากไม่มีความถนัดและหรือไม่มีเวลาจะจัดทำงบฯรายจ่าย ก็อาจใช้วิธีง่ายๆ ดังนี้คือ นำเงินที่ได้รับมา แยกเก็บใส่ซองไว้เป็นซองๆ แต่ละซองจะเป็นค่าใช้จ่ายเฉพาะอย่าง อาทิ อาหาร สาธารณูปโภค ได้แก่ น้ำ โทรศัพท์ น้ำมันรถ ค่าขนมลูก ทำบุญ ชำระหนี้ ฯลฯ และใช้จ่ายจากเงินในแต่ละซองเมื่อถึงกำหนด

การปรับเปลี่ยนแหล่งและวิธีซื้อสินค้า เช่น

1) ซื้อสินค้าจากแหล่งที่เปรียบเทียบแล้วว่ามีราคาถูกกว่าเป็นการประจำ แม้ว่าจะมีร้านค้าใกล้บ้านที่ให้ความสะดวกในการจับจ่ายใช้สอยแต่มีราคาสูงก็จะไม่นับเป็นข้อยกเว้น

2) ซื้อสินค้าเฉพาะที่จำเป็นต้องใช้เท่านั้น เมื่อได้รับคูปองส่วนลดสินค้าที่ตรงกับความต้องการของท่านอย่าลืมพกพาไปด้วยเมื่อไปซื้อสินค้า และซื้อสินค้าประเภทเครื่องใช้ เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน เมื่อมีการจัดเทศกาลลดราคาสินค้าประจำปีหรือครึ่งปี หรือซื้อสินค้าในงานส่งเสริมการขายเป็นการเฉพาะ

3) อย่าเดินฆ่าเวลาในศูนย์การค้าหรือแหล่งที่มีร้านค้าขายสินค้าในราคาสูง เพื่อป้องกันมิให้มีการเผลอจับจ่ายใช้สอยด้วยการซื้อสินค้าราคาแพงกว่า

4) ทำงานบ้านบางชนิดเอง โดยการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกมาใช้แทนการจ้างแม่บ้าน

5) เลือกใช้บริการทางการเงินที่มีต้นทุนค่าใช้บริการต่ำ เช่น ชำระค่าสาธารณูปโภค หรือการชำระเงินที่มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตกับแหล่งที่ไม่คิดค่าธรรมเนียม

6) เปรียบเทียบบริการบัตรเครดิตและเดบิตของสถาบันการเงินและร้านสรรพสินค้าต่างๆ และเลือกใช้บัตรที่ให้ประโยชน์มากกว่า อาทิ ไม่เก็บค่าธรรมเนียม มีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า ฯลฯ

7) ประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งและการเดินทางหากสามารถทำได้ อาทิ ค่าใช้จ่ายเดินทางไปทำงาน โดยใช้บริการรถโดยสารสาธารณะแทนการใช้รถยนต์รับจ้างหรือรถยนต์ส่วนตัว

8) เลือกซื้อสินค้ามือสองที่มีคุณภาพแทนการซื้อของใหม่ เช่น รถยนต์ คอมพิวเตอร์ โต๊ะและเก้าอี้จากการประมูลเครื่องใช้สำนักงาน ของที่ทำงาน ฯลฯ

9) ซื้อสินค้าที่ต้องใช้เป็นประจำและมีอายุการใช้งานสั้นครั้งละมากๆ เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า เพราะการซื้อยกโหลจะมีราคาถูกกว่า อีกทั้งยังเป็นการประหยัดเวลาในการเดินทางไปซื้อด้วย

10) ลดจำนวนการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านลงบ้าง

ภาระหนี้สิน

ในบางกรณีการก่อหนี้ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อใช้จ่ายในการดำรงชีพ แต่ไม่ควรนำไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือยหรือเกิดจากความพลั้งเผลอ ถ้ามีการก่อหนี้ต้องควบคุมหนี้ให้ได้มิให้หนี้มาควบคุมชีวิตของท่าน เนื่องจากภาระหนี้ทำให้ดัชนีเงินเฟ้อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น และหากเป็นการกู้ยืมเงินจำนวนมากมีระยะเวลาผ่อนชำระนาน การชำระหนี้จะมีจำนวนสูงกว่าเงินที่กู้ยืมหลายเท่า แม้ว่าจะมีอัตราดอกเบี้ยต่ำและชำระหนี้ด้วยเงินที่มีค่าเสื่อมลงจากเงินเฟ้อก็ตาม

ลักษณะการก่อหนี้ที่ดี

การก่อหนี้ที่ดีจะต้องเป็นการนำไปใช้จ่ายเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ และผู้กู้สามารถชำระคืนหนี้นั้นได้ คนส่วนใหญ่ก่อหนี้เพื่อจัดซื้อที่อยู่อาศัย อสังหาริมทรัพย์ และสังหาริมทรัพย์อื่น เช่น ที่ดิน รถยนต์ ทั้งเพื่อการใช้สอยและการสะสมไว้เป็นสินทรัพย์ และมีการก่อหนี้เพื่ออุปโภค และบริโภค เนื่อง จากการซื้อสินทรัพย์เหล่านี้ต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมาก ผู้ที่มีรายได้ประจำน้อยคนจะสามารถซื้อได้ด้วยเงินสดของตนเอง

จำนวนการก่อหนี้ที่เหมาะสม

คนส่วนใหญ่มักจะมีการก่อหนี้ประเภทที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยกู้ยืมจากสถาบันการเงิน อาทิ สินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นหนี้ระยะยาว เงื่อนไขการให้สินเชื่อไม่เข้มงวดนัก และการก่อหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งสถาบันการเงิน และบริษัทผู้จำหน่ายสินค้า และบริการให้กู้ยืมเพื่อการอุปโภคบริโภค แก่ผู้กู้ที่มีเครดิตดี เช่น มีงานประจำทำและมีรายได้สูง โดยมีมูลหนี้ไม่มากนัก รวมทั้งการให้กู้ยืมเงื่อนไขพิเศษแก่ผู้มีคุณสมบัติด้วยการเชิญมาเป็นสมาชิกบัตรเครดิต เช่น ผู้ถือบัตรแพลทินัมการ์ด ที่ได้รับสิทธิพิเศษให้เบิกเงินสดจากเครื่องเอทีเอ็มทั้งในประเทศและต่างประเทศได้เป็นจำนวนมาก

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินให้ความเห็นเกี่ยวกับจำนวนการก่อหนี้ที่เหมาะสมของคนทั่วไปเพื่อมิให้เกิดปัญหามีหนี้สินเกินตัวไว้ว่า โดยทั่วไปหนี้ที่ไม่มีหลักประกันควรมีจำนวนเท่าที่สามารถจะชำระคืนได้ในทันทีโดยไม่มีต้นทุน คือ ไม่เสียดอกเบี้ยเมื่อถึงกำหนดชำระหนี้ ส่วนหนี้ที่มีหลักประกันควรมีจำนวนเท่าที่สามารถจะผ่อนชำระได้หมดภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี ทั้งนี้ ไม่นับรวมเงินกู้ระยะยาวที่ได้รับเป็นสวัสดิการจากที่ทำงานซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าท้องตลาด และการกู้ยืมเพื่อซ่อมแซมและบำรุงรักษาสินทรัพย์ถาวร เช่น บ้านและที่ดิน ซึ่งจะทำให้มูลค่าของสินทรัพย์นั้นเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจมีอายุ 10-15 ปี

แต่ถ้ามีหนี้สินมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนดและกำลังเผชิญปัญหา 2 ข้อใดๆ ต่อไปนี้ อาจจะเป็นผู้มีหนี้สินเกินตัวที่จะต้องรีบดำเนินการแก้ไขโดยด่วน ได้แก่ 
1) มีหนี้สินที่ไม่มีหลักประกันมากกว่า 20% ของรายได้ 
2) สามารถชำระหนี้ได้เฉพาะส่วนที่เป็นดอกเบี้ยจากรายได้ประจำในแต่ละเดือนเท่านั้น หรือต้องกู้ยืมเงินจากแหล่งอื่นมาชำระหนี้ หรือต้องชำระหนี้ล่าช้ากว่ากำหนด 
3) ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันด้วยการใช้เงินที่เบิกจากบัตรเครดิต 
4) ไม่ได้รับอนุมัติการขอวงเงินหรือสินเชื่อจากบัตรเครดิต

วิธีการแก้ไขปัญหามีหนี้สินเกินตัว ควรเริ่มด้วยการรวบรวมจำนวนหนี้ไม่มีหลักประกัน และพยายามลดหนี้ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเจรจาขอผ่อนชำระกับเจ้าหนี้อย่างตรงไปตรงมา ในขณะเดียวกัน ก็ชะลอการใช้บัตรเครดิต หรือยกเลิกเสียและพิจารณาตัดรายจ่ายอื่น ที่ไม่จำเป็นลง ซึ่งการดำเนินการข้างต้นจะต้องทำด้วยความอดทนและปฏิบัติตามตารางที่กำหนดอย่างเคร่งครัด หากรายได้จากงานประจำที่ทำอยู่ไม่เพียงพอก็จะต้องหารายได้พิเศษมาใช้หนี้

นอกจากนี้ ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างนิสัยที่จะออม ซึ่งอาจเริ่มโดยการจ่ายหนี้ให้ตัวเอง ซึ่งเป็นการสร้างภาพว่า ยังมีหนี้สินที่จะต้องรับผิดชอบอีก และบังคับมิให้ใช้จ่ายเกินตัวในอนาคต

 

 

7 วิธีใช้จ่ายให้เงินเหลือออม (4)

คอลัมน์ Look Around       ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2545

โดย ธนนันท์

สินเชื่อเพื่อการซื้ออสังหาริมทรัพย์

ลักษณะการก่อหนี้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินที่ดี ต้องประกอบด้วย 
(1) เป็นการใช้จ่ายเพื่อความพึงพอใจของผู้กู้ เพราะคัดเลือกบ้านอย่างดีแล้วและจะเป็นที่อยู่ถาวรต่อไป 
(2) คาดได้ว่าในระยะต่อไปราคาบ้านมีแนวโน้มจะสูงขึ้นมากกว่าราคาที่ซื้อมาเนื่องจากตั้งอยู่ในทำเลดี ตัวอย่างเช่น บ้านในเขตเมืองที่กำลังขยายตัวและผู้อยู่อาศัยในย่านนั้นมีรายได้สูง
(3) ผู้กู้สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ตามกำหนดเวลาเพราะไม่เป็นการใช้จ่ายเงินกินตัว ทั้งนี้ ไม่ว่าราคาบ้านจะมีจำนวนเท่าใดก็ตาม ถ้าผู้กู้สามารถผ่อนชำระหนี้จากรายได้ของตนเองและมีเงินเหลือออม 
(4) ไม่มีความเสี่ยงในการสูญเสียสินทรัพย์จากการถูกบังคับขายในราคาต่ำ

ถ้าท่านมีปัญหาในการเลือกที่อยู่อาศัยเพราะอยากซื้อบ้านใกล้ที่ทำงานแต่ราคาแสนจะแพงจนไม่สามารถหาซื้อได้สักหลังหนึ่ง เท่าที่จะหาซื้อได้ก็เป็นบ้านแถบชานเมืองที่จะต้องขับรถไกลเป็นชั่วโมง ฝ่าการจราจรที่คับคั่ง เพื่อเข้าไปทำงาน หรือติดต่อธุรกิจในเมือง จนทำให้ลังเลใจที่ซื้อบ้านหรือจะเช่าอยู่ ทั้งที่คิดว่าน่าจะซื้อบ้านดีกว่าเช่า ปัญหาดังกล่าวมีทางเลือกในการซื้อบ้าน 3 วิธี ได้แก่ 

(1) ซื้อบ้านในเมืองที่ทำงานอยู่และคิดว่าจะเป็นที่อยู่ถาวร แม้ว่าราคาบ้านจะสูง แต่ภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ ที่เอื้ออำนวยและอัตราดอกเบี้ยต่ำจะทำให้ต้นทุนลดลง ทั้งนี้ ควรมีการใช้จ่ายซื้อบ้าน ต่อเมื่อคาดได้ว่า ในระยะยาวราคาบ้าน จะสูงกว่าต้นทุนการซื้อบ้านในวันนี้

(2) ซื้อบ้านในเมืองที่คิดจะอาศัยอยู่เป็นการถาวร ในกรณีที่ทำงานอยู่เมืองหนึ่งและมีแผนจะโยกย้ายที่อยู่ โดยเฉพาะเมื่อเกษียณอายุแล้ว และเช่าบ้านในเมืองที่ท่านทำงานเพราะในบางกรณีการเช่าดีกว่าการซื้อ เช่น ถ้าค่าเช่าบ้านไม่สูงแต่ราคาบ้านสูง หรือคาดว่าราคาบ้านในเขตที่อาศัยอยู่นั้นจะเพิ่มไม่มาก 

(3) ซื้อบ้านพักตากอากาศเพื่อเป็นสินทรัพย์และได้ใช้ประโยชน์เป็นสถานที่พักผ่อนโดยไม่ต้องไปเช่าอยู่ รวมทั้งอาจเก็บไว้รอขาย เมื่อราคาสูงขึ้น ซึ่งก็คือการสะสมทรัพย์อย่างหนึ่ง ทั้งนี้ มีเงื่อนไขว่า จะต้องเป็นการก่อหนี้ที่ดี ซึ่งได้ประโยชน์หลายประการ อาทิ มีสินทรัพย์ตั้งอยู่ในทำเลดีจึงคาดว่าจะได้รับผลตอบแทนสูงในระยะต่อไปเพราะราคาบ้านสูงขึ้น มีการชำระหนี้ด้วยเงิน ที่มีค่าลดลงซึ่งเป็นการบังคับออม มีสถานที่สำหรับพักผ่อนตามความพึงพอใจโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม และเป็นที่อยู่อาศัยหลังจากเกษียณอายุ

อย่างไรก็ตาม การกู้ยืมจากสถาบันการเงินซื้อบ้านเพื่อเก็บไว้เป็นสินทรัพย์มีความเสี่ยงจากการที่ราคาบ้านมิได้เป็นไปตามคาด ถ้าราคาบ้านสูงกว่าจำนวนเงินที่ผ่อนชำระ (เงินต้นรวมดอกเบี้ย) ก็เป็นการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทน แต่ถ้าราคาบ้านลดลงก็เป็นการสูญเสีย เนื่องจากปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะเกิดปัจจัยเสี่ยงหลายประการ อาทิ ความผันผวนในระบบการเงิน สภาพแวดล้อมของที่อยู่อาศัยเปลี่ยน แปลงไป ฯลฯ ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่เตกต่างจากในสองทศวรรษที่ผ่านมา (1970-1980) ที่เมื่อซื้อบ้านก็แน่ใจได้ว่าราคาจะเพิ่มขึ้นเสมอ เพราะเงินเฟ้อในอดีตค่อนข้างสูง แม้ว่าในช่วงเวลาดัง กล่าวอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงถึง 11-12% แต่ยังต่ำกว่าราคาบ้านที่เพิ่มขึ้นถึงปีละไม่ต่ำกว่า 20-30% สินเชื่อที่อยู่อาศัยทำให้ต้องใช้จ่ายเงินซื้อบ้านสูงกว่าราคาบ้านและที่ดินหลายเท่าตัว

ตัวอย่างเช่น ซื้อบ้านพร้อมที่ดินราคา 600,000 บาท จ่ายเงินดาวน์ร้อยละ 20 เป็นจำนวน 120,000 บาท ที่เหลือกู้ยืมจากธนาคาร โดยมีกำหนดผ่อนชำระกับธนาคารเป็นรายเดือน เดือนละ 4,500 บาท เป็นเวลา 15 ปี รวมเป็นเงินที่ชำระค่าบ้านทั้งสิ้น 810,000 บาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการชำระดอกเบี้ยเพราะกู้เงินมาเพียง 480,000 บาท หากจ่ายเพิ่มอีกเพียง 390,000 บาทจะนำไปซื้อบ้านราคา 600,000 บาทได้ถึงสองหลังทีเดียว นอกจากนี้ สิ่งสำคัญประการหนึ่ง ที่ทางสถาบันการเงินมิได้แจ้งให้ลูกค้าทราบ เกี่ยวกับการผ่อนชำระสินเชื่อ เพื่อการซื้อที่อยู่อาศัยก็คือ หากชำระเงินต้นในจำนวนที่เพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย จะสามารถประหยัดดอกเบี้ยจ่าย ได้หลายพันบาททีเดียว อนึ่ง หากมีการกู้ยืมเงินเมื่อหลายปีก่อนที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าในขณะนี้ ท่านสามารถจะลดภาระดอกเบี้ยจ่ายได้มาก ด้วยการทำรีไฟแนนซ์กับสถาบันการเงินเสียใหม่

สินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อรถยนต์

การเช่าซื้อรถยนต์เป็นสินเชื่อเพื่อการอุปโภค บริโภคประเภทหนึ่งที่นิยมใช้กันแพร่หลาย เพราะทุกวันนี้รถยนต์ กลายเป็นปัจจัยที่ห้าในการดำรงชีวิตของคนกรุงเทพฯไปแล้ว ดังจะเห็นได้จากจำนวนรถยนต์บนท้องถนนเพิ่มขึ้นทุกปี แม้ว่าราคาน้ำมันจะสูงขึ้นมากก็ตาม ส่งผลให้ธุรกิจเช่าซื้อขยายตัวตามไปด้วย ถ้ามีการก่อหนี้เพื่อซื้อรถยนต์ ควรคิดให้รอบคอบ ทั้งประเภทของรถยนต์ ค่าเสื่อมราคา วิธีการก่อหนี้และหลักประกันในการขอสินเชื่อเนื่องจาก 

(1) รถยนต์มีราคาสูงจึงต้องผ่อนชำระหนี้เป็นเวลานาน และเมื่อรวมการชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจ่ายแล้วจะมีจำนวนใกลัเคียงกับการซื้อรถยนต์ถึงสองคันทีเดียว

(2) รถยนต์เป็นสินทรัพย์ที่เสื่อมค่าเร็ว เมื่อซื้อมาใช้งานเพียงเล็กน้อย ราคารถยนต์ก็ลดลงไปมากแล้ว ทำให้ขายต่อได้ราคาต่ำกว่าที่ซื้อมามาก 

(3) วิธีซื้อรถที่ถูกที่สุดคือการซื้อด้วยเงินสด แต่ถ้าตัดสินใจซื้อรถและต้องใช้สินเชื่อจากบริษัทเงินทุน เพราะมีเงินเพียงจำนวน ที่จะจ่ายค่าดาวน์รถเท่า นั้น ท่านควรที่จะชำระเงินดาวน์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเลือกวิธีชำระหนี้ที่มีระยะเวลาสั้นที่สุด เพื่อประหยัดดอกเบี้ยจ่าย การกู้ยืมเงินเพื่อซื้อรถจากบริษัทเงินทุนนี้จะเป็นการเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งหมายถึงช่วงที่ผ่อนชำระหนี้ กรรมสิทธิ์รถยนต์ยังเป็นของบริษัท ผู้เช่าซื้อจะเป็นเพียงผู้ครอบครองรถยนต์เท่านั้น และเมื่อทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไปแล้วหากผู้เช่าซื้อต้องการลดภาระดอกเบี้ยโดยจะชำระเงินคืนหนี้บางส่วนก็ไม่สามารถกระทำได้ อีกทั้งหากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนเวลาการผ่อนชำระ เช่น ขาดส่งค่างวดเป็นเวลาสองเดือนติดต่อกันก็อาจทำให้ถูกยึดรถได้

(4) หากมีการก่อหนี้เพื่อซื้อรถยนต์โดยใช้บ้าน เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันจะเป็นการก่อหนี้ที่มีความเสี่ยงมาก เสมือนการใช้จ่ายเงินในส่วนที่เป็นเงินออมเพื่อการดำรงชีวิตของท่านไปกับการซื้อรถยนต์ที่มีค่าลดลงทุกวัน เพราะถ้าไม่มีรายได้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เช่น เจ็บป่วย ออกจากงาน ฯลฯ จนเป็นเหตุให้ผิดนัดการชำระหนี้มีความเสี่ยงที่จะถูกยึดสินทรัพย์ที่ค้ำประกันทำให้สูญเสียบ้านได้

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับราคารถยนต์ก็คือ ในเวลาซื้อต้องซื้อในราคาขายปลีกแต่เมื่อต้องการขายต้องขายในราคาขายส่ง การจัดหาและการใช้รถยนต์จึงทำให้เงินออมหมดไปอย่างรวดเร็ว เพราะรถยนต์ใหม่หนึ่งคัน มีราคาเท่ากับ หรืออาจจะสูงกว่าทาวน์เฮาส์แถบชานเมือง รายจ่ายเกี่ยวกับรถยนต์นี้ สำหรับหลายคนมีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 2 รองจากรายจ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยทีเดียว มูลเหตุที่จูงใจให้ต้องตัดสินใจกู้ยืมเงินซื้อรถยนต์ ได้แก่

(1) รถยนต์มีราคาสูงทั้งที่มีการผลิตจำนวนมากน่าจะทำให้ราคาลดลง แต่การที่ผู้ผลิตมักจะผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ๆ โดยการเพิ่มเทคโนโลยี ใหม่ๆ เข้าไปให้มีความทันสมัยสะดวกสบายในการใช้งานและขายในราคาที่สูงขึ้น 

(2) เทคนิคการ ขายรถยนต์ที่โฆษณาเกี่ยวกับการเพิ่มสมรรถนะ ทำให้ผู้บริโภคเกิดความต้องการรถยนต์ ที่มีราคาสูงกว่ากำลังซื้อของตนจึงต้องมีการกู้ยืมเงิน 

(3) การแข่งขันที่รุนแรงของตลาดรถยนต์ทำให้ผู้ผลิตส่งเสริมการขายโดยเพิ่มประโยชน์ให้ผู้ซื้อเพื่อ เช่น ผ่อนชำระโดยไม่มีดอกเบี้ยเป็นเวลา 1-2 ปี 

(4) อัตราดอกเบี้ยการเช่าซื้อที่ลดลงตามภาวะตลาดทำให้ต้นทุนการเช่าซื้อลดลง

อย่างไรก็ตาม การเช่าซื้อรถยนต์จะต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย อีกทั้งไม่สามารนำไปลดหย่อนภาษีได้ และยังต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ขายผลักภาระมาให้ เมื่อซื้อรถยนต์มาใช้งานแล้วจะมีรายจ่ายต่างๆ ตามมาอีกหลายรายการ อาทิ ค่าบำรุงรักษา ค่าน้ำมัน ภาษี อีกทั้งการที่รถยนต์มีอายุใช้งานจำกัด ดังนั้น ผู้ใช้รถจึงต้องเตรียมการจัดหารถใหม่มาทดแทนเมื่อหมดอายุการใช้งาน เพราะการซ่อมแซมบำรุงรักษาทำได้ในชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น

ข้อคิดเกี่ยวกับการประหยัดรายจ่ายในการใช้รถยนต์ ได้แก่

1. ซื้อรถยนต์มือสองที่มีสภาพดีแทนการซื้อรถใหม่ ซึ่งจะทำให้ท่านได้รับประโยชน์หลายประการ เช่น 

(1.1) สามารถใช้รถที่หรูหราได้ด้วยเงินเท่าที่มีไม่ต้องไปกู้ยืม 
(1.2) ได้ซื้อรถยนต์ที่มีความปลอดภัยและมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป 
(1.3) ลดต้นทุนการขับขี่ต่อไมล์ลง 
(1.4) ไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 
(1.5) ไม่เกิดปัญหาราคารถลดลงดังเช่นที่เกิดกับการซื้อรถใหม่ 
(1.6) อัตราเบี้ยประกันภัยต่ำกว่ารถใหม่ 
(1.7) ลดความเสี่ยงภัยจากการถูกโจรกรรม 
(1.8) ลดต้นทุนเงินลง แต่อย่างไรก็ตาม หากตัดสินใจจะซื้อรถมือสองต้องแน่ใจว่ารู้ประวัติเกี่ยวกับรถดี และหลีกเลี่ยงการซื้อรถยนต์ที่เคยเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนี้อย่าซื้อรถในเวลากลางคืนหรือขณะที่ฝนตก

2. การซื้อรถยนต์ที่ถูกที่สุดก็คือ การซื้อด้วยเงินสดหากมีเงินเพียงพอที่จะใช้จ่ายซื้อรถ เพราะเปรียบเสมือนการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนสูง แต่ถ้ามีเงินเพียงพอเฉพาะการดาวน์รถยนต์ ก็ให้ชำระเงินดาวน์ให้มาก เท่าที่ความสามารถของท่านจะทำได้ และผ่อนชำระหนี้ ในเวลาที่สั้นที่สุด เช่น 1, 2, 3 ปีแต่อย่าให้เกิน 3 ปี เนื่องจากถ้าระยะเวลาผ่อนยาว จะต้องชำระดอกเบี้ยมากขึ้น เช่น 48 งวดหรือ 60 งวด นอกจากนี้อย่าขาย หรือเปลี่ยนรถขณะที่ยังผ่อนชำระอยู่เพราะจะสูญเสียเงินมาก

3 เตรียมการเพื่อเปลี่ยนรถยนต์ใหม่เมื่อหมดอายุการใช้งาน โดยเริ่มแผนออมเงินระยะยาวในการซื้อรถคันใหม่ อาทิ เปิดบัญชีออมทรัพย์ไว้ และฝากเงินทุกเดือนเช่นเดียวกับการผ่อนรถ ซึ่งหากทำได้อย่างสม่ำเสมอ จะมีเงินเพียงพอดาวน์รถคันใหม่ ทันเวลาที่จะใช้ทดแทนรถคันเก่า ที่เสื่อมสภาพไป

 

 

7 วิธีใช้จ่าย ให้เงินเหลือออม (5)

คอลัมน์ Look Around ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2546  โดย ธนนันท์

การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต

การประกอบธุรกิจบัตรเครดิตเป็นการให้สินเชื่อเพื่อการอุปโภคและบริโภค ประเภทหนึ่งที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว สินเชื่อประเภทนี้มักจะมีจำนวนเงินกู้ไม่มากนัก แต่มีอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับสูงหากผู้กู้กระทำผิดเงื่อนไขการกู้ยืม ปัจจุบันจำนวนบริษัทบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นมาก เพราะเป็นธุรกิจที่ทำกำไรมากกว่าการให้สินเชื่อประเภทอื่น และผลจากการแข่งขันทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากการขยายฐานลูกค้า โดยทางบริษัทส่งเสริมให้มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตด้วยการให้สิ่งจูงใจต่างๆ

หากท่านเป็นผู้มีรายได้ประจำ และมีอัตราเงินเดือนในระดับปานกลางถึงค่อนข้างสูงมักจะตกเป็นเป้าหมายของธุรกิจที่จะนำเสนอเงื่อนไขพิเศษเพื่อจูงใจให้มีการใช้สินเชื่อ เพราะเป็นผู้ที่มีเครดิตดี จึงเป็นสินเชื่อที่สามารถเข้าถึงแหล่งได้ง่าย และมีผลต่อเนื่องถึงผู้บริโภคทำให้มีการใช้จ่ายเพิ่ม การใช้จ่ายผ่านบัตรก็สะดวก นอกจากนี้ การก่อหนี้มักไม่ต้องใช้หลักประกัน มีระยะเวลาผ่อนชำระได้นาน

อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตโดยไม่ต้องจ่ายเงินสดจากกระเป๋าของท่าน อาจทำให้ใช้จ่ายโดยไม่ระมัดระวัง และหากไม่สามารถชำระคืนหนี้ตามกำหนดเวลา จะต้องเสียเบี้ยปรับในอัตราที่สูงมากจนทำให้เกิดหนี้สินจากการใช้จ่ายเกินตัวได้

การก่อหนี้จากการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตจะเป็นหนี้ที่ดีหากชำระเงินให้แก่ผู้ออกบัตรได้ตามเวลาที่ทางบริษัทกำหนด เพราะไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือดอกเบี้ยใดๆ ผู้ถือบัตรเครดิตได้รับประโยชน์จากการไม่ต้องพกพาเงินจำนวนมากเพื่อการใช้จ่าย เพราะเมื่อตกลงใจจะซื้อสินค้าก็ไม่ต้องใช้เงินสดและได้สินเชื่อช่วงระยะเวลาหนึ่งจากการที่บริษัทบัตรเครดิตชำระบัญชี และเรียกเก็บเงินจากท่านเพียงเดือนละครั้ง ซึ่งบางบริษัทมีระยะเวลาให้สินเชื่อนานถึง 50 วัน

นอกจากนี้ยังได้ประโยชน์อื่นๆ ด้วย อาทิ การซื้อตั๋วโดยสารเครื่องบินด้วยบัตรเครดิตจะได้รับการประกันชีวิตระหว่างเดินทาง ใช้บัตรเครดิตเบิกเงินสดจากเครื่องเอทีเอ็มได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากบริษัทบัตรเครดิตแต่ละแห่งมีข้อเสนอทางด้านเงื่อนไขการถือบัตรแก่ลูกค้าแตกต่างกัน อาทิ อัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมการสมัครสมาชิกและการต่ออายุสมาชิก ระยะเวลาการให้เครดิต

ดังนั้น การเลือกใช้บัตรเครดิตให้เกิดประโยชน์สูงสุดและประหยัดรายจ่ายจึงควรนำมาร่วมพิจารณาด้วย ตัวอย่างเช่น หากใช้จ่ายบัตรเครดิตโดยมีการชำระเงินตามกำหนดเวลาการเลือกบัตรเครดิตที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงแต่ได้ประโยชน์อื่นๆ มากกว่าก็ไม่มีผลกระทบต่อท่าน แต่หากมีการผิดนัดชำระหนี้บ่อยครั้ง บัตรเครดิตที่ต้องเสียดอกเบี้ยถึง 18-21% หรือสูงกว่าอาจทำให้ท่านมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยมากจนมีหนี้สินเพิ่มเป็นเท่าตัวภายในเวลาไม่ถึง 4 ปีได้ (ถ้าอัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิต เท่ากับ 18% ใช้กฎเลข 72 หาจำนวนปีได้เท่ากับ 4 ปี) สำหรับผู้ใช้บัตรที่มีการชำระเงินไม่แน่นอนในแต่ละเดือนก็ควรมีบัตรเครดิตสองใบเพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน โดยในเดือนที่จะมียอดค้างชำระก็ให้ใช้บัตรที่มีดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น

แผนการออม

หลังจากการจัดทำแผนการบริหารรายจ่ายประจำวันและภาระหนี้แล้ว เงินได้ส่วนที่เหลือก็คือเงินที่จะสะสมไว้ใช้จ่ายในอนาคต ทำให้เงินออมเปรียบเสมือนกระจกเงาของการกู้ยืมและภาระหนี้ ซึ่งแทนที่จะจ่ายในวันนี้ก็มีการเลื่อนระยะเวลาใช้จ่ายเป็นวันข้างหน้า และอาจกล่าวได้ว่าการออมที่แท้จริงคือการลงทุนที่จะทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มมิใช่การใช้สิ่งนั้นไป เช่น การลงทุนการศึกษาของบุตรเป็นการเพิ่มความสามารถในการหารายได้ให้แก่บุตรของท่านในระยะต่อไป

สังคมไทยอยู่ในยุคของการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจมากที่สุด และในธนาคารก็เต็มไปด้วยหนี้เสีย ส่งผลให้ความมั่นคงจากการทำงานเปลี่ยนไป แม้ว่าจะมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติประกันสังคม แต่ก็ให้ความคุ้มครองเฉพาะแรงงานที่ทำงานเท่านั้น มิได้ครอบคลุมถึงวัยหลังเกษียณอายุ ปัจจุบันผู้อยู่ในวัยกลางคนส่วนใหญ่ที่มีรายได้ประจำและมิได้มีมรดกจากครอบครัวสามารถสร้างหลักฐานให้กับครอบครัวได้ เพียงแค่มีบ้านและรถยนต์ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยและเดินทาง ซึ่งบางคนยังติดจำนองอยู่ด้วยซ้ำ นอกจากนี้ ก็มักจะยังคงมีภาระหนี้อยู่ทำให้หลายคนมีชีวิตอยู่อย่างเสี่ยงที่จะไม่มีที่อยู่อาศัย เพราะหากกำลังผ่อนส่งบ้านอยู่และขาดส่งเพียงไม่กี่เดือนก็จะถูกยึดบ้านได้ ความมั่นคงในการทำงานที่ลดลงทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดความเสี่ยงจากเหตุสุดวิสัยมากขึ้น เช่น เจ็บป่วย ต้องออกจากงาน ถูกลดเงินเดือน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องป้องกันด้วยการออมเงินสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายประจำวันอย่างน้อย 3 เดือนหรือมีเงินฝากในธนาคารอย่างน้อย เป็นจำนวน 3 เท่าของรายจ่ายประจำเดือน

ควรเริ่มต้นออมอย่างไร

คนส่วนใหญ่เมื่อพูดถึงเรื่องการออมมักจะให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ด้วยเหตุผลว่า 'จะออมได้อย่างไรแค่ใช้จ่ายก็ไม่มีเงินเพียงพอแล้ว' แต่ขอให้ลองพิจารณาเครื่องมือที่จะช่วยให้ท่านออมได้ 3 ประการดังต่อไปนี้

1. ทัศนคติ ขั้นตอนแรกของการสร้างแผนการออมคือมีความคิดที่จะพึ่งพาตนเองเและตระหนักถึงคุณค่าของตนเอง ซึ่งจะทำให้ชีวิตของท่านเปลี่ยนแปลงไปมาก และจะประสบผลสำเร็จตามแผนการออมนี้ มิเช่นนั้นท่านจะต้องวิ่งหาสิ่งที่ต้องการตลอดไป

2. นิสัย การสร้างนิสัยที่จะออมสำคัญกว่าจำนวนเงินที่จะออม เช่น หากตั้งเป้าหมายที่จะออมเงินให้ได้ 100,000 บาท อาจเริ่มจากการออมทีละเล็กละน้อยไม่จำเป็นต้องมีการออมครั้งละมากๆ เพื่อสร้างนิสัยที่จะออม เช่น เก็บเงินแยกใส่ซองไว้วันละ 20 บาทบ้าง 50 บาทหรือตามแต่โอกาส ปัญหาสำคัญของคนส่วนใหญ่อยู่ที่ไม่คิดจะออม

3. จุดมุ่งหมายในการออม เมื่อจะออมต้องมีจุดมุ่งหมายว่าออมเงินไว้เพื่ออะไร มิเช่นนั้นจะไม่มีสิ่งจูงใจให้ออม เช่น เพื่อซื้อรถยนต์คันใหม่ ฯลฯ นอกจากนี้ควรจัดลำดับความสำคัญของวัตถุ ประสงค์ในการออมไว้ด้วย

 

 

7 วิธีใช้จ่าย ให้เงินเหลือออม (6)

คอลัมน์ Look Around  โดย ธนนันท์   ประชาชาติธุรกิจ    วันที่ 9 มกราคม 2545  ออมเพื่ออะไร

ออมเพื่อการศึกษาของบุตร

การศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นสมบัติล้ำค่าที่ท่านสามารถมอบให้แก่บุตรของท่านได้ รายจ่ายส่วนนี้จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อบุตรของท่านเติบโตและเรียนในระดับที่สูงขึ้นไป จึงต้อง ออมไว้เป็นจำนวนมาก มิเช่นนั้นจะไม่เพียงพอจนอาจจะต้องกู้ยืมมาใช้จ่าย และทำให้ท่านไม่เหลือเงินออมไว้ใช้จ่ายในวัยหลังเกษียณอายุ

หากเริ่มออมตั้งแต่บุตรของท่านเกิดแม้เพียงวันละ 1 บาท เมื่อบุตรของท่านมีอายุครบ 20 ปีจะมีเงินออมถึง 7,300 บาท (365x20) และหากลงทุนโดยได้รับดอกเบี้ยทบต้นในอัตรา 8.0% ต่อปี จะเพิ่มเป็น 17,361 บาท (คำนวณจากการออมเดือนละ 30 บาทเป็นเวลา 20 ปีจะได้ผลตอบ แทนดอกเบี้ยทบต้น) และเมื่อรวมกับเงินรางวัลที่ได้รับจากญาติที่เก็บไว้ไม่ใช้จ่ายก็จะมีจำนวนมากกว่านี้ ดังนั้น ถ้ามีแผนที่จะออมเป็นนิสัยแม้จะเป็นเพียงจำนวนเล็กน้อยแต่ออมอย่างสม่ำเสมอ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ท่านจะแปลกใจที่เดียวที่มีเงินเก็บส่วนหนึ่งของจำนวนที่ต้องการใช้จ่ายและเมื่อรวมกับ ผลตอบแทนจากการนำไปลงทุน ด้วยกลยุทธ์ที่จะมีการพิจารณาในบทต่อไปจะทำให้ได้จำนวนเงินตามต้องการ

                      &



หน้า 1/1
1
[Go to top]