ReadyPlanet.com
dot
คลังข้อมูลนักบัญชี
dot
bulletมุมบัญชี
bulletสภาวิชาชีพบัญชี
bulletกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
bulletธนาคารแห่งประเทศไทย
dot
ภาษี (Tax)
dot
bulletกรมสรรพากร
bulletสถานที่ตั้ง/เบอร์โทร สรรพากร
bulletประมวลรัษฎากร
bulletหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย
bulletDownload File บัญชี - ภาษี
dot
รวม Link เอนกประสงค์
dot
bulletอัตราแลกเปลี่ยนธนาคารต่างๆ
bulletอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์
bulletธนาคารพาณิชย์ต่างๆ
bulletหน่วยบริการภาษีใน กทม.
bulletตรวจผลสลากกินแบ่งรัฐบาล
bulletพจนานุกรมไทย
bulletDictionary อังกฤษ > ไทย
bulletเบอร์โทรศัพท์ - พกไว้คู่กาย
bulletรวมเบอร์โทรเรียก แท็กซี่
bulletชมคลิปวีดีโอ เมืองไทยในอดีต
dot
ค้นหาบทความในเว็บไซต์

dot
dot
บริการของเรา (Service)
dot


รับทำบัญชี



ยาบ้า article

                                                                                     

   ปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติดในประเทศไทยเรานั้นมีมานานแล้ว และในปัจจุบันยิ่งเป็นข่าวครึกโครมทางสื่อต่าง ๆ เนื่องจากรัฐบาลได้ให้ความสนใจในการปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจัง ยาบ้าเป็นหนึ่งในยาเสพติดที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ในการกำจัดให้หมดสิ้นจากบ้านเรา สำหรับผู้บริโภคที่ไม่เคยให้ความสนใจในเรื่องของยาบ้ามาก่อนเลย หลายคนอาจจะมีคำถามขึ้นมาในใจว่า ยาบ้าคืออะไร ลักษณะเป็นอย่างไร เสพเข้าไปแล้วทำไมถึงติด ยาบ้าเพิ่มพลังจริงหรือ ยาบ้าทำให้ฉลาดจริงหรือ มีการควบคุมทางกฎหมายอย่างไร ฯลฯ ในบทความนี้จะขอเสนอประเด็นดังกล่าวตามลำดับดังนี้


ยาบ้าคืออะไร

ยาบ้านั้นในอดีตเราเรียกกันว่า ยาม้า เพราะมาจากเครื่องหมายการค้าของบริษัท เวลล์คัม (Wellcome) ซึ่งเป็นบริษัทแรกที่ส่งยาชนิดนี้มาขายในประเทศไทย ซึ่งขณะนั้นยังใช้ประโยชน์เป็นยาอยู่ ต่อมากระทรวงสาธารณสุขได้จัดให้ยาม้าเป็นวัตถุเสพติดและได้เปลี่ยนชื่อจากยาม้าเป็น ยาบ้า จะว่าไปแล้วยาบ้านี้ก็คือสารเสพติดชนิดหนึ่งที่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางโดยการออกฤทธิ์ของสารสำคัญ คือ เมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine) ปัจจุบันจัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ทั้งนี้นอกจากเมทแอมเฟตามีนแล้ว ในยาบ้ายังอาจมีสารออกฤทธิ์เป็น อีเฟดรีน (Ephedrine) กาเฟอีน (Caffeine) ผสมปนอยู่ด้วย


ลักษณะของยาบ้าเป็นอย่างไร

ลักษณะโดยทั่วไปของยาบ้าที่พบตั้งแต่ พ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบัน จะเป็นเม็ดเล็กกลมแบน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 มิลลิเมตร หนาประมาณ 2.5 มิลลิเมตร น้ำหนักโดยเฉลี่ย 90 มิลลิกรัม มีสีและสัญลักษณ์บนเม็ดยาแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่เม็ดยาเป็นสีส้ม บางครั้งพบเป็นสีเขียวหรือสีอื่น ๆ เช่น สีน้ำตาล สีม่วง ส่วนสัญลักษณ์ที่พบบนเม็ดยาก็แตกต่างกันไปเช่น “WY” หรือบางครั้งก็เป็น “M”, “99” ซึ่งทั้งสีและสัญลักษณ์ที่กล่าวถึงนี้จะถูกใช้เป็นตัวโฆษณาถึงคุณภาพและราคาของยาบ้า ซึ่งมีข้อมูลที่เชื่อกันว่ายาบ้าชนิดสีเขียวจะมีคุณภาพดีที่สุด และถ้าหากมีสัญลักษณ์ “WY/-” แล้วคุณภาพยิ่งดี นอกจากนี้อาจพบยาบ้าในรูปแบบอื่น ๆ ได้แก่ ผงป่นบรรจุในแคปซูล สารละลายใสบรรจุในหลอดแก้ว และผลึกสีขาวที่เรียกกันว่า ไอซ์ (Ice) โดยเฉพาะผลึกสีขาวนี้ เป็นรูปแบบที่นิยมกันมากในกลุ่มวัยรุ่นในต่างประเทศ


ทำไมผู้เสพถึงติดยาบ้า

การติดยาบ้านั้นมีความคล้ายกับการติดยาเสพติดชนิดอื่น ๆ คือ เริ่มจากการทดลองใช้หรือใช้เพื่อเข้าสังคมเป็นครั้งคราว เมื่อฤทธิ์ของยาเสพติดคือยาบ้านี้เป็นที่พึงพอใจ ผู้เสพจะเห็นประโยชน์ โดยระยะแรกอาจจะใช้เพื่อความสนุกสนาน หรือคลายเครียด ต่อมาขนาดของการใช้ยาบ้ารวมทั้งอัตราการเสพจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากเกิดการดื้อยา จนเข้าสู่ระยะแรก คือ ระยะการติดยาทางจิตใจ (Psychological dependence) ระยะนี้หากผู้เสพมีจิตใจที่เข้มแข็งก็จะเลิกได้ แต่ผู้เสพส่วนใหญ่มักประมาทและคิดว่ายังควบคุมตัวเองได้ ประกอบกับยังไม่เห็นผลเสียของยาบ้าอย่างเด่นชัด จึงยังคงเสพยาต่อไป

เมื่อเสพยาไปเรื่อย ๆ จนเข้าสู่ระยะที่ 2 คือ ระยะการติดยาทางร่างกาย (Physical dependence) จะเป็นช่วงที่ร่างกายขาดยาไม่ได้ โดยเฉพาะผู้พยายามจะหยุดเสพยา จะปรากฏอาการให้เห็นในระยะที่หยุดยาทันที (Crash) หรือที่เรียกกันว่า “ม้าถีบ” โดยผู้หยุดยาจะมีอาการหงุดหงิด เครียด กระวนกระวาย หรือมีอาการซึมเศร้าและจะมีอาการอยากยาหรือเสี้ยนยา (Craving) มากในช่วงนี้ บางรายก็อาละวาด ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะฤทธิ์ของยาบ้า

จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสมองและสารสื่อประสาท (Neurotransmitter) ทำให้ก้านสมอง (Brain Stem) ที่เป็นสมองส่วนที่ทำหน้าควบคุมสัญชาติญาณ (Instinct) มีอิทธิพลเหนือสมองส่วนนอก (Cerebral Cortex) หรือที่เรียกกันว่า สมองส่วนคิด ซึ่งจะทำหน้าที่คิดโดยใช้เหตุผลจินตนาการด้านต่าง ๆ รวมทั้งการตัดสินใจแก้ไขปัญหา เมื่อมีการเสพยาเป็นประจำ จึงเป็นการสร้างพฤติกรรมเงื่อนไขให้เกิดขึ้นกับผู้เสพ ทำให้ผู้เสพรู้สึกเหมือนหนึ่งว่า ยาบ้าเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีพ เมื่อไม่ได้เสพยาจะเกิดความอยากขึ้นอย่างรุนแรง จนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ถึงแม้จะรู้ว่าการเสพยาบ้ามีผลเสียต่อร่างกายอย่างมากมายก็ตาม


ยาบ้าเพิ่มพลังจริงหรือ

การใช้ยาบ้าจำนวนเพียงเล็กน้อย ในระยะแรก จะทำให้ร่างกายเกิดการตื่นตัวตลอดเวลา กระปรี้กระเปร่า ทำงานได้มากกว่าปกติ มีอารมณ์คึกคะนอง ไม่ง่วงนอน หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตเพิ่ม ใจสั่น ผลเหล่านี้ทำให้หลายคนเข้าใจผิดคิดว่า ยาบ้าช่วยเพิ่มพลัง แต่เมื่อหมดฤทธิ์ยา ผู้เสพจะหลับและอ่อนเพลียกว่าปกติ ถ้าใช้ติดต่อกัน จะทำให้ดื้อยา ต้องเพิ่มปริมาณยาขึ้นเพื่อให้ได้ผลใกล้เคียงกับครั้งแรก ซึ่งการใช้ยาในปริมาณที่สูงขึ้น ทำให้เกิดผลต่าง ๆ ต่อร่างกาย เช่น ปากและจมูกแห้ง ริมฝีปากแตก คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ท้องเสีย หรือท้องผูก เหงื่ออก กลิ่นตัวแรง สูบบุหรี่จัดมวนต่อมวน ตื่นเต้นง่าย พูดมาก อยู่ไม่สุข มือสั่น เหงื่อออกมาก นอนไม่หลับ ฉุนเฉียว ชอบทะเลาะวิวาท
นอกจากนี้ยังมีผลทำให้เกิดอาการทางจิตและประสาท เช่น สับสน เพ้อ พูดไม่รู้เรื่อง ได้ยินเสียงแว่ว หรือเห็นภาพหลอน อาการที่เกิดขึ้นคล้ายคนเป็นโรคจิตชนิดหวาดระแวง ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการปรับตัวและความรุนแรงต่าง ๆ ได้ อาทิ มีความคิดผิดปกติคิดว่าคนจะทำร้าย จึงพยายามป้องกันตัวเองด้วยการทำร้ายผู้อื่น หรือหนี/ซุกซ่อนไม่กล้าออกจากบ้าน หรือมีความรู้สึกอยากฆ่าตัวตาย ฯลฯ และเมื่อใช้ยาบ้านาน ๆ จะทำให้ร่างกายทรุดโทรม เกิดโรคติดเชื้อได้ง่าย เสี่ยงต่อโรคตับอักเสบ ไตไม่ทำงาน และโรคปอด หากได้รับยาในขนาดสูงจะมีฤทธิ์กดประสาทและระบบหายใจ ไข้สูง ชัก หมดสติ และมีโอกาสเสียชีวิตจากหลอดเลือดในสมองแตก หรือหัวใจวายได้


ยาบ้าทำให้ฉลาดจริงหรือ

นับเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เป็นจุดขายของยาบ้า โดยเฉพาะสำหรับนักศึกษาที่ต้องการสอบได้คะแนนดี หลายคนเสพยาบ้าเพื่อต้องการที่จะดูหนังสือได้นาน ๆ ทำไมการเสพยาบ้าถึงช่วยให้นักศึกษาดูหนังสือได้นาน ๆ สามารถอธิบายได้ตามหลักวิชาการ คือ ฤทธิ์ของยาบ้าจะไปกระตุ้นประสาทส่วนกลางทำให้ไม่รู้สึกง่วง (ตาแข็งไม่หลับตลอดคืน) ซึ่งนอกจากฤทธิ์ที่ทำให้ไม่ง่วงแล้ว ยาบ้ายังทำให้สมองโลดแล่นและมีความสุข (Euphoria) โดยการกระตุ้นสารสื่อประสาท (Neurotransmitter) บริเวณศูนย์ความสุข จึงไม่ผิดนักที่หลายคนจะบอกว่าการเสพยาบ้าระยะแรกทำให้สมองแจ่มใส และใจเป็นสุข

อย่างไรก็ตาม เมื่อเสพยาบ้านานเข้า สารสื่อประสาทจะลดน้อยลง ทำให้เกิดอาการเซื่องซึม คิดอะไรไม่ออก จำเป็นต้องเสพยาบ้าให้ไปกระตุ้นสารสื่อประสาท และเมื่อปลายประสาทถูกกระตุ้นมาก ๆ จะทำให้บริเวณดังกล่าวถูกทำลาย แขนงประสาท (Axon) จะสั้นลง มีลักษณะผิดปกติ ทำให้การทำงานผิดปกติ เกิดอันตรายต่อสมอง ข้อมูลที่น่าสนใจคือ เคยมีผู้ศึกษาวิจัยถึงความผิดปกติของสมองในกลุ่มที่เสพยาบ้า พบว่า เมื่อเสพยาบ้ามาระยะหนึ่ง บุคคลเหล่านั้นมีความสามารถในการจดจำสิ่งต่าง ๆ ลดลง ความคิดและสมาธิจะแย่ลงโดยไม่รู้สึกตัว ต้องใช้แบบทดสอบทางจิตวิทยาจึงจะวินิจฉัยได้ สิ่งที่น่ากลัวก็คือ ผู้เสพติดจะเริ่มรู้สึกตัวว่าตัวเองมีอาการผิดปกติก็ต่อเมื่อมีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน บางรายรุนแรงถึงขั้นเป็นโรคจิตคลุ้มคลั่ง ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เรียกว่ากว่าจะรู้ตัวก็สายเสียแล้ว

ดังนั้น หากต้องการฉลาดอย่างถาวร จำเป็นต้องเรียนรู้และฝึกฝนประสบการณ์ ส่วนยาบ้านั้น ไม่สามารถทำให้คนเราฉลาดอย่างถาวรได้ ตรงกันข้าม หากเสพไประยะหนึ่งจนเซลล์สมองถูกทำลายมากขึ้น ความคิด ความจำ สมาธิเสียไป จะทำให้กลายเป็นคนโง่อย่างถาวรแทน

กฎหมายที่ควบคุมเป็นอย่างไร

เนื่องจากยาบ้าจัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 1 ผู้ที่ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตลอดจนผู้เสพยาบ้า หรือผู้ยุยงให้ผู้อื่นเสพยาบ้า และผู้ที่ใช้อุบายหลอกล่อ/ใช้กำลังประทุษร้าย/ข่มขืนใจให้ผู้อื่นกระทำความผิดเกี่ยวกับยาบ้า จะต้องได้รับโทษแตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณ และการกระทำผิดที่พบ ทั้งนี้ได้มีการปรับบทลงโทษสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาบ้าให้รุนแรงขึ้น สามารถสรุปได้ดังนี้

การกระทำผิด บทลงโทษ


ผลิต นำเข้า ส่งออกยาบ้า บทลงโทษสูงสุดคือประหารชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่ 4 ปี – ตลอดชีวิต หรือปรับตั้งแต่ 80,000 บาท – 5,000,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายยาบ้า  บทลงโทษสูงสุดคือประหารชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 4 ปี - จำคุกตลอดชีวิต และ/หรือปรับตั้งแต่ 80,000 บาท – 5,000,000 บาท 
เสพยาบ้า  จำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 10,000 บาท – 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นเสพยาบ้า จำคุกตั้งแต่ 1 ปี – 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท – 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
ใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย หรือข่มขืนใจ ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือครอบครองซึ่งยาบ้า โทษเป็น 2 เท่าของโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น 
จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จะเห็นว่าถึงแม้ว่ายาบ้าจะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้เสพอย่างทันทีทันใด แต่การเสพยาบ้านั้นจะส่งผลเสียอย่างมากมายทั้งต่อตนเอง ครอบครัว สังคม และเศรษฐกิจ ดังจะเห็นได้จากการเกิดเหตุโศกนาฏกรรมจากอาชญากรรมและอุบัติเหตุมากมาย เนื่องจากการขาดสติเพราะฤทธิ์ของยาบ้า หรือการที่ยาบ้ามีผลต่อระบบประสาทอย่างถาวร เป็นเหตุให้ผู้ที่เสพยากลายเป็นบุคคลด้อยคุณภาพ/เป็นภาระของสังคม อันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ต้องร่วมมือกันหาทางดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องปรามการใช้ยาบ้า ซึ่งการแก้ไขปัญหายาบ้าอย่างยั่งยืนนั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ เอกชน และประชาชน ที่จะรณรงค์ต่อต้านและร่วมกันแก้ไขปัญหาการระบาดของยาบ้าในชุมชนและในครอบครัวของตนให้หมดไป จะหวังพึ่งแต่รัฐบาลอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ


ปรับปรุงครั้งที่ 1
มกราคม 2548


 
ที่มา : บรรณานุกรม


“พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 .” ราชกิจจานุเบกษาฉบับกฤษฎีกา,
เล่มที่ 119 ตอนที่ 96 ก.ลงวันที่ 30 กันยายน 2545 .
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา . กองควบคุมวัตถุเสพติด . บทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ . (ออนไลน์) 

เข้าถึงได้จาก http:www.fda.moph.go.th/fda-net/html/product/addict/lawtable1.Html.2547.
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา.กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค.เอกสารเผยแพร่ เรื่อง “ยาบ้า.” (โรเนียว), 2546 .