ReadyPlanet.com
dot
คลังข้อมูลนักบัญชี
dot
bulletมุมบัญชี
bulletสภาวิชาชีพบัญชี
bulletกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
bulletธนาคารแห่งประเทศไทย
dot
ภาษี (Tax)
dot
bulletกรมสรรพากร
bulletสถานที่ตั้ง/เบอร์โทร สรรพากร
bulletประมวลรัษฎากร
bulletหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย
bulletDownload File บัญชี - ภาษี
dot
รวม Link เอนกประสงค์
dot
bulletอัตราแลกเปลี่ยนธนาคารต่างๆ
bulletอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์
bulletธนาคารพาณิชย์ต่างๆ
bulletหน่วยบริการภาษีใน กทม.
bulletตรวจผลสลากกินแบ่งรัฐบาล
bulletพจนานุกรมไทย
bulletDictionary อังกฤษ > ไทย
bulletเบอร์โทรศัพท์ - พกไว้คู่กาย
bulletรวมเบอร์โทรเรียก แท็กซี่
bulletชมคลิปวีดีโอ เมืองไทยในอดีต
dot
ค้นหาบทความในเว็บไซต์

dot
dot
บริการของเรา (Service)
dot


รับทำบัญชี



เบี้ยปรับภาษี

 

                                                                                                       เบี้ยปรับภาษี

                          

 

     ลำพังการผิดนัดเสียภาษีของผู้เสียภาษี ดูว่าเป็นเรื่องเล็ก แต่ในความเป็นจริงการผิดนัดไม่ยื่นแบบเสียภาษีภายในกำหนดเวลาก็ถือเป็นความผิดทางอาญาด้วย หากจะเปรียบไป การบริหารงานภาครัฐทุกวันนี้ เสมือนครอบครัวใหญ่ที่หาเช้ากินค่ำ เพราะแต่ละวันแต่ละเดือนหารายได้ได้เท่าใด ก็นำไปหมุนเวียนใช้จ่ายไปเรื่อยๆ ไม่ได้มีเงินมากองไว้ในกระเป๋าเพื่อให้ใช้ตลอดปีเหมือนชีวิตของปุถุชนที่พอจะมี ยามใดที่เก็บภาษีในเดือนไม่พอกับรายจ่าย รัฐก็ต้องกู้หนี้ยืมสินหมุนมาจ่ายเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไป ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตครั้งแล้วครั้งเล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่เกิดปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจเงินภาษีอากรที่เก็บในเดือนไม่เข้าเป้า ประชาชนจ่ายภาษีไม่เป็นไปตามนัดก็จะเกิดผลกระทบต่อการบริหารงานบ้านเมืองอย่างเห็นได้ชัด

     ฉะนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องกำหนดสภาพบังคับให้มีการจ่ายภาษีให้ทันภายในกำหนดเวลาเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดตามมาอีกมากมาย ประกอบด้วยบทลงโทษผู้ที่เสียภาษีไม่ถูกต้องหรือไม่จ่ายภาษีตามเวลา โดยกำหนดเป็นความผิดที่มีบทลงโทษทั้งทางอาญาทำให้ผู้กระทำผิดต้องเสียอิสรภาพโดยถูกศาลสั่งจำคุกแล้ว ยังจะต้องมีความรับผิดในทางแพ่ง โดยต้องเสียค่าปรับต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่งด้วย ลำพังการผิดนัดเสียภาษีของผู้เสียภาษี ดูว่าเป็นเรื่องเล็ก แต่ในความเป็นจริงการผิดนัดไม่ยื่นแบบเสียภาษีภายในกำหนดเวลาก็ถือเป็นความผิดทางอาญาด้วย แต่ความผิดในลักษณะนี้มีผู้กระทำผิดจำนวนมาก และบางคนไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าตนมีหน้าที่ต้องเสียภาษี หากจะส่งฟ้องศาลเพื่อสั่งลงโทษทั้งหมด ก็คงจะไม่มีพื้นที่เรือนจำเพื่อรองรับนักโทษอย่างเพียงพอ ทำนองเดียวกับผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ทำผิดกฎจราจรกันทุกเวลา เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องนี้ กฎหมายได้ให้อำนาจฝ่ายบริหารเช่นเดียวกับเจ้าพนักงานจราจรให้ทำการกำหนดค่าเปรียบเทียบปรับแทนการส่งดำเนินคดีก็ได้ โดยเฉพาะความผิดลหุโทษเล็กน้อย เมื่อผู้เสียภาษีที่กระทำผิดได้จ่ายค่าเปรียบเทียบปรับหรือเรียกย่อๆ ว่า "ค่าปรับ" ให้แก่เจ้าพนักงานเรียบร้อยแล้ว คดีอาญาก็เป็นอันยุติ ทำให้คดีความไม่ต้องขึ้นสู่ศาลมากจนเกินไป และจะเข้าไปพิจารณาเฉพาะคดีหลีกเลี่ยงภาษีอากรที่สำคัญเท่านั้น แต่สำหรับโทษทางแพ่งกำหนดให้ผู้เสียภาษีจะต้องเสียเงินเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากเงินภาษีที่จะต้องเสีย

      ภาษาเรียกตามกฎหมายภาษีอากรส่วนใหญ่มีอยู่ 2 คำคือ "เบี้ยปรับ" และ "เงินเพิ่ม" โทษทั้ง 2 กรณีนี้ แม้ว่าจะมีคำว่า "ปรับ" อยู่ด้วย คล้ายๆ กับคำว่า "ค่าปรับ" แต่โดยเนื้อหาและหลักการเป็นคนละเรื่องเดียวกัน โดยเนื้อหาแล้ว "เบี้ยปรับ" เป็นบทลงโทษผู้กระทำผิดทางภาษี เนื่องจากผู้เสียภาษีทำให้รัฐขาดประโยชน์ไม่ได้เงินภาษีอากรตามที่ควรจะได้ภายในกำหนดเวลาจึงกำหนดให้เสียภาษีเพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่ง มากน้อยแตกต่างกันแล้วแต่ความรุนแรงของการจ่ายเงินภาษีที่ไม่ถูกต้อง หากมีผลกระทบและเกิดความเสียหายก็อาจต้องเสียเบี้ยปรับถึง 2 เท่าของเงินภาษีที่จะต้องเสียตามปกติ เช่น ออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออก หรือขายใบกำกับภาษี (ปลอม) หรือหลีกเลี่ยงยอดขายโดยไม่เปิดใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีเมื่อขายสินค้าหรือให้บริการเพื่อเอาเปรียบรัฐบาล หรือมีการทำบัญชี 2 ชุด เพื่อหลบเลี่ยงการเสียภาษีให้แก่รัฐบาล ฯลฯ เป็นต้น หากเป็นความผิดที่ไม่รุนแรงหรือเกิดความผิดพลาด โดยไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีก็อาจเสียเบี้ยปรับเพียง 1 เท่าของเงินภาษี เช่น หักค่าลดหย่อนในการคำนวณ ภ.ง.ด.91 หรือ 90 ผิดพลาด หรือยื่นแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลตามแบบ ภ.ง.ด.50 โดยนำรายจ่ายต้องห้ามไปหักเป็นเหตุให้กำไรสุทธิต่ำไป ฯลฯ เป็นต้น "เบี้ยปรับ" ที่ผู้เสียภาษีจะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่ภาครัฐ

      ขณะเดียวกันก็เป็นการป้องปรามมิให้ผู้เสียภาษีกระทำผิด แตกต่างไปจากโทษทางแพ่งอีกลักษณะหนึ่งที่เรียกว่า "เงินเพิ่ม" เนื่องจากเป็นบทลงโทษที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเร่งรัดให้ผู้เสียภาษียังไม่ถูกต้องครบถ้วน เร่งดำเนินการจ่ายภาษีให้ถูกต้องโดยเร็วด้วยการเพิ่มภาระเป็นค่าดอกเบี้ยอีกส่วนหนึ่ง ปกติจะคิดกันในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ชำระไว้ไม่ถูกต้องหรือขาดหายไป และจะเดินไปเรื่อยๆ จนกว่าผู้เสียภาษีจะนำเงินมาจ่ายภาษีครบถ้วน แต่จะไม่เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องเสียโดยไม่รวมเบี้ยปรับ คิดแล้วหากจ่ายภาษีล่าช้าไปหลายปี แต่เมื่อรวมกับเบี้ยปรับ 2 เท่า บวกกับเงินเพิ่มอีก 1 เท่า รวมกันเบ็ดเสร็จต้องจ่ายเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่า นับเป็นภาระที่หนักหนาสาหัสเลยทีเดียว การคิด "เบี้ยปรับ" ของกฎหมายภาษีอากรแต่ละประเภท จะมีความแตกต่างกัน เช่น กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล หากผู้เสียภาษีเงินได้ที่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบเสียภาษี แต่มิได้ยื่นแบบไว้ภายในกำหนดเวลา หรือยื่นไว้แล้วแต่ยังไม่ถูกต้องเนื่องจากยังขาดรายได้อีกบางจำนวนที่มิได้แสดงไว้ในแบบ หากได้ยื่นแบบในภายหลังด้วยความสมัครใจของตนเองโดยที่ยังมิได้รับการเตือนโดยเจ้าพนักงาน แสดงว่าเป็นการเสียภาษีด้วยความสมัครใจของตนเองอย่างแท้จริง เมื่อรู้ว่าตัวเองปฏิบัติไว้ไม่ถูกต้องและมีความตั้งใจจะทำให้ถูก ผู้เสียภาษีรายนี้ไม่มีหน้าที่ต้องเสียเบี้ยปรับตามกฎหมาย ถือเป็นข้อดีอย่างหนึ่ง เพื่อส่งเสริมให้ผู้กระทำความผิดเกิดความสมัครใจพร้อมที่จะปฏิบัติตนให้ถูกต้องได้อยู่ตลอดเวลา

      แตกต่างไปจากกรณีที่ถูกเจ้าพนักงานตรวจสอบพบว่า ผู้เสียภาษีมีรายได้มากกว่าที่ยื่นแบบไว้ หรือยื่นแบบแสดงรายได้ต่ำกว่าที่เป็นจริง แสดงว่าผู้เสียภาษีมิได้เสียภาษีโดยความสมัครใจอย่างแท้จริง ยังมีการซ่อนเร้นรายได้ในลักษณะหลีกเลี่ยงการเสียภาษี การตรวจพบลักษณะนี้ หากมีภาษีที่ต้องเสียเพิ่มขึ้น เจ้าพนักงานก็จะกำหนดให้เสียค่า "เบี้ยปรับ" เพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง แล้วแต่ว่า ได้ยื่นแบบไว้แล้วหรือไม่ ถ้ายื่นไว้แล้วแต่ยื่นไม่ครบ ถือว่ามาแค่ขาเดียวไม่ครบ 2 ขา ก็คิดเบี้ยปรับ 1 เท่า ของภาษีที่เสียไว้ไม่ครบ แต่ถ้าไม่มาเลยแม้แต่ขาเดียว ขาด 2 ขา ก็จะเรียกเก็บเบี้ยปรับ 2 เท่า ของภาษีที่ไม่ได้เสียไว้เลยแล้วแต่กรณี

     นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบภาษีเงินได้อีกกลุ่มหนึ่ง คือ ผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วเป็นผู้ที่กรมสรรพากรได้ฝากงานให้ทำโดยไม่ได้จ้าง การที่กำหนดให้ผู้หักภาษี ณ ที่จ่ายต้องเสียเบี้ยปรับด้วย ดูเหมือนจะไม่เป็นธรรม เพราะเนื้อไม่ได้กินหนังไม่ได้รองนั่ง ยังจะต้องเอากระดูกมาแขวนคออีก ด้วยเหตุนี้ผู้ทำหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายที่หักและนำส่งภาษีไม่ถูกต้องจึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียเบี้ยปรับดังเช่นผู้เสียภาษี หากนำส่งภาษีไม่ตรงตามกำหนดเวลาก็ต้องเสียดอกเบี้ยล่าช้าหรือ "เงินเพิ่ม" อยู่ตามปกติ ในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ จะมีแนวการคิด "เบี้ยปรับ" ที่แตกต่างกันออกไป เพราะเป็นภาษีที่เรียกเก็บเป็นรายเดือน อายุความติดตามจัดเก็บภาษีมีอยู่อย่างจำกัดความเสี่ยงในการติดตามค่อนข้างสูง ฉะนั้น อัตราบทลงโทษสำหรับผู้เสียภาษีที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องจึงต้องรัดกุมและไม่ยืดหยุ่นมากนัก ไม่ว่าความผิดพลาดคลาดเคลื่อนจะเกิดจากเจ้าพนักงานตรวจสอบพบ หรือผู้เสียภาษีเกิดความสมัครใจมายื่นแบบปรับปรุงเพิ่มเติมเองก็ตาม ผู้เสียภาษีก็มีหน้าที่ต้องเสียเบี้ยปรับด้วยกันทั้งสิ้น เช่น ยื่นแบบ ภ.พ.30 เกินกำหนดเวลา หรือออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออก หรือนำใบกำกับภาษีที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมายนำไปใช้ในการคำนวณภาษี ผู้เสียภาษีมีความรับผิดต้องเสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของภาษีที่มิได้เสียไว้หรือตามจำนวนภาษีที่ปรากฏในใบกำกับภาษีปลอม ฯลฯ เป็นต้น

     หากเป็นความผิดในลักษณะอื่น เช่น ยื่นแบบ ภ.พ.30 ไม่ถูกต้อง มีจำนวนภาษีขาย หรือภาษีซื้อผิดพลาดคลาดเคลื่อน ต้องเสียเบี้ยปรับ 1 เท่า ของภาษีขายที่แสดงไว้ขาด หรือภาษีซื้อที่แสดงไว้เกิน ฯลฯ เป็นต้น การคิด "เบี้ยปรับ" ในอัตรา 1 เท่า หรือ 2 เท่าของภาษีอากรใดๆ ที่ชำระขาดแล้วแต่กรณีเป็นบทลงโทษที่ค่อนข้างรุนแรง หากเกิดจากเหตุผลที่ผู้เสียภาษีมีเจตนาหลีกเลี่ยงหลบหนีภาษีอย่างชัดเจน เช่น ออกใบกำกับภาษีอากรปลอม เพื่อนำไปขายให้แก่คนอื่น หรือผู้ที่นำใบกำกับภาษีที่ไม่ได้มีการซื้อสินค้ากันจริงไปใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับที่คิดในอัตรา 2 เท่า ก็น่าจะสมเหตุสมผล แต่สำหรับผู้เสียภาษีรายที่กระทำความผิดโดยไม่เจตนา อาจจะเกิดจากความรู้ไม่ถึงการณ์ถึงไม่เข้าใจในข้อกฎหมาย โทษดังกล่าวก็ดูเหมือนรุนแรงเกินไป ในทางปฏิบัติกฎหมายก็ได้เปิดทางให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานสามารถพิจารณาผ่อนผันการเรียกเก็บเบี้ยปรับให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายที่กระทำความผิดโดยไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี ได้แก่ การยื่นแบบเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะเกินกำหนดเวลามีโทษต้องเสียเบี้ยปรับถึง 2 เท่าของภาษีที่ชำระเกินกำหนดเวลา ซึ่งปัจจุบันเจ้าพนักงานมีอำนาจพิจารณาลดเบี้ยปรับให้แก่ผู้ยื่นแบบล่าช้า หากเกินเลยเวลาไปไม่กี่วัน ก็ผ่อนผันการเรียกเก็บเบี้ยปรับให้มาก แต่เนิ่นนานไปเบี้ยปรับก็จะลดให้น้อยลงตามลำดับ

      ตัวอย่างเช่น ยื่นแบบ ภ.พ.30 หลังพ้นกำหนดเวลาไม่เกิน 15 วัน เจ้าพนักงานจะลดเบี้ยปรับให้เสียเพียงร้อยละ 2 ของเบี้ยปรับ 2 เท่า (ภาษี 100 บาท เบี้ยปรับปกติ 200 บาท แต่เสียเบี้ยปรับจริงเพียง 4 บาท) หรือถ้ายื่นแบบ ภ.พ.30 เกิน 15 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน ก็ให้เสียเพียงร้อยละ 5 ฯลฯ เป็นต้น นอกจากนี้ ความผิดกรณีอื่นๆ ก็มีหลักเกณฑ์ผ่อนผันการลดเบี้ยปรับให้อยู่ด้วยแล้วแต่ประเภทความผิดตั้งแต่ให้เสียเบี้ยปรับเพียงร้อยละ 10 จนถึงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับที่ต้องเสียตามกฎหมาย การกระทำความผิดในทางภาษีอากรบางลักษณะ หากไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของรัฐบาลที่จะต้องขาดหายไปเลยแม้แต่น้อย เช่น ยื่นแบบเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยไม่ได้จดทะเบียนให้ถูกต้องโดยเข้าใจว่าได้จดทะเบียนไว้แล้ว หรือกรอกแบบแสดงรายการภาษีผิดพลาด แต่ไม่ได้ทำให้ภาษีที่ต้องเสียเปลี่ยนแปลงไป ฯลฯ เป็นต้น เจ้าพนักงานมีอำนาจให้งดเว้นการเรียกเก็บเบี้ยปรับสำหรับการกระทำความผิดนั้นได้เลย

      ผู้เสียภาษีที่ทราบว่าตนจะต้องเสียเบี้ยปรับกรณีใด หากมีความประสงค์จะใช้สิทธิขอผ่อนผันการเสียเบี้ยปรับ ก็ต้องทำคำขอเป็นหนังสือในสาระสำคัญต้องชี้แจงเหตุผลให้ได้ว่าที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องเกิดจากเหตุผลอย่างไร และในคำขอต้องเขียนให้ชัดเจนว่าขอให้งดหรือขอให้ลดเบี้ยปรับแค่ไหนเพียงใด เพราะเจ้าพนักงานจะไม่พิจารณาให้เกินกว่าคำขอ ส่วนเงินเพิ่มนั้นไม่ต้องของดหรือลดไปด้วย เพราะตามกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานที่จะผ่อนผันให้แก่บุคคลใดๆ ได้เลย ในการขอผ่อนผันการเสียเบี้ยปรับที่อยู่ในชั้นตรวจสอบหรือเชิญพบของเจ้าพนักงาน ผู้เสียภาษีสามารถขอใช้สิทธิทำคำของดหรือลดเบี้ยปรับต่อเจ้าพนักงานโดยตรง ถ้ามีการออกหนังสือแจ้งการประเมินภาษี ถือว่าจบขั้นตอนพิจารณาของเจ้าหน้าที่ไปแล้ว การขอผ่อนผันการเสียเบี้ยปรับจะต้องกระทำต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เท่านั้น


ที่มา : http://www.ymba2-bangna.com 



หน้า 1/1
1
[Go to top]